close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 7 ม.ค.2568

  • 07 January, 2025
ที่นี่ไต้หวัน
ปลาไหลสายพันธุ์ญี่ปุ่นรสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

   ไต้หวันเคยได้รับสมญานามว่าเป็น "อาณาจักรปลาไหล" โดยการเพาะเลี้ยงปลาไหลส่วนใหญ่มุ่งเน้นส่งออกไปยังญี่ปุ่น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ไต้หวันครองส่วนแบ่งตลาดญี่ปุ่นมากกว่า 50% หรือกล่าวได้ว่าปลาไหลทุกสองตัวที่ขายในญี่ปุ่นจะมีหนึ่งตัวมาจากไต้หวัน อย่างไรก็ตาม เมื่ออุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลาไหลในจีนเริ่มเติบโต ไต้หวันต้องเผชิญกับความท้าทายด้านส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่น ทางด้านกรมประมงไต้หวันชี้ว่า ไต้หวันไม่ควรแข่งขันด้านราคา แต่ควรใช้จุดแข็งจาก "ลูกปลาไหลรุ่นแรก" เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงแบบใช้สิ่งอำนวยความสะดวก (ระบบปิด) เพื่อสร้างเสถียรภาพในการผลิต พัฒนาความก้าวหน้าทางเทคนิค และใช้ปลาไหลคุณภาพสูงฟื้นคืนตลาดทั้งในและต่างประเทศ
   เมื่อราว 20-30 ปีก่อน ปลาไหลที่ไต้หวันเพาะเลี้ยงมีคุณภาพดีกว่าของญี่ปุ่นเสียอีก โดยเฉพาะปลาไหลสดซึ่งรสชาติอร่อยกว่า เย่ซิ่นหมิง(葉信明) ประธานมูลนิธิปลาไหลแห่งไต้หวันและยังเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการประมงไต้หวัน(Fisheries Research Institute) กล่าวว่า อดีตความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมปลาไหลไต้หวันสะท้อนถึงศักยภาพของชาวประมงในยุคนั้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตและการส่งออกปลาไหลของไต้หวันแตะจุดสูงสุดในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และเริ่มลดลงเมื่อปลาไหลจากจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น
   ในทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมปลาไหลที่จีน ต่อมานักธุรกิจไต้หวันบางรายก็เริ่มย้ายการลงทุนไปยังจีน เย่ซิ่นหมิงชี้ว่าเดิมทีจีนแข่งขันด้วยราคาต่ำ แต่ด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้ปลาไหลจีนมีราคาขายที่สูงกว่าไต้หวัน ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมสหกรณ์การประมงเพาะเลี้ยงปลาไหลแห่งญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดปลาไหลในญี่ปุ่นมาจากจีนถึง 64% ขณะที่ญี่ปุ่นผลิตเอง 33% และไต้หวันเหลือเพียง 2-3%
   นายเย่ซิ่นหมิง ระบุว่า ระบบการเพาะเลี้ยงปลาไหลของจีนเป็นรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ มีการผลิตอย่างเสถียรและปริมาณมาก พร้อมทั้งมีการเพาะเลี้ยงปลาไหลสำหรับการส่งออกโดยเฉพาะ โดยเลือกผลิตภัณฑ์คุณภาพดีเพื่อเจาะตลาดโลก แต่ในทางกลับกัน ฟาร์มปลาไหลของไต้หวันมีขนาดเล็กและกระจัดกระจาย ชาวประมงมักทำธุรกิจแบบรายย่อยโดยขายปลาให้ผู้ค้าส่ง และไม่มีอำนาจต่อรองราคา ทำให้ขาดแรงจูงใจและเงินทุนสำหรับการลงทุนในอุปกรณ์หรือการพัฒนานวัตกรรม ดังนั้น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมปลาไหลในไต้หวันจึงกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน กรมประมงชี้ว่าการใช้จุดเด่นจาก "ลูกปลาไหลรุ่นแรก" และการลงทุนในระบบเพาะเลี้ยงแบบปิด อาจช่วยสร้างเสถียรภาพและยกระดับคุณภาพปลาไหลไต้หวันให้สามารถกลับมาแข่งขันในตลาดได้อีกครั้ง
   ไต้หวันคว้าความได้เปรียบในตลาด แต่ต้องเผชิญกับทรัพยากรที่ลดลงและการแข่งขันจากจีน ทั้งนี้ ลูกปลาไหลญี่ปุ่น (Anguilla japonica หรือที่เรียกว่า ปลาไหลขาว) จะอพยพขึ้นเหนือจากมหาสมุทรบริเวณด้านตะวันตกของร่องลึกมาเรียนาเข้าสู่กระแสน้ำในแต่ละปี ไต้หวันมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ทำให้สามารถเริ่มจับลูกปลาไหลได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงแรกสุดในกลุ่ม 4 ประเทศเอเชียตะวันออก(ได้แก่ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และเพื่อให้มีปลาไหลจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นในช่วง "วันกลางฤดูร้อน" (Midsummer Ox Day-ชาวญี่ปุ่นกล่าวกันว่าถ้าได้ทานปลาไหลในช่วงนี้จะทำให้ร่างกายแข็งแรงทนต่อโรคช่วงหน้าร้อน) ของเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ผู้เพาะเลี้ยงญี่ปุ่นจำเป็นต้องปล่อยลูกปลาไหลลงบ่อภายในปลายเดือนมกราคม จึงมักเสนอราคาสูงเพื่อซื้อลูกปลาไหลจากไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรลูกปลาไหลธรรมชาติที่ลดลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้แม้ไต้หวันมีกฎห้ามส่งออกลูกปลาไหลในช่วงเวลาที่กำหนด แต่ก็ยังมีการลักลอบส่งออกไปญี่ปุ่น ส่งผลให้ปริมาณลูกปลาไหลในบ่อเลี้ยงภายในประเทศลดลงและราคาพุ่งสูงขึ้น
   การเพาะเลี้ยงปลาไหลในไต้หวันส่วนใหญ่เน้นใช้ปลาไหลญี่ปุ่น โดยผลิตเป็นทั้งปลาไหลสดและผลิตภัณฑ์ปลาไหลย่าง (蒲燒鰻) เพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่น สำหรับปลาไหลจากจีน เน้นใช้ ปลาไหลอเมริกา (Anguilla rostrata) ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า วังเจี้ยฝู่(汪介甫) ผู้บริหารมูลนิธิพัฒนาปลาไหลไต้หวันระบุว่า ราคาลูกปลาไหลญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 70 เหรียญไต้หวันต่อตัว ขณะที่ลูกปลาไหลอเมริกามีราคาถูกกว่า มีเพียง 20-30 เหรียญไต้หวันต่อตัว ด้วยต้นทุนที่แตกต่างนี้ ส่งผลให้ตลาดปลาไหลย่างแปรรูปในญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดเปลี่ยนไปใช้ปลาไหลอเมริกาที่เพาะเลี้ยงในจีน ยกตัวอย่าง ปลาไหลญี่ปุ่นที่ผ่านการแปรรูปในไต้หวัน เมื่อวางจำหน่ายในญี่ปุ่นมีราคาขายแทบจะเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเอง โดยปลาไหลที่ผ่านการแปรรูปในญี่ปุ่นมีราคาขายปลีกในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ที่ประมาณ 1,900 ถึง 2,800 เยนต่อชิ้น ขณะที่ "ผลิตภัณฑ์ปลาไหลอเมริกาที่แปรรูปในจีน" มีราคาประมาณ 980 ถึง 1,100 เยนต่อชิ้น ซึ่งครองตลาดราคาถูก และส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายปลาไหลย่างสำเร็จรูปที่ผลิตในจีนและญี่ปุ่นเป็นกลุ่มสินค้าหลัก ซึ่งแม้ว่าตลาดปลาไหลสดในญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นในวัฒนธรรมและรสชาติแบบดั้งเดิมที่เน้นใช้ปลาไหลญี่ปุ่น แต่ตลาดปลาไหลแปรรูปกลับไม่เคร่งครัดเรื่องชนิดปลา จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ปลาไหลย่างจากจีนครองตลาดในกลุ่มราคาถูก

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง