ธีระ หยาง และเจาะลึกกีฬาโลก ประจำสัปดาห์นี้ (2025-04-10) ฟังรายการคลิกที่นี่
- การแข่งขันเทนนิสชิงแชมป์โลก ประเภททีมหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี รายการ "2025 ไอทีเอฟ เวิลด์ จูเนียร์ เทนนิส" รอบคัดเลือกตัวแทนโซนเอเชีย/โอเชียเนีย ที่เมืองกูชิง รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ทีมนักหวดเยาวชนหญิงของไต้หวันประกอบด้วย เจียงไฉ่หรง, สวีเข่อเจี๋ย และโจวผิ่นเฉิน ทีมไต้หวันซึ่งเป็นทีมวางอันดับ 3 ของรายการสามารถแสดงผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ในสองนัดแรกสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ทั้งหมดโดยชนะฮ่องกง 2-1 และชนะศรีลังกา 3-0 ก่อนมาเจอทีมไทยในนัดสุดท้าย ซึ่งทีมไทย ประกอบด้วย "น้องไอซ์" ปวีณอร นวลศรี, "น้องบีบี" ปัฐน์ธินันต์ เผือกคำ, "น้องมุกดา" พิมพ์พิศา วงษ์วานิชขจร ผลงานหลังจากผ่านไป 2 นัด ทีมไทยทำผลงานชนะ 1 แพ้ 1 ผลการแข่งขันปรากฏว่า ไทยแพ้ไต้หวัน 0-3 คู่ โดยคู่แรก เดี่ยวมือ 2 "มุกดา" พิมพ์พิศา วงษ์วานิชขจร ลงหวดปราชัยให้กับ สวีเข่อเจี๋ย 2-6 และ 3-6 จากนั้นเดี่ยวมือ 1 "ไอซ์" ปวีณอร นวลศรี แพ้ เจียงไฉ่หรง 6-7(ไทเบรค 3-7), 1-6 ขณะที่ประเภทคู่ ปวีณอร คู่กับ "บีบี" ปัฐน์ธินันต์ เผือกคำ แพ้ เจียงไฉ่หรง กับ สวีเข่อเจี๋ย 2-6 และ 2-6 ส่งผลให้ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่ม โดยทีมไต้หวันมีนัดสำคัญในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ที่จะพบกับทีมอันดับ 2 จากกลุ่ม A คือ นิวซีแลนด์ ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโอกาสสำคัญในการคว้าสิทธิ์เข้าสู่รอบสุดท้ายต่อไป
- ในรอบแรกของการแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์เอเชีย ที่จัดขึ้นในเมืองหนิงโป ประเทศจีน คู่หูหนุ่มไต้หวัน หวังฉีหลิน และ ชิวเซียงเฉียน ลงสนามพบกับคู่แข่งจากอินเดีย ปรุทวี คริชนามูรธิ รอย และ เค. ไซ ปราธีค โดยหวังฉีหลิน เคยจับคู่กับ หลี่หยาง ในปี 2023 และคว้าเหรียญทองแดงชายคู่ในรายการเดียวกัน หลังจากนั้นในยุคหลังโอลิมปิกปารีส หวังได้เปลี่ยนคู่หูมาเป็น ชิวเซี่ยงเจี๋ย โดยในปีนี้ ทั้งสองร่วมลงแข่งในรายการชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งรอบแรกเผชิญหน้ากับคู่มือวางอันดับ 48 ของโลกจากอินเดีย การแข่งขันในเกมแรก คู่ หวัง-ชิว ต้องเป็นฝ่ายตามหลังตั้งแต่ต้นเกมที่ 1-4 แต่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว พลิกขึ้นนำ 11-9 และทำคะแนนนำห่างออกไป ทว่าหลังจากนำ 18-12 ทีมอินเดียกลับมาตีเสมอด้วยการทำคะแนน 7-1 อย่างไรก็ตาม คู่หวัง-ชิว สามารถรวบรวมสมาธิและปิดเกมแรกได้ที่ 21-19 ในเกมที่สอง ทั้งสองเริ่มเกมได้อย่างมั่นคง เมื่อคะแนนอยู่ที่ 7-7 พวกเขาสามารถทำคะแนน 6-1 ในช่วงสำคัญและไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งมากนัก ปิดเกมที่ 21-12 พร้อมคว้าชัยชนะอย่างมั่นใจ หลังเกมแรกที่ชนะอย่างเฉียดฉิว หวังฉีหลิน เผยว่ามีช่วงเวลาที่ทำให้เขานึกถึงเหตุการณ์พลิกแพ้ในรายการ All England Open เมื่อต้นปี โดยกล่าวว่า "ตอนนั้นปัญหาอยู่ที่จิตใจ ผมเริ่มตื่นตระหนกและกลายเป็นคนเล่นแบบระมัดระวังเกินไป ผมคิดในใจว่า 'หรือจะซ้ำรอย All England อีกครั้ง?' แต่โชคดีที่เราควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด" โดยในรายการนี้ทีมไต้หวันสามารถส่งคู่แข่งขันประเภทชายคู่เข้าร่วมการแข่งขันได้เต็มจำนวน 4 คู่ และคู่ของ หวัง-ชิว เป็นคู่แรกที่ผ่านเข้าสู่รอบ 16 คู่สุดท้าย เป้าหมายต่อไปของพวกเขาคือการคว้าตั๋วรอบก่อนรองชนะเลิศครั้งแรกของฤดูกาล ซึ่งจะพบกับผู้ชนะระหว่างทีมอันดับ 8 ของโลกจากอินโดนีเซีย ซาบาร์ การ์ยามัน กูตามา และ โมห์ เรซา ปาห์เลวี อิสฟาฮานี หรือทีมเจ้าภาพจีน เฉินป๋อหยาง และ หลิวอี้
- นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนขั้วโลกชาวไต้หวัน เฉินเยี่ยนปั๋ว ได้ทำลายขีดจำกัดของตัวเองอีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา ด้วยการพิชิตเส้นทาง 617 กิโลเมตร ในการแข่งขัน "6633 Arctic Ultra" ซึ่งเป็นการแข่งแบบไม่หยุดพัก โดยใช้เวลา 7 วัน 23 ชั่วโมง 19 นาที กลายเป็นนักกีฬาชาวเอเชียคนแรกที่สามารถทำสำเร็จ ในงานแถลงข่าวที่ไต้หวันในช่วงหลายวันก่อน เขาเปิดเผยถึงการต่อสู้กับความหนาวเย็นต่ำกว่า -30 องศาเซลเซียส และพายุหิมะ แม้ว่าในวันที่ 5 ของการแข่งขันจะมีช่วงเวลาที่คิดจะล้มเลิก แต่ทุกครั้งที่บังคับตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้า ก็พบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด โดยการแข่งขันนี้ตั้งชื่อตามละติจูดของขั้วโลกเหนือ 66.34 องศา และได้จัดขึ้นต่อเนื่องมา 18 ปี แต่มีผู้เข้าเส้นชัยไม่ถึง 30% ในแต่ละปี ที่สำคัญ ไม่เคยมีนักกีฬาชาวเอเชียคนใดพิชิตสำเร็จมาก่อน สำหรับเฉินเยี่ยนปั๋ว เขาเตรียมตัวเป็นเวลานานถึง 4 ปี และฝึกซ้อมหนักผ่านโปรเจค“Black Ultra” ซึ่งเป็นการวิ่งรอบเกาะไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว ในงานแถลงข่าวเฉินฯ เล่าว่า "6633 Arctic Ultra" ถูกขนานนามจากสื่อระดับนานาชาติว่าเป็น "การผจญภัยระดับมหากาพย์" โดยอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ -30 องศาเซลเซียส และในวันที่เขาเข้าเส้นชัย พายุหิมะได้ลดอุณหภูมิลงถึง -37 องศาเซลเซียส พร้อมกับความหนาวที่รู้สึกเหมือน -42 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถเข้าใจได้ถ้าไม่ได้สัมผัสเอง เฉินยอมรับว่าเขาทำได้แค่ "เอาตัวรอดที่เส้นขอบของชีวิต" เฉินฯ ยังเล่าว่า ในการวิ่งวันที่ 4 เขาต้องเผชิญกับ ระยะทางที่ยาวที่สุดของการแข่งขัน 120 กิโลเมตร ในช่วงกลางคืน ส่วนใหญ่ของเส้นทางต้องเดินบนธารน้ำแข็ง ซึ่งไม่มีสิ่งใดรอบตัวให้ยึดเป็นหลัก ทำให้เขารู้สึกเหมือนเวลาได้หยุดนิ่ง แม้กระทั่งแนวคิดเรื่องเวลายังสูญหายไป ช่วงเวลานี้เป็นบททดสอบที่โหดร้ายทางจิตใจอย่างที่สุด "คุณถามว่ามันเจ็บปวดไหม? มันเจ็บปวดมาก คุณถามว่ามันสุขไหม? มันก็มีส่วนที่สุขมากเช่นกัน" เฉินกล่าว "เมื่อผมคิดจะยอมแพ้ในวันที่ 5 ผมบังคับตัวเองให้เดินต่อ และพบว่าเมื่อก้าวไปข้างหน้า ทุกอย่างไม่ได้เลวร้ายอย่างที่จินตนาการ ความกลัวทั้งหมดมันเกิดจากความคิดของเราเอง" ภายใต้สภาวะที่พักผ่อนไม่ถึง 1-3 ชั่วโมงต่อวัน และประสบการณ์หลอนจากภาพและเสียง เฉินO สามารถสร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเองและเอเชียได้สำเร็จ หลังกลับไต้หวัน เขามีแผนที่จะเริ่มโครงการบรรยาย "Run for Dream" ในเดือนพฤษภาคมนี้ "ผมอยากส่งต่อความเชื่อของอาจารย์พานรุ่ยเกิน และจิตวิญญาณแห่งการผจญภัยที่ผมสะสมมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา การผจญภัยไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้วโลกเหนือหรือใต้ แต่หมายถึงการก้าวข้ามความกลัวของคุณเอง เมื่อคุณก้าวข้ามไปแล้ว คุณจะพบว่าตัวเองแข็งแกร่งกว่าที่เคยคิด"