ในครั้งนี้ขอนำเรื่องของพืชสมุนไพรจีนชนิดหนึ่งที่ปลูกในไต้หวันโดยเกษตรกรรุ่นใหม่นั่นก็คือ “ตานเซิน丹參” เล่าสู่กันฟัง ค่ะ ตานเซินก็เป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกกันหลายอย่างในภาษาจีนกลาง บ้างก็เรียกว่า ชื่อเซิน-赤參,ซานเซิน山參,หงเกิน紅根 ฯลฯ ตานเซินเป็นพืชที่ใช้รากเป็นยาในตำรายาจีน รากเปลือกนอกสีน้ำตาล หรือสีแดงเข้มราวกับปะการัง หยาบเป็นรอยย่น สรรพคุณช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด รักษาอาการนอนไม่หลับ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีสรรพคุณรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติที่ดีมาก จนได้รับฉายาว่า “ยาตัวเดียว สรรพคุณเหมือนยา 4 ตัว ในตำรับยา ซื่ออู้ทัง (四物湯) ที่ประกอบด้วย ตังกุย (當歸), สูตี้ (熟地), ไป๋สาว (白芍), ชวนทรวง (川芎)
รากตานเซินสด เปลือกนอกแดงเข้มราวกับปะการังแดง
ฤดูกาลของตานเซินในไต้หวันคือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน ปัจจุบัน ในไต้หวันมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ปลูกตานเซินได้รับฉายา “เจ๊ตานเซิน丹參姐姐” แต่ชื่อจริงของเธอคือ “เยี่ยจื่อหยุน葉芷妘” สาเหตุที่เธอหันมาปลูกตานเซินเพราะตอนที่ทำงานอยู่ที่สวนวิทยาศาสตร์ซินจู๋ โชคดีที่ได้รู้จักสรรพคุณของตานเซิน หลังลองกิน สภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จงลี่ นครเถาหยวน ปลูกตานเซินออร์แกนิค และสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองชื่อ “草本誠食Honest Herbal” โดยในปี 2017 ได้เข้าร่วมโครงการด้านการเกษตรที่เถาหยวน เรียนรู้เรื่องการเกษตรอย่างจริงจัง ปี 2021 สามีของเธอคือคุณจางเจี๋ยเวย(張絜威) ตัดสินใจลาออกจากบริษัทเทคโนโลยีแล้วเข้าร่วมโครงการเรียนรู้การเกษตรด้วยกัน
จางเจี๋ยเวย ลาออกจากบริษัทเทคโนโลยี ปลูกตันเซินเอง
มีคำถามว่า ตานเซินที่ปลูกในไต้หวันขายได้ดีหรือไม่? ราคาสูง สามารถแข่งขันกับการนำเข้าหรือไม่? ยกตัวอย่าง สถิติการนำเข้าปี 2021 มีทั้งหมด 140.7 ตัน โดยทั้งหมดมาจากจีน เพื่อคำนึงถึงยาฆ่าแมลงที่ตกค้างและมีการเติมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ป้องกันการเน่าเสียที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสมุนไพรที่นำเข้าจากจีน ตั้งแต่ปี 2005 สถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตฮัวเหลียนเริ่มทดลองเพาะปลูกตานเซิน และแนะนำเกษตรกรปลูก ดังนั้นเมืองฮัวเหลียนจึงเป็นแหล่งผลิตตานเซินที่สำคัญของไต้หวัน จางโถงอู๋(張同吳) เจ้าหน้าที่วิจัยสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชบอกว่า ตานเซินที่ปลูกในไต้หวันมีคุณภาพดี สด ขายในราคาเริ่มต้น 500 เหรียญไต้หวัน/น้ำหนัก 1 กิโลกรัม เทียบกับตานเซินแห้งที่นำเข้ากก.ละ 100-200 เหรียญไต้หวัน ถือว่าสูงกว่ามาก แต่ถ้าเปรียบเทียบสรรพคุณทั้งสองแล้ว ตานเซินที่ปลูกในเมืองฮัวเหลียนจะมี Salvianolic acid B ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า 2.5 เท่า ส่วนสารยับยั้งการอักเสบ Tanshinone IIA มีมากกว่า 16 เท่า อีกทั้งผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าขนส่งนำเข้า ลดต้นทุนการเก็บรักษา โดยแข่งขันกับตานเซินที่นำเข้าได้
ผลิตภัณฑ์ตานเซิน แบรนด์ 草本誠食-Honest Herbal
ตานเซิน เหมาะต่อการปลูกในพื้นที่มีแสงแดดเพียงพอ พื้นดินที่ชุ่มชื้น ทั่วไต้หวันล้วนปลูกได้ แต่มีขีดจำกัดในเรื่องของกฎหมาย ผู้ประกอบการที่ขายหรือนำเข้าต้องมีใบอนุญาตขายยาจีน เกษตรกรทั่วไปที่ปลูกตานเซินขายได้เฉพาะผลผลิตสดหรือสินค้าแปรรูปแล้ว การพัฒนาธุรกิจมีขีดจำกัด ส่วนใหญ่ขายให้กับร้านอาหาร บริษัทเทคโนโลยี หรือลูกค้าที่บ้าน นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์หาซื้อยาก คุณจางเจี๋ยเวยและภรรยาตัดสินใจปลูกเองและเก็บต้นที่แข็งแรงเอาไว้ทำพันธุ์ในรุ่นต่อไป ซึ่งสินค้าแปรรูปที่บริษัทขายได้แก่ ซุปไก่สกัดใส่ตานเซิน โดยซุปนี้ยังนำไปตุ๋นกับไข่ ต้มกับข้าวต้ม หรือทำเป็นหัวเชื้อซุปได้ นอกจากนี้ ยังร่วมกับบริษัทฝูโซ่ว(福壽實業) ผลิตซุปไก่สกัดใส่ตานเซินออร์แกนิค อีกทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เหมาะสำหรับคนที่นอนไม่หลับ หรือผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการดื่มคาเฟอีน นอกจากนี้ ยังเชิญชวนเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในทีม ร่วมกันปลูกตานเซิน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย