:::

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 28 ก.พ.2566

  • 28 February, 2023
ที่นี่ไต้หวัน
นับเป็นครั้งแรกที่ FRI ประสบความสำเร็จผสมเทียมปลาจวด(photo: FRI)

     ปลาจวด เป็นปลาทะเลที่สร้างรายได้สูงชนิดหนึ่ง มีหลากหลายสายพันธุ์ มีราคาแพง อร่อย ปรุงอาหารได้หลากเมนู ไม่ว่าทอด เจี๋ยน ปิ้ง ย่าง หรือทำซาซิมิ เคยขายได้ราคาสูงสุดกิโลกรัมละ 1,000 เหรียญไต้หวัน ล่าสุด สถาบันวิจัยสัตว์น้ำ(Fisheries Research Institute: FRI) ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาจวด 30,000-40,000 ตัว เฉินจวินหรู(陳君如) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสัตว์น้ำบอกว่า รอให้ลูกปลาจวดจากการผสมเทียมเติบโตเป็นวัยเจริญพันธุ์ สืบพันธุ์รุ่นต่อไป ก็จะประสบความสำเร็จในไซเคิลการผสมเทียม คาดว่าช้าสุดในปี 2024 จะบรรลุเป้าการเพาะเลี้ยงอย่างสมบูรณ์

ปลาจวดไต้หวัน เป็นปลาราคาแพง

     สถาบันวิจัยสัตว์น้ำบอกว่า เดือนเมษายนปี 2022 มีการร่วมมือกับชาวประมง จับปลาจวดในทะเลที่น้ำลึก 100-200 เมตรของเกาะเผิงหู จากนั้นนำไปเลี้ยงที่ศูนย์วิจัยปลาเผิงหูและตงกั่ง ทดลองผสมพันธุ์และฟักไข่ ได้ตัวอ่อน 30,000-40,000 ตัว สถาบันวิจัยสัตว์น้ำยังบอกด้วยว่า เป็นรายแรกของโลกที่มีการบันทึกเกี่ยวกับความสำเร็จในการผสมเทียมปลาจวด เนื่องจากปลาจวดเป็นปลาทะเลนิยมบริโภคในไต้หวัน ปี 1970-1990 ทั่วไต้หวันจับปลาทะเลได้ประมาณ 3,000-4,000 ตัน แต่หลังปี 2000 แล้ว จับได้ไม่ถึง 500 ตัน ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก ซึ่งวัตถุประสงค์การผสมเทียมเพื่อปล่อยปลากลับสู่ท้องทะเลด้วย

     แม้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการผสมเทียมปลาจวดได้ 30,000 กว่าตัว แต่พื้นที่ของสถาบันวิจัยมีขีดจำกัด จึงเหลือไว้แค่ไม่กี่ร้อยตัว โดยนำไปเลี้ยงต่อที่เผิงหู ตงกั่ง และศูนย์วิจัยสัตว์น้ำภาคกลาง แต่ที่ศูนย์วิจัยภาคกลาง บ่อเลี้ยงปลาเกิดการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรุนแรง ตัวอ่อนปลาจวด 30 กว่าตัวตายหมดเกลี้ยง เนื่องจากลูกปลาจวดอ่อนไหวต่อการสั่นสะเทือน แต่โชคดีที่ศูนย์วิจัยเผิงหูและตงกั่งยังรอดชีวิต คาดว่าลูกปลาล็อตนี้อีก 1-2 ปีจะโตเป็นปลาที่สืบพันธุ์ได้

ไต้หวันพยายามผสมเทียมปลาโนโดกุโระด้วย

     การจับปลาในทะเลเพื่อนำมาผสมเทียม ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกราย ที่ผ่านมา เคยนำปลากะพงสีชมพูหรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ปลาโนโดกุโระ ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูง เพาะเลี้ยงจนเพาะได้ปลาตัวอ่อน แต่ปลาตัวอ่อนไม่กินอาหาร จนตายหมด ต่อมา เดือน พ.ย.-ธ.ค. ปี 2022 ได้จับปลากะพงสีชมพูในน้ำลึก 200 - 400 เมตรในทะเลภาคกลาง ทดลองเพาะลูกปลา  2 ล็อตอีก และให้อาหารตามขนาดเล็กใหญ่ของลูกปลา แต่ทั้ง 2 ล็อตหลังกลายเป็นตัวอ่อน 1 ถึง 2 สัปดาห์ล้วนตายหมด ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น ปลาอีโต้มอญ ปูอาซาฮิ ก็เคยนำมาผสมเทียมแต่ก็ประสบความล้มเหลว

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง