:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563

  • 02 October, 2020
ขุนพล แรงงานไทย
แรงงานต่างชาติในไต้หวันลดลงต่ำกว่า 700,000 คนเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

1. ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด การเดินทางมีอุปสรรค ทำยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันร่วงลงต่ำกว่า 700,000 คน ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

       โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่เรียกย่อว่าโควิด-19 เริ่มเกิดการระบาดเมื่อต้นปีนี้ และประเทศต่างๆ เริ่มมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศเริ่มมีอุปสรรค

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศประสบอุปสรรค

       ข้อมูลของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันอยู่ในตัวเลขสูงสุด ได้แก่ 719,487 คน แต่ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ประเทศต่างๆ มีการปิดเมืองปิดประเทศหรือมีมาตรการจำกัดการเข้าออกเมืองเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้การเดินทางมีอุปสรรค แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน ลดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมปีนี้ ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันลดลงเหลือ 699,154 คน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ลดลง 20,333 คน หรือลดลงในอัตราส่วน 2.8%

ณ สิ้นเดือนสิงหาคมปีนี้ ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันลดลงเหลือ 699,154 คน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ลดลง 20,333 คน หรือลดลงในอัตราส่วน 2.8%

       หากจำแนกตามประเภทของแรงงานต่างชาติ ภาคการผลิตลดลง 11,683 คน หรือลดลง 2.6% จากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ 455,934 คน เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเหลือ 444,251 คน ส่วนภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้าน ลดลงจาก 263,553 คน เหลือ 254,903 คน ลดลงในสัดส่วน 3.3%

ผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้าน ลดลงในสัดส่วน 3.3% จาก 263,553 คน เหลือ 254,903 คน

       นายหลินซานกุ้ย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานไต้หวันกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติลดน้อยลง มาจากการเดินทางโยกย้านแรงงานข้ามประเทศลดลง อันเนื่องมาจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 วิธีแก้ปัญหาของกระทรวงแรงงานคือ ขยายระยะเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติภาคการผลิตที่ครบกำหนด 12 ปี และภาคสวัสดิการสังคมที่ครบกำหนด 14 ปี สามารถต่อสัญญาได้ครั้งละ 3 เดือนไปแล้ว 2 ครั้ง และล่าสุดขยายระยะเวลาสำหรับแรงงานต่างชาติที่จะครบสัญญาก่อนวันที่ 17 มีนาคม 2564 สามารถต่อสัญญาได้อีก 6 เดือน ขณะเดียวกันส่งเสริมให้นายจ้างรับโอนย้ายแรงงานต่างชาติที่ยังไม่ครบสัญญา แต่นายจ้างประสบปัญหาลดขนาดหรือปิดกิจการ

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงแรงงานประกาศขยายระยะเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติภาคการผลิตที่ครบกำหนด 12 ปี และภาคสวัสดิการสังคมที่ครบกำหนด 14 ปี ก่อนวันที่ 17 มีนาคม 2564 สามารถต่อสัญญาได้อีก 6 เดือน

       จากข้อมูลของกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันพบว่า นับตั้งแต่ดำเนินนโยบายส่งเสริมให้นายจ้างว่าจ้างแรงงานต่างชาติในไต้หวันต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทางโยกย้ายข้ามประเทศเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ช่วงเวลา 3 เดือนเศษ มีนายจ้างไต้หวันต่อสัญญากับแรงงานต่างชาติคนเดิม หรือรับโอนย้ายแรงงานต่างชาติคนใหม่แล้วกว่า 82,300 คน

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศประสบอุปสรรค

       ด้าน รศ.ซินปิ่งหลง จากบัณฑิตวิทยาลัยการวิจัยและพัฒนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน หรือไถต้า วิเคราะห์ว่า ในอนาคตหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคการผลิต ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอีก ยกเว้นจะมีนักธุรกิจไต้หวันกลับมาลงทุนยังมาตุภูมิต่อ ส่วนแรงงานภาคสวัสดิการสังคมจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการที่มาจากสภาพสังคมของไต้หวันที่มีจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น รศ.ซินปิ่งหลงกล่าวว่า สำหรับนโยบายที่จะเปิดให้งานก่อสร้างภาคเอกชนสามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติได้นั้น อาจนำไปสู่เสียงเรียกร้องจากภาคบริการ ขอเปิดนำเข้าแรงงานต่างชาติตามด้วย ซึ่งภาคบริการเป็นธุรกิจที่สนองความต้องการภายในประเทศ ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศ การเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติในธุรกิจเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของไต้หวัน มีแต่จะเป็นตัวฉุดให้ค่าจ้างแรงงานท้องถิ่นลดต่ำลง

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศประสบอุปสรรค

2. ล้นสถานกักกัน ส่งกลับแรงงานเวียดนามผิดกฎหมาย 289 คน นอกจากต้องล็อคกุญแจมือเป็นคู่ๆ แล้ว ต้องใช้ตำรวจคุมเข้มถึง 500 นาย

         หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เวียดนามมีการปิดประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ไม่สามารถส่งกลับแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายตามปกติได้ สถานกักกันทุกแห่งอยู่ในสภาพเต็ม เพราะแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายที่ถูกตรวจพบ มีแต่เข้าไม่มีการระบายออก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันต้องประสานเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม จัดส่งเที่ยวบินพิเศษของสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ ลำเลียงแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายจำนวน 289 คนเดินทางกลับบ้านเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมานี้

ส่งกลับแรงงานเวียดนามผิดกฎหมาย 289 คน นอกจากต้องล็อคกุญแจมือเป็นคู่ๆ แล้ว ยังต้องใช้ตำรวจคุมเข้มถึง 500 นาย

         แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายเหล่านี้ คัดเลือกผู้ที่อยู่นานสุดจากสถานกักกันทั่วไต้หวัน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประจำเมืองต่างๆ ต้องวุ่นวายแต่เช้า เพื่อขนแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้จากเมืองต่างๆ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน และเนื่องจากแรงงานเวียดนามมีกิตติศัพท์เลื่องลือด้านความเชี่ยวชาญและกล้าหาญในการหลบหนี ปกติการจัดส่งแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายกลับประเทศ นอกจากต้องใส่กุญแจมือแล้ว ยังต้องใช้ตำรวจ 2 คนประกบแรงงานเวียดนาม 1 คน ดังนั้น เมื่อเช้าวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ที่สนามบินเถาหยวนจึงคึกคักมาก นอกจากแรงงานเวียดนาม 289 คนถูกใส่กุญแจมือเป็นคู่ๆ แล้ว ยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบประกบถึง 500 นาย

ส่งกลับแรงงานเวียดนามผิดกฎหมาย 289 คน นอกจากต้องล็อคกุญแจมือเป็นคู่ๆ แล้ว ยังต้องใช้ตำรวจคุมเข้มถึง 500 นาย

            แรงงานเวียดนามเหล่านี้ แต่ละคนต้องสวมใส่ชุดป้องกันโรค แว่นป้องกันโควิด หน้ากากอนามัย ถุงมือยางและปลอกรองเท้าครบชุด แรงงานเวียดนามเหล่านี้ต่างมีสีหน้าเบิกบานและดีใจที่จะได้กลับบ้าน หลังจากอยู่ในสถานกักกันมาเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนขึ้นเครื่อง ยังโบกมืออำลาและขอบคุณตำรวจไต้หวันที่มาส่งถึงสะพานเทียบเครื่องบิน ต่างเชิญชวนตำรวจไต้หวันหาเวลาว่างไปเที่ยวเวียดนามกัน

ได้เวลาขึ้นเครื่องจึงปลดกุญแจมือออก

3. แรงงานเวียดนามหลบหนี 7 ปี กลายเป็นเถ้าแก่รับเหมาย่อยงานก่อสร้าง ขับรถรับส่งลูกจ้างคนบ้านเดียวกันถูกจับ

         นายโด๋ แรงงานเวียดนามผิดกฎหมาย หลบหนีจากนายจ้างไปรับจ้างทำงานตามไซต์งานก่อสร้างอาคารบ้านเป็นเวลา 7 ปี จนพัฒนาตัวเองกลายมาเป็นผู้รับเหมารายย่อย ปกติจะตระเวนหาคนบ้านเดียวกันไปทำงานก่อสร้างกับตนอย่างผิดกฎหมาย และทุกวันจะขับรถตู้รับส่งลูกจ้างคนบ้านเดียวกันไปไซต์งานก่อนสร้าง และเนื่องจากพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วไม่ค่อยติดสำเนียงเวียดนาม ถูกตำรวจจับอ้างเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และโอนสัญชาติเป็นพลเมืองไต้หวันแล้ว แต่ดันบอกเลขบัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 2 ซึ่งเป็นเลขบัตรประชาชนของเพศหญิง ถูกจับพร้อมลูกน้องรวม 7 คน นอกจากถูกจับฐานเป็นแรงงานผิดกฎหมายแล้ว ถูกตั้งข้อหาทำงานอย่างผิดกฎหมาย และขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ด้วย

นายโด๋ แรงงานเวียดนามหลบหนีจากนายจ้างไปเป็นเวลา 7 ปี กลายเป็นเถ้าแก่รับเหมาย่อยงานก่อสร้าง ถูกจับขณะขับรถตู้ลำเลียงลูกจ้างคนบ้านเดียวกันไปทำงานที่ไซต์งาน

         สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำนครไถหนานได้รับแจ้งข้อมูลจากพลเมืองดีว่า มีแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายเป็นผู้รับเหมาย่อยในไซต์งานก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยรายหนึ่ง ขับรถตระเวนหาแรงงานคนบ้านเดียวกันไปทั่ว เพื่อมาเป็นลูกจ้างทำงานก่อสร้างให้กับตน และทุกวันจะขับรถตู้รับ-ส่งลูกจ้างคนบ้านเดียวกัน ตำรวจจึงติดตามตรวจสอบอยู่หลายวัน จนรู้เวลารับส่งและเส้นทางรถที่แน่นอนแล้ว ฉวยโอกาสที่นายโด๋กำลังจะขับรถส่งลูกจ้างคนบ้านเดียวกัน 6 คนไปยังไซต์งาน ตำรวจเรียกให้ลงจากรถ แรกๆ นายโด๋ยืนยันกับตำรวจว่า ตนเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ มีภรรยาเป็นชาวไต้หวัน และได้โอนสัญชาติเป็นพลเมืองไต้หวันเรียบร้อยแล้ว แต่ลืมพกบัตรประชาชนติดตัวมาด้วย ตำรวจถามเลขบัตรประจำตัวประชาชน นายโด๋ท่องทันที โดยขึ้นต้นด้วยเลข 2 หารู้ไม่ว่า เลขบัตรประชาชนไต้หวันเลขตัวแรกหมายถึงเพศ ถ้าเป็นผู้ชายจะขึ้นต้นด้วย 1 หากขึ้นต้นเป็นเลข 2 จะเป็นเพศหญิง ตำรวจรู้ทันทีว่าโกหก จึงจับนายโด๋พร้อมลูกน้องในรถตู้อีก 6 คน กลับไปยังโรงพัก

ในรถตู้มีแรงงานเวียดนามผิดกฎหมาย 6 คน

         หลังสแกนลายนิ้วมือแล้วพบว่า นายโด๋เป็นแรงงานผิดกฎหมายดีๆ นี่เอง หาเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ไม่ นอกจากนี้แรงงานเวียดนามอีก 6 คน ล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย นายโด๋รับสารภาพว่า ตนเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน แต่หลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยรับจ้างทำงานตามไซต์งาน จนรู้จักผู้รับเหมางานก่อสร้าง และมีแฟนเป็นสาวเวียดนามที่มาแต่งงานกับคนไต้หวัน ได้บัตรประชาชนแล้วหย่า เลขบัตรประชาชนดังกล่าวเป็นของแฟน และเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ได้อาศัยชื่อของแฟนตั้งบริษัทรับเหมาย่อยงานก่อสร้างทั่วไป และในยามว่างจะขับรถไปตามที่ต่างๆ เพื่อหาคนบ้านเดียวกันมาทำงานด้วยกัน นายโด๋รับว่า ตนนอกจากเป็นเถ้าแก่ผู้รับเหมาย่อยแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคุมงานก่อสร้างที่ตนรับเหมาและเป็นโชเฟอร์รับส่งลูกจ้างคนบ้านเดียวกันด้วย ตำรวจได้ส่งคนงานเวียดนามทั้ง 7 คนไปยังสถานกักกัน รอการส่งกลับประเทศ โดยนายโด๋โดนค่าปรับฐานทำงานอย่างผิดกฎหมาย 30,000-150,000 เหรียญ นอกจากนี้ ยังถูกปรับอีก 6,000 เหรียญไต้หวัน ฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

นายโด๋พร้อมพวกรวม 6 คน ถูกตำรวจควบคุมตัวไปยังโรงพัก ฐานทำงานอย่างผิดกฏหมาย

4. แรงงานฟิลิปปินส์ขู่นายจ้าง หากไม่จัดเฮลิคอปเตอร์ส่งตนกลับประเทศ จะจุดไฟเผาหอพัก ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 เดือน และคุมประพฤติอีก 1 ปี

         แรงงานที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งเป็นอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคประสาทหลอน ไม่ได้มีเฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น แรงงานชาติอื่นก็มีเช่นกัน อย่างนายแอนเนล แรงงานฟิลิปปินส์ เคยป่วยเป็นโรคจิตเภทหรือโรคประสาทหลอนมาก่อน ต้องทานยาเป็นประจำ อาการดีขึ้น จึงเดินทางมาทำงานที่นครไถหนาน แต่ไม่ได้ทานยาเป็นประจำ ส่งผลให้อาการกำเริบ โดยคุยกับเพื่อนร่วมงานว่า ตนเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์และทรงพลังจิต เอามือจุ่มในน้ำสามารถทำให้น้ำเดือดได้ เพ่งสายตาไปยังวัตถุใด สามารถให้บินหรือเคลื่อนที่ได้ ดังนั้น ตนเป็นผู้วิเศษ จึงต้องได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าแรงงานคนอื่นๆ  ขณะเดียวกัน หากเพื่อนฝูงพูดคุยกัน นายแอนเนลมักจะคิดว่ากำลังด่า หรือวางแผนทำร้ายตน จึงเรียกร้องขอยกเลิกสัญญาเดินทางกลับประเทศ แต่ไม่ยอมเซ็นชื่อลาออกจากงานโดยความสมัครใจตามที่กฎระเบียบ นายแอนเนลร้องว่า ตนเป็นผู้วิเศษ ไม่ต้องเซ็นชื่อลาออกเหมือนแรงงานทั่วไป จึงเกิดการทะเลาะกันขึ้น โดยควักไฟแช็กออกมาจะจุดไฟเผาถังขยะในหอพัก ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้หอพักได้ ผู้คุมหอเกรงจะลุกลามบานปลาย รีบโทรศัพท์แจ้งความ

ในไต้หวันมีแรงงานฟิลิปปินส์ทำงานอยู่จำนวนกว่า 150,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์

         ตำรวจมาถึง นายแอนเนลอ้างว่าหากถูกจับดำเนินคดี จะทำให้ขาดรายได้ จึงขัดขืนไม่ยอมให้จับไปโรงพักโดยดี เกิดการปล้ำกันขึ้น จนตำรวจได้รับบาดเจ็บ 1 นาย อย่างไรก็ดี สุดท้ายถูกตำรวจล็อคตัวกลับไปยังโรงพัก และส่งให้อัยการดำเนินคดี และเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ศาลท้องถิ่นไถหนานได้พิพากษาตัดสินจำคุก 10 เดือน ข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และข่มขู่สร้างความผวาต่อสาธารณะ โดยอนุญาตให้เสียค่าปรับทดการจำคุกได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญ เมื่อพ้นโทษแล้ว ให้คุมประพฤติต่ออีก 1 ปี จากนั้นเนรเทศกลับประเทศ

แรงงานฟิลิปปินส์ชุมนุมกันที่ร้านจำหน่ายสินค้าฟิลิปปินส์ในกรุงไทเป

         ศาลท้องถิ่นไถหนานชี้แจงว่า  แม้กฎหมายอาญามาตรา 19 จะกำหนดว่า ผู้ต้องหาที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทหรือผู้มีอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด หรือไม่สามารถควบคุมการกระทำของตนเองได้ จะได้รับกายกเว้นโทษ ยกเว้นอาการดังกล่าวเกิดจากการกระทำของตนเองหรือเกิดจากความจงใจ กรณีของนายแอนเนล หลังเกิดเหตุ มีการให้แพทย์วินิจฉัยเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าเป็นผู้มีอาการของโรคจิตเภทจริง แต่ก่อนเกิดเหตุไม่ทานยาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้นอนหลับมาเป็นเวลา 3 วัน ประกอบกับขัดขืนการจับกุมโดยอ้างว่า จะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ แสดงว่า ขณะเกิดเหตุยังมีสติสัมปชัญญะ อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาคำนึงถึงจำเลยรายนี้ยอมรับสารภาพโดยดี ประกอบกับครอบครัวมีฐานะยากจน ความผิดฐานขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานและข่มขู่ความปลอดภัยในที่สาธารณะ จึงตัดสินโทษต่ำสุด จำคุกเพียง 10 เดือน และอนุญาตให้เสียค่าปรับแทนการจำคุกได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญ หรือ 300,000 เหรียญ พ้นโทษแล้ว ให้คุมประพฤติต่ออีก 1 ปี จากนั้นเนรเทศกลับประเทศ

แรงงานฟิลิปปินส์จับจ่ายซื้อชองในร้านที่เขตจงลี่ นครเถาหยวน

         มีแรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันหลายคนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคจิตเภท และความดันโลหิตสูง ต้องทานยาเป็นประจำ แต่ละเลยไม่ได้ปฏิบัติตาม ทำให้อาการกำเริบจนถึงขั้นวิกฤต จึงเตือนมาด้วยความหวังดีว่า ต้องปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง กรณีที่ยาหมด ควรจะไปรับการรักษาต่อเนื่องที่สถานพยาบาลในไต้หวัน อย่าปล่อยทิ้งไว้จนทำให้อาการลุกลามบานปลาย

ศาลท้องถิ่นไถหนานตัดสินจำคุก แรงงานฟิลิปปินส์ที่จุดไฟเผาขยะในหอพักและต่อสู้กับตำรวจเป็นเวลา10 เดือน และคุมประพฤติอีก 1 ปี

 

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง