อาจารย์ช่างไม้ฝีมือขั้นเทพ “หลิวเซิ่งเหริน”ผู้มุ่งมั่นสืบทอดวิชาช่างไม้ให้กับคนรุ่นหลัง
ในครั้งนี้ ขอนำเรื่องราวของอาจารย์ช่างไม้ หลิวเซิ่งเหริน(劉勝仁) อาจารย์ที่มีฝีมือเยี่ยม เป็นผู้ซ่อมบำรุงโบราณสถาน ศาลเจ้าเก่าแก่ ท่านถือว่างานซ่อมบำรุงโบราณเป็นงานสำคัญของชีวิต ก่อนอื่นเราก็มาฟังดูว่า ท่านเข้าสู่วงการช่างไม้ได้อย่างไร ต้องบอกว่า ท่านอยู่ในตระกูลช่างไม้ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ท่านเกิดในตระกูลช่างไม้ที่ตำบลซินกั่ง เมืองเจียอี้ ในปี 1977 หลังผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว อาจารย์หลิวได้ฝึกงานไม้กับคุณลุง คืออาจารย์หลิวหงหลิน(劉鴻林) ทำให้มีประสบการณ์ในการบูรณะซ่อมแซมศาลเจ้าเทียนโฮ่วกงที่เปิ้นกั่ง ศาลเจ้าไห่ชิงกงที่ซานเถียวหลุน (三條崙海清宮) และยังมีโอกาสได้ทำงานซ่อมแซมอาคารโบราณและอาคารญี่ปุ่นอีกหลายแห่ง จนได้รับเป็นครูช่างไม้คนแรกของไต้หวันที่มีใบอนุญาตทำงานที่เกี่ยวกับงานไม้จากกระทรวงวัฒนธรรม
อาจารย์หลิวเซิ่งเหริน แสดงฝีมือเทคนิคการทำงานไม้
อาจารย์หลิวเซิ่งเหริน ถือเป็นช่างไม้ของตระกูลหลิวรุ่นที่ 4 ที่ตั้งปณิธานจะทำงานเป็นช่างไม้ไปตลอดชีวิต ท่านชอบงานไม้เพราะเห็นว่าเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา มีความอ่อนโยน มองแล้วสบายตา อย่างไรก็ตาม ท่านบอกว่า ตนเองอยากก้าวข้ามอุปสรรคที่สืบทอดกันมาในอดีต ด้วยการจัดตั้งทีมงานฝีมือที่เป็นช่างไม้ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่หวงแหนวิชา ให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเรียนรู้งานฝีมือช่างไม้ได้เรียนรู้และสืบทอดงานศิลปะไม้ ให้มีการอนุรักษ์บ้านทรงเก่าๆ ของไต้หวันต่อไป ให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอดีตว่ามีความลำบากอย่างไร เพราะปัจจุบันชีวิตของผู้คนมีความสะดวกสบาย อยากให้คนรุ่นใหม่รู้จักคุณค่าของชีวิต
อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินบอกว่า ตนเองโชคดีที่ได้เรียนรู้งานช่างไม้ขนาดใหญ่ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ เพราะฉะนั้น ในเรื่องของโครงสร้างของโบราณสถาน การปะติดปะต่อที่เป็นแบบดั้งเดิม ล้วนได้รับการเรียนรู้ อาจารย์ช่างไม้ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าต้องการสืบทอดงานฝีมือให้กับคนรุ่นหลัง แต่จะมีอาจารย์ช่างไม้สักกี่คนที่ยอมสอนความรู้ให้กับลูกศิษย์จนหมดวิชา ส่วนใหญ่แล้วมักจะสืบทอดวิชาทั้งหมดให้กับคนในตระกูลมากกว่า ส่วนคนนอกตระกูลจะสอนให้ไม่หมด จะเก็บความลับบางสิ่งบางอย่างไว้ในตระกูลโดยไม่สืบทอด เพราะถ้าเป็นเช่นนี้ การสืบทอดรุ่นหนึ่งเก็บความรู้ไว้ส่วนหนึ่ง ผ่านไปอีกรุ่นหนึ่ง อาจารย์ที่สืบทอดวิชาก็เก็บความรู้ไว้ส่วนหนึ่งอีก เมื่อสืบทอดจนถึงรุ่นสุดท้าย ช่างฝีมือที่เก่งๆ ก็สูญหายไปหมดแล้ว เพราะว่าเรียนรู้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สำหรับตัวเอง รู้อะไรก็มักจะบอกให้ลูกศิษย์ค่อยๆ เรียนรู้จนหมด แต่ต้องดูว่า บางคนมีพรสวรรค์ เรียนรู้เร็ว สอนอะไรก็จำได้ ทำได้หมด แต่บางคนต้องขยัน ค่อยๆ เรียนรู้ สติปัญญามีน้อยกว่า การเรียนรู้จะช้ากว่า เรียนรู้ไปจดบันทึกไป หากจำไม่ได้ ก็หมั่นทบทวน อาศัยความขยันทดแทนการเรียนรู้ช้า เพราะฉะนั้น จึงจัดตั้งทีมงานฝีมือที่เป็นช่างไม้ มีการสอน สืบทอดสู่รุ่นใหม่โดยไม่หวงแหนวิชา
อ.หลิวเซิ่งเหรินสอนลูกศิษย์แบบไม่หวงวิชา
ไช่เจิ้งหง(蔡政宏) หนึ่งในลูกศิษย์ที่เรียนรู้วิชาช่างไม้กับอาจารย์หลิวเซิ่งเหรินบอกว่า อาจารย์หลิวเป็นอาจารย์ที่มีความเข้มงวดมาก ความเข้มงวดก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะหน้างานอันตราย ต้องระมัดระวัง ความเข้มงวดเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่ดี ตัวเองคาดหวังให้เป็นคนมีความรู้ มีฝีมือ อยากเป็นอาจารย์ช่างฝีมือคนต่อไป อาจารย์หลิวบอกว่า ในความเป็นจริงขณะที่ซ่อมบำรุงสถานที่ สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตนเองได้ เพราะว่าสิ่งที่เจอแต่ละเคสอาจจะไม่เหมือนกัน ขณะที่ทำงานอาจพบว่ามีบางสิ่งบางอย่างไม่เหมือนกัน หากยอมที่จะเรียนรู้ก็ต้องจดจำขึ้นมา ที่สำคัญ การทำอาชีพซ่อมสถานโบราณจะต้องเป็นคนที่มีความสนใจ เพราะถ้ามีความสนใจแล้วจะเรียนรู้ได้เร็ว การทำงานเกี่ยวกับโบราณสถานก็เหมือนกับการทำการกุศลอย่างหนึ่ง เมื่อซ่อมแซมเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะมีการสืบทอดทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความงามของงานไม้สืบทอดต่อไป