:::

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 20 ธ.ค.2565

  • 23 December, 2022
ที่นี่ไต้หวัน
“เห็ดปุยฝ้ายหรือเห็ดหัวลิง” หน้าตาแปลก สีขาว ทรงกลม เป็นเส้นฟูคล้ายแผงขนบนคอของสิงโตหรือปุยฝ้าย(ภาพ:ฟาร์มอิ๋งอิ๋ง)

     ในครั้งนี้ขอนำเรื่องของเห็ดปุยฝ้ายมาเล่าสู่กันฟัง เมื่อได้ยินชื่อเห็ดนี้แล้ว หลายคนคงไม่เคยกินและไม่เคยเห็น เนื่องจากเป็นเห็ดที่หน้าตาแปลก เห็นแล้วต้องหลงใหล หัวเห็ดเป็นรูปทรงกลม มีเส้นฟูคล้ายกับปุยฝ้าย สีขาวสะอาด จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อเห็ดชนิดนี้ แต่คนไทยจะเรียกว่า เห็ดภู่มาลา หรือเห็ดหัวลิง ซึ่งเรียกเห็ดหัวลิงน่าจะใช้ชื่อเรียกตามภาษาจีน เพราะในภาษาจีนเรียกว่า “โหวโถวกู猴頭菇” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Monkey’s Head หรือ Lion’s Mane ที่แปลว่า แผงขนบนคอสิงโต คนญี่ปุ่นเรียกว่า ยามาบูชิตาเกะ( Yamabushitake) แปลว่า ผู้หลับใหลอยู่ในหุบเขา ซึ่งเห็ดปุยฝ้าย จัดเป็นอาหารบำรุงที่มีประโยชน์กับร่างกาย มีโปรตีนสูง มีสรรพคุณทางยาสูงที่มักใช้เป็นสมุนไพร ยับยั้งเซลมะเร็ง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน รักษาแผลในกระเพาะและลำไส้

เห็ดปุยฝ้ายหรือเห็ดหัวลิง

     แต่ที่ผ่านมา ไต้หวันระงับการนำเข้าเห็ดปุยฝ้ายจากจีน 1 เดือน เนื่องจากสุ่มพบสารตกค้างที่ไม่ได้รับอนุญาตใช้ในเห็ดปุยฝ้ายหลายครั้ง แพทย์แผนกโรคไตชี้ว่า การกินเห็ดปุยฝ้ายที่นำเข้าเป็นเวลานานจะส่งผลต่อความปลอดภัยของสุขภาพ ในความเป็นจริง ไต้หวันก็สามารถเพาะเห็ดปุยฝ้ายได้ ปัจจุบันเริ่มมีวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้ว หลี่เหว่ยซง(李瑋崧) ผู้ช่วยวิจัยแผนกโรคพืชของสถาบันวิจัยการเกษตรบอกว่า เห็ดปุยฝ้ายต้องการสิ่งแวดล้อมที่หนาวเย็น อากาศในไต้หวันค่อนข้างร้อนชื้น ไม่ค่อยเหมาะต่อการปลูกนัก หากต้องปลูกในโรงเรือนที่ควบคุมอุณหภูมิ ต้องลงทุนสูง จึงมีเกษตรกรปลูกจำนวนน้อยบนภูเขาสูง หรือว่าปลูกในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ยกตัวอย่าง เห็ดปุยฝ้ายที่ปลูกบนภูเขาสูงของไต้หวัน คือฟาร์มอิ๋งอิ๋ง ตั้งอยู่เขตเฉาหลิ่ง ตำบลกู่เคิง เมืองหยุนหลิน เจ้าของฟาร์มชื่อ อู๋หรูอิ๋ง(吳如瀅) ปลูกบนภูเขาสูง 1,300 เมตร และปลูกมานานเกือบ 8 ปีแล้ว เธอบอกว่า ขอเพียงมีสิ่งแวดล้อมที่ดี การดูแลก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าขณะปลูกเจออุณหภูมิที่สูงขึ้น อย่างในปีนี้ต้นฤดูหนาวอบอุ่น เห็ดจะโตไม่เป็นระเบียบ จากเดิมกลมฟูๆ บริเวณโดยรอบก็จะมีเห็ดเล็กๆ ผุดขึ้นมา

อู๋หรูอิ๋ง ปลูกเห็ดปุยฝ้ายออร์แกนิคบนภูเขาสูง 1,300 เมตร

     หลินหันอวี๋(林涵榆) ผู้ประกอบการเห็ดรุ่นที่ 3 บอกว่า ฟาร์มเกษตรตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ จึงปลูกเฉพาะฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว วัสดุที่นำมาเพาะเห็ดคือขี้เลื่อย แต่ได้คำนึงถึงเชื้อราที่มีความแรง เพราะฉะนั้นขั้นตอนและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพ็คห่อเห็ดปุยฝ้ายจะแยกจากการแพ็คเห็ดชนิดอื่นเพื่อไม่ให้เชื้อเห็ดเกิดมลภาวะ ซึ่งทั้งคุณอู๋หรูอิ๋งและคุณหลินหันอวี๋ที่ปลูกเห็ดปุยฝ้ายล้วนปลูกแบบออร์แกนิค การปลูกต้องใส่ใจเรื่องการรดน้ำ เพราะปริมาณน้ำส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกของเห็ด ต้องการน้ำพอเหมาะ น้ำมากเกินไปไม่ได้ ท่อพ่นน้ำจะต้องมีขนาดเล็กมาก การรดน้ำต้องกระจายน้ำอย่างสม่ำเสมอ ช้าๆ สายน้ำจะต้องไม่หยุดอยู่กับที่ หากเห็ดได้รับน้ำมากเกินไปจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นเหลืองและช้ำน้ำได้

เห็ดปุยฝ้ายแห้งจากจีน(ภาพซ้าย) ไต้หวัน(ภาพขวา)

     มีคำถามว่า เห็ดปุยฝ้ายสดที่ปลูกในไต้หวันหาซื้อง่ายหรือไม่ ผู้ปลูกเห็ดทั้ง 2 ท่านคือ คุณอู๋หรูอิ๋งและหลินหันอวี๋บอกว่า เนื่องจากเห็ดปุยฝ้ายแห้งจากจีนมีราคาถูก ส่วนเห็ดปุยฝ้ายที่ปลูกในไต้หวันหากนำมาอบแห้งจะมีปริมาณน้อยไม่สามารถเทียบกับการนำเข้าได้ ในไต้หวันขายรูปแบบสดจะดีกว่า หากเปรียบเทียบเห็ดที่ผ่านการอบแห้งระหว่างเห็ดปุยฝ้ายกับเห็ดหอม เห็ดหอมสดน้ำหนัก 8-10 ชั่ง(5-6 กก.) อบแห้งแล้วได้ 600 กรัม แต่ถ้าเป็นเห็ดปุยฝ้ายสดต้องใช้ 10-12 ชั่ง( 6-7 กก.) จึงจะได้เห็ดแห้งน้ำหนัก 600 กรัม นอกจากนี้ เห็ดปุยฝ้ายสดที่ปลูกในไต้หวันน้ำหนัก 600 กรัม ขายได้ราคา 300 เหรียญไต้หวัน ดังนั้นถ้าอบแห้งให้ได้น้ำหนัก 600 กรัม ต้องซื้อในราคาอย่างน้อย 3,000 เหรียญไต้หวันขึ้นไป ถือว่าแพงกว่ามาก ส่วนเห็ดปุยฝ้ายแห้งที่นำเข้าจากจีนแค่ 250 เหรียญไต้หวันต่อน้ำหนัก 600 กรัม ถือว่าถูกมาก อย่างไรก็ตาม เห็ดปุยฝ้ายที่ปลูกในไต้หวันปลอดภัย รับประทานได้อย่างไว้วางใจ ไม่มีรสขม ปรุงอาหารง่าย นำมาฉีกเป็นเส้นๆ สำหรับทอดไข่ หรือต้มซุป หรือว่าหั่นเป็นชิ้นโตสำหรับเจี๋ยน จะมีความอร่อยมาก

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง