:::

มองปัจจุบัน ย้อนอดีต วันจันทร์ที่ 29 ส.ค.2565

  • 31 August, 2022
มองปัจจุบัน ย้อนอดีต
ชวนเที่ยวชม “เส้นทางรถไฟเซินเอ้า” ถิ่นวัฒนธรรมเหมืองแร่ ทองคำและถ่านหิน

       เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้าเป็นเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามชายทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน เริ่มจากสถานีรุ่ยฟังในเขตนครนิวไทเปที่เป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญ แต่เดิมรุ่ยฟัง เรียกกันว่า กันไจ่ไล่ (柑仔瀨) เนื่องจากตั้งอยู่ระหว่างปากแม่น้ำจีหลงและทางโบราณตั้นหลาน ในอดีตการคมนาคมทางบกไม่สะดวกและไม่มีทางเลือกอื่น ผู้เดินทางระหว่างไทเปและเกอหม่าหลาน (ปัจจุบันคือ อี๋หลาน) จะต้องเดินทางผ่านกันไจ่ไล่

สถานีรถไฟรุ่ยฟัง

       เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้าที่พาดผ่านรุ่ยฟัง ในอดีตเป็นถิ่นเหมืองแร่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะ 3 หมู่บ้านที่เรียกรวมกันว่า “สุ่ยจินจิ่ว (水金九)” ประกอบด้วย สุ่ยหนานโต้ง (水湳洞) จินกัวสือ (金瓜石) และจิ่วเฟิ่น (九份) ซึ่งได้รับฉายาว่า “เมืองภูเขาทองคำ” มีการพัฒนากิจการเหมืองแร่ในรอบ 1 ศตวรรษ หลังปี 1990 ทรัพยากรใต้ดินเริ่มหมดลง ไต้หวันเปิดนำเข้าถ่านหินทำให้การทำเหมืองแร่ต้องสิ้นสุดลง ผู้คนส่วนใหญ่พากันลืมเลือนรุ่ยฟัง ต่อมาภาพยนตร์เรื่อง A City of Sadness และ A Borrowed Life จุดประกายทำให้หมู่บ้านจิ่วเฟิ่นโด่งดังในชั่วพริบตา บรรยากาศเก่าๆ ของหมู่บ้านเหมืองแร่จึงได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ผู้คนเดินขวักไขว่อยู่บนถนนเก่าจิ่วเฟิ่น มองดูทะเลปาโต่วจื่อ (八斗子) โดยที่เรื่องราวในอดีตยังจมเงียบอยู่

หมู่บ้านสุ่ยหนานโต้ง

       เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้าได้เปิดเดินรถอีกครั้งในปี 2014 แต่มีระยะทางเพียง 4.7 กิโลเมตร และจอดเฉพาะรุ่ยฟัง(瑞芳) พิพิธภัณฑ์มหาสมุทร(海科館) ปาโต่วจื่อ (八斗) รวม 3 สถานี แม้ระยะทางสั้นๆ แต่ว่าสถานที่เหล่านี้ถ้าย้อนไปในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน เคยผ่านการขยายเส้นทาง หยุดใช้งาน และรื้อฟื้นการใช้งานตามภาวะเศรษฐกิจของรุ่ยฟัง ซึ่งเป็นเงาสะท้อนความเป็นไปของท้องถิ่น ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ไม่น้อยผูกพันต่อเส้นทางรถไฟสายนี้จนยากที่จะบรรยายเป็นคำพูดได้

สถานีรถไฟปาโต่วจื่อ

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง