กิ้งก่ายักษ์สีเขียวอาละวาดในรั้วมหาวิทยาลัยจงซิง คลิกฟังที่นี่
กิ้งก่ายักษ์สีเขียวหรือกรีนอีกัวนาส่วนใหญ่จะปรากฏตัวให้เห็นตั้งแต่เมืองจางฮั่วจนถึงภาคใต้ของไต้หวัน แต่ไม่คาดคิดในรั้วมหาวิทยาลัยจงซิงที่ตั้งอยู่ในนครไทจงก็มีกิ้งก่ายักษ์ปรากฏตัวบ่อยครั้ง ประชาชนที่พบเห็นบอกว่า กิ้งก่ายักษ์จะปีนต้นไม้ แทะกิ่งไม้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย นักศึกษาในมหาวิยาลัยบอกว่า ที่นี่น่าจะไม่ใช่ที่อยู่ของกิ้งก่ายักษ์ แต่ในความเป็นจริงมันมาปรากฏตัวระยะหนึ่งแล้ว ทางมหาวิทยาลัยแจ้งกองการเกษตรไปจับหลายครั้งแต่จับไม่ได้ เนื่องจากกิ้งก่ายักษ์เจ้าเล่ห์ เมื่อเห็นคนมันก็จะหลบตัวจนหาไม่เจอ
กิ้งก่ายักษ์สีเขียวมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและใต้ มีผู้ประกอบการไต้หวันนำเข้ามาขายตั้งแต่ปี 1990 เนื่องจากรูปร่างภายนอกคล้ายไดโนเสาร์ ทำให้ผู้คนเริ่มนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงน่ารัก ช่วงแรกมีจำนวนไม่มาก ราคาแพง ต่อมามีการขยายพันธุ์จำนวนมาก ราคาถูก ทำให้ผู้ประกอบการที่เพาะพันธุ์ละทิ้งการเลี้ยงดูเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกิ้งก่ายักษ์สีเขียวทั้งตัวใหญ่และอ้วน ไม่มีศัตรูที่มาทำลายเพราะไต้หวันไม่ใช่ถิ่นกำเนิดเดิม ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมดี
กิ้งก่ายักษ์สีเขียว (กรีนอีกัวนา-綠鬣蜥) มีผู้ทำเป็นกับแกล้ม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความนิยม
ที่บริเวณแม่น้ำเอ้อหลินเมืองจางฮั่ว ถือเป็นถิ่นที่อาศัยของกิ้งก่ายักษ์จำนวนมาก ที่นี่มีแรงงานข้ามชาติหารายได้พิเศษด้วยการจับกิ้งก่ายักษ์ปรุงอาหารขาย ชาวบ้านแซ่หงที่อาศัยอยู่ในตำบลเอ้อหลินบอกว่า คนที่จับกิ้งก่ายักษ์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ใช้ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ออกจับตามริมแม่น้ำ โดยบอกกับชาวบ้านว่าอยากจะส่งกลับไปขายที่ประเทศเวียดนาม แต่การส่งออกมีข้อจำกัด จึงฆ่าชำแหละขายในไต้หวันกิโลกรัมละ 100-150 เหรียญไต้หวัน และพวกเขายังได้นำเนื้อที่เหลือจากการขายทำกับแกล้มกินเองด้วย
กิ้งก่ายักษ์สีเขียว (กรีนอีกัวนา)
ชาวบ้านแซ่หงบอกด้วยว่า มีผู้บอกว่าเนื้อกิ้งก่าคล้ายเนื้อไก่ แต่เขาพยายามปรุงรสให้เข้มข้นก็ไม่อร่อย เคยซื้อมากินครั้งเดียวและจะไม่ซื้ออีก การปรุงที่นิยมมากที่สุดคือ “กิ้งก่าผัดสามถ้วย” เลียนแบบการปรุงไก่สามถ้วย (ซันเปยจี三杯雞) ใช้กระเทียม ขิงหั่นแผ่นแต่ใช้ปริมาณมากกว่าการปรุงไก่สามถ้วยครึ่งเท่า จากนั้นเติมน้ำ,ซีอิ้วและเหล้าขาวตุ๋นจนสุก สุดท้ายใส่ใบโหรพาและพริก เพื่อนๆ หลายคนบอกว่าไม่กล้ากิน ส่วนคนที่กล้ากินก็บอกว่าเนื้อเหนียวเหมือนแม่ไก่แก่
กิ้งก่ายักษ์ผัดสามถ้วย(三杯蜥)
สถิติกองการเกษตรเมืองจางฮั่วระบุ ปี 2021 กำจัดกิ้งก่ายักษ์ไปแล้ว 2,220 ตัว ส่วนในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน กำจัดไปแล้ว 1,024 ตัว เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่า 1.36 เท่า และกิ้งก่าที่กำจัดมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ปีก่อนหน้าส่วนใหญ่มีความยาวลำตัวประมาณ 28 ซม. เป็นขนาดที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ถึงช่วงปลายปีที่แล้ว กิ้งก่าที่กำจัดส่วนใหญ่มีความยาวลำตัวน้อยกว่า 28 ซม.
เซี่ยเมิ่งหลิน(謝孟霖)ประธานสมาคมนกป่าเมืองจางฮั่ว ผู้เชี่ยวชาญในการจับกิ้งก่ายักษ์บอกว่า ช่วงแรกที่เริ่มกำจัดกิ้งก่ายักษ์ จับได้วันละหลายสิบตัวเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ขณะนี้จับได้น้อยและจับได้ยาก มีปริมาณเหลือไม่ถึง 10% แม้รู้ว่ายังไม่สิ้นซาก แต่จะไม่ปรากฏตัว ต้องอาศัยนักล่าสัตว์ชนพื้นเมืองและผู้ที่ผ่านการฝึกฝนจึงจะจับได้ การที่มีผู้จับกิ้งก่ายักษ์เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้พวกมันหลบหนีขยายวงกว้างขึ้น กิ้งก่ามีโลหะหนักตกค้างและพยาธิอยู่มาก หากนำมารับประทานอาจเป็นตรายต่อสุขภาพ วิธีกำจัดที่ดีที่สุดต้องใช้มาตรการ “ 4 ไม่” เมื่อเห็นกิ้งก่ายักษ์ปรากฏตัวควรปฏิบัติดังนี้ คือไม่จับ ไม่ทุบตี ไม่ไล่ ทำเป็นมองไม่เห็น จากนั้นแจ้งกองการเกษตรเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญมากำจัด