:::

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 6 ธ.ค.2565

  • 06 December, 2022
ที่นี่ไต้หวัน
ดอกผักบุ้งที่ขาวโพลน ดุจหิมะเดือนสิบ(photo:newsmarket)

ผักบุ้งที่บริโภคในไต้หวัน หลักๆ แล้วมี 2 สายพันธุ์ คือ “ผักบุ้งจีนใบไผ่” หรือภาษาจีนเรียกว่า “竹葉種” มีใบเรียวเล็กเหมือนใบไผ่ สีเขียว ไม่มีแขนง ข้อปล้องยาว ลำต้นตรง ถือเป็นสายพันธุ์หลักที่มีการบริโภคกันมาก ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ ผักบุ้งลำต้นอวบใหญ่ ใบใหญ่กว่า มีก้านใบสีเขียวหรือออกสีขาว นิยมปลูกในน้ำในตำบลเจียวซี เมืองอี๋หลาน ซึ่งผักบุ้งลำต้นอวบใหญ่พันธุ์นี้ก็มีการนำไปปลูกในเมืองไทยเช่นกัน  ปลูกในน้ำ บางคนเรียกว่า ผักบุ้งลอยคลอง นำมาประกอบอาหารได้หลายๆ เมนู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใส่ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ

ฝักเมล็ดผักบุ้ง

ผักบุ้งภาษาจีนเรียกว่า “คงซินไช่空心菜 ” หลายคนที่ชอบทานบะหมี่ตามแผงอาหาร หรือในร้านอาหาร มักจะเรียกเมนูผักบุ้งลวกใส่ซอสหรือผักบุ้งผัดไฟแดงสักจาน เพราะเป็นผักใบที่มีความอร่อย ราคาเป็นมิตร ไม่แพงมาก ถ้าเป็นร้านอาหารไทยในไต้หวัน ก็จะมีผักบุ้งไฟแดง หรือผักบุ้งผัดกะปิที่หลายคนชื่นชอบ และผักบุ้งยังเป็นผักที่บริโภคได้ตลอดทั้งปี เพราะปลูกได้ทั้งปีด้วย เฉลี่ยตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวใช้เวลาเพียง 20 วันเท่านั้น ยิ่งช่วงหน้าร้อน ผักบุ้งยิ่งราคาถูก แหล่งปลูกที่สำคัญเกินครึ่งมาจากตำบลซีหลัวเมืองหยุนหลิน รองลงมา คือ เขตปาเต๋อของนครเถาหยวน

เมล็ดพันธุ์ผักบุ้ง

การปลูกผักบุ้งขายในไต้หวัน ตั้งแต่หย่อนเมล็ดลงดินจนกระทั่งเก็บขายจะใช้เวลาประมาณ 20 วันเท่านั้น แต่ว่าถ้าเป็นการปลูกผักบุ้งเพื่อขายเมล็ดพันธุ์จะต้องใช้เวลานานกว่านี้มาก คือใช้เวลาเพาะปลูกจนกระทั่งสามารถนำเมล็ดไปขายต้องใช้เวลานานถึง 8 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งในไต้หวันมีการปลูกผักบุ้งเพื่อขายเมล็ดพันธุ์เอง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่นำเข้าจากต่างประเทศ แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลในตำบลปู้ไต้(布袋) ตำบลผูจื่อ(朴子)ของเมืองเจียอี้

การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนมาก

โจวหมิงสั่ง(鄒明賞) เกษตรกรที่ปลูกเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งขายบอกว่า ที่เมืองเจียอี้เป็นแหล่งปลูกครองสัดส่วน 95% ของประเทศ พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 400 เฮกตาร์ เนื่องจากสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ปลายฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวฝนตกน้อย ขณะเดียวกันได้รับลมทะเลที่พัดขึ้นบกด้วย อย่างไรก็ตาม การปลูกผักบุ้งขายเมล็ดพันธุ์มีความแตกต่างจากผักบุ้งที่ใช้ในการบริโภคมากด้วย ช่วงเก็บเกี่ยว ขุด ตัดต้นผักบุ้ง ช่วงตากแดดพลิกกลับด้าน หรือแม้แต่ช่วงกระเทาะเมล็ดออกจากเปลือก แต่ละขั้นตอนต้องเสียเวลาและต้องใช้แรงงานคน เกษตรกรที่ปลูกต้องทำงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน 10 ตามปฏิทินจีนทำจนกระทั่งก่อนเทศกาลตรุษจีนจึงจะเสร็จงาน คนรุ่นใหม่มักจะไม่มีความอดทนพอ ดังนั้นในปัจจุบันยังคงอาศัยแรงงานผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าอนาคตอาจจะไม่ได้เห็นดอกผักบุ้งที่บานขาวโพลนราวกับหิมะเดือน 10 อีกก็ได้

กระเทาะเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งด้วยเครื่องจักรที่กระเทาะเมล็ดถั่วแดง

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง