:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563

  • 09 October, 2020
ขุนพล แรงงานไทย
คนงานอินโดฯ ยกพวกตีกันกลางเมืองเถาหยวน ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษตามจับทันควัน 15 คน

1. กระทรวงแรงงานยังไม่อนุญาตเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติมาทำงานก่อสร้างภาคเอกชนตามข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ

          กระทรวงแรงงานได้ประกาศผ่อนปรนคุณสมบัติของงานก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค ซึ่งเดิมจะต้องเป็นโครงการมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญไต้หวันขึ้นไป จึงจะอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้ แต่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 63 ที่ผ่านมา ได้ขยายการนำเข้าด้วยการลดมูลค่าโครงการเหลือ 1,000 ล้านเหรียญไต้หวัน และเดือนสิงหาคมประกาศลดเงื่อนลงอีก เหลือโครงการก่อสร้างของรัฐที่มีมูลค่า 100 ล้านเหรียญขึ้นไป ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี 6 เดือนขึ้นไป สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติได้ เท่ากับเป็นการหวนกลับไปใช้นโยบายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คาดจะช่วยให้ผู้รับเหมางานก่อสร้างของรัฐ นำเข้าแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 2,400 คนนั้น

งานก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านเรือน ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

          กระทรวงเศรษฐการได้เสนอให้งานก่อสร้างภาคเอกชนขนาดใหญ่ อาทิ อาคารพาณิชย์ อาคารบ้านที่มีพื้นที่ก่อสร้างมากกว่า 5,000 ตร.เมตร หรือ 20,000 ผิงขึ้นไป ระยะเวลาก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติได้ เพื่อผ่อนคลายภาวะขาดแคลนแรงงาน และเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ราคาบ้านแพงขึ้น แต่ข้อเสนอข้างต้น ได้รับการคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านแรงงานหรือกลุ่ม NGO อย่างหนัก ผลก็คือที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานและที่ปรึกษาด้านนโยบายกำลังแรงงานข้ามชาติ เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานไม่เห็นด้วยตามข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ

งานก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านเรือน ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

          นายเสวียเจี้ยนจง ผอ. สำนักงานบริหารแรงงานข้ามชาติ กรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันกล่าวว่า ในที่ประชุมมีการถกเถียงกันดุเดือดในประเด็นนี้ มีทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการบางคนเห็นว่า หากจะเปิดให้โครงการก่อสร้างภาคเอกชน สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติได้ ควรจะเป็นไปตามรูปแบบการเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติในภาคเกษตร กล่าวคือจะต้องมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญทำการสำรวจอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงานเสียก่อน ขณะที่มีนักวิชาการบางรายกังขาว่า หากตามสถิติการขาดแคลนแรงงานจัดทำโดยสำนักงานสถิติและบัญชีกลาง ที่จัดทำเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 อัตราการขาดแคลนแรงงานภาคการก่อสร้าง 2.62% ส่วนภาคบริการอยู่ที่ 2.69% หากเปิดให้งานก่อสร้างภาคเอกชนนำเข้าแรงงานต่างชาติได้ ภาคบริการก็อาจเรียกร้องขอเปิดนำเข้าแรงงานต่างชาติเช่นกัน

          ผอ. สำนักงานบริหารแรงงานข้ามชาติกล่าวว่า มีกรรมการบางท่านแสดงความเห็นว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต มีส่วนเกี่ยวพันกับค่าจ้างและเงื่อนไขการจ้างงานด้วย หากค่าจ้างต่ำ เงื่อนไขการทำงานไม่จูงใจ อยากที่จะดึงดูดแรงงานท้องถิ่นเข้าทำงาน แต่รายงานประเมินของกระทรวงเศรษฐการ ไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับค่าจ้างด้วย ประกอบกับความล่าช้าของโครงการก่อสร้างภาคเอกชน มีสาเหตุมาจากหลากหลายประการ จะอ้างแต่ขาดแคลนแรงงานอย่างเดียวไม่ได้

งานก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านเรือน ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

          จากเหตุผลต่างๆ ข้างต้น ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเศรษฐการดำเนินประเมินและสำรวจใหม่ โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและมีเงื่อนไขการทำงานในระดับที่ดึงดูดใจ หากยังหาแรงงานท้องถิ่นเข้าทำงานไม่ได้ จึงเสนอต่อกระทรวงแรงงานอีกครั้ง พูดง่ายๆ ก็คือ กระทรวงแรงงานไม่เห็นด้วยที่จะอนุญาตเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติมาทำงานก่อสร้างภาคเอกชนได้ ตามข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ

          จากสถิติของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 63 ในไต้หวันมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่จำนวน 699,154 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่หรือ 427,565 คน ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต รองลงมาเป็นภาคสวัสดิการสังคมมีจำนวน 254,903 คน ตามมาด้วยการเกษตรและประมง 11,753 คน ส่วนภาคการก่อสร้างมีจำนวน 4,933 คน ในจำนวนนี้ เป็นคนงานไทยมากที่สุด 3,200 คน หรือครองสัดส่วนร้อยละ 65 ตามด้วยเวียดนาม 1,211 คน อินโดนีเซีย 485 คนและฟิลิปปินส์ 37 คน  

กลุ่ม NGO ชุมนุมประท้วงคัดค้านข้อเสนอเปิดให้งานก่อสร้างภาคเอกชนนำเข้าแรงงานต่างชาติหน้าที่ทำการกระทรวงแรงงาน

2. เป็นเหมือนกัน! คนงานอินโดนีเซียเมาตะลุมบอนใจกลางเมืองเถาหยวน ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษเถาหยวนตามจับทันควัน 15 คน

         เมื่อเวลา 22:40 น. คืนวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา สถานีตำรวจนครเถาหยวนได้รับแจ้งว่า มีคนงานต่างชาติยกพวกไล่ตีกันย่านใจกลางเมือง หน้าสถานีรถไฟเถาหยวน จึงได้จัดส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษรุดไปสถานที่เกิดเหตุ สามารถจับกุมแรงงานอินโดนีเซียที่ก่อเหตุได้ 15 คน หลังนำกลับไปสถานีตำรวจทำการสอบปากคำ แรงงานอินโดนีเซียเหล่านี้ให้การว่า เกิดจากแรงงานอินโดนีเซียสองกลุ่ม ดื่มสุราเมามีปากเสียงทะเลาะถึงขั้นชกต่อยกัน อีกฝ่ายสู้ไม่ได้วิ่งหนี ทำให้เกิดการวิ่งไล่ตีกันกลางถนน เพื่อนๆ หลายคนวิ่งตามไปห้าม จึงดูเหมือนแก๊งนอกกฎหมายยกพวกไล่ตีกันกลางเมือง สร้างความตระหนกตกใจแก่ชาวเถาหยวนที่เดินหรือขับรถผ่านไปมา เนื่องจากไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น เห็นแต่คนต่างชาตินับสิบวิ่งไล่กัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และทั้งสองฝ่ายต่างไม่เอาเรื่องซึ่งกันและกัน ตำรวจได้เรียกนายจ้างและบริษัทจัดหางานมารับแรงงานอินโดนีเซียเหล่านี้กลับไปยังโรงงาน โดยมีการคาดโทษไว้ทั้งหมด ด้วยการลงบันทึกข้อมูลทุกคน หากมีการก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันอีก จะถูกลงโทษอย่างหนัก ตำรวจกล่าวเตือนว่า จะไม่ยอมให้ใครก่อความวุ่นวายและทำลายความสงบสุขของชาวบ้าน ผู้ใดฝ่าฝืน จะดำเนินการโดยเด็ดขาด

คนงานอินโดนีเซียเมา ยกพวกตีกันใจกลางเมืองเถาหยวน

         สถานที่เกิดเหตุครั้งนี้ อยู่หน้าสถานีรถไฟเถาหยวนซึ่งเป็นย่านใจกลางเมือง บริเวณนี้ เป็นที่ตั้งของผับที่ให้บริการแรงงานต่างชาติ มักจะเกิดเหตุการณ์ชกต่อยกันเสมอ ในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่แรงงานไทยยังมีจำนวนมาก เป็นถิ่นของแรงงานไทย ต่อมาแรงงานเวียดนามเข้ามาแทนที่ แรงงานไทยเลยถอยไปยังสถานที่ใหม่ที่เขตจงลี่ และตามจำนวนแรงงานอินโดนีเซียในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมากกว่าแรงงานไทยทั้งหมด ทำให้แรงงานอินโดนีเซียเพศชายพบเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะในเถาหยวน ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่หลังสถานีรถไฟเถาหยวน ที่เต็มไปด้วยร้านขายสินค้าและร้านอาหารอินโดนีเซีย ผับย่านใจกลางเมืองดังกล่าว ก็ถูกแรงงานอินโดนีเซียยึดเป็นถิ่นของตนเรียบร้อยแล้ว ขณะที่แรงงานเวียดนาม ถอยกลับมาใช้บริการตามร้านอาหารเวียดนาม

คนงานอินโดนีเซียเมา ยกพวกตีกันใจกลางเมืองเถาหยวน

         การที่แรงงานต่างชาติเมาสุราเดินกันเป็นฝูงๆ หรือยกพวกไล่ตีกันใจกลางเมือง สร้างความผวาแก่ชาวเถาหยวนไม่น้อย ช่วงก่อนหน้านี้ สมาชิกสภานครเถาหยวนตั้งกระทู้ถามกองแรงงานว่า จะจัดการและแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อคดีได้อย่างไร สมาชิกสภานครเถาหยวนกล่าวว่า ในเถาหยวนมีแรงงานต่างชาติหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายปีละประมาณ 3,000 คน นอกจากกระทบโอกาสการทำงานของแรงงานท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นสาเหตุการก่อคดีอาญาในลำดับแรกๆ และช่องโหว่ของการป้องกันโรคด้วย จึงเสนอให้เพิ่มเงินรางวัลนำจับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย และให้หน่วยงานตำรวจปฏิบัติการตรวจจับอย่างเข้มงวด

ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษเถาหยวนตามจับทันควัน 15 คน

         สำนักสถิตินครเถาหยวนกล่าวว่า เมื่อปี 2553 ในนครเถาหยวนมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่จำนวน 67,000 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร่วม 50,000 คน ในจำนวนนี้ ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 43,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 85% ส่วนแรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น กว่า 5,000 คน เพิ่มขึ้น 33% และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษเถาหยวนตามจับทันควัน 15 คน

         ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติในไต้หวันมีจำนวน 699,154 คน เป็นแรงงานอินโดนีเซียมากที่สุด 267,260 คน ครองสัดส่วน 38.2% ตามด้วยเวียดนาม 222,907 คน อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 152,622 คน แรงงานไทยอยู่อันดับสุดท้ายมีจำนวน 56,359 คน

         ส่วนเมืองที่มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่มากที่สุดรองจากนครเถาหยวน ได้แก่นครไทจง มีจำนวน 102,059 คน อันดับ 3 ได้แก่นครนิวไทเป 96,097 คน อันดับ 4 นครเกาสง 60,597 คน และอันดับ 5 นครไถหนาน 59,931 คน

ปัจจุบัน ย่านหน้าและหลังสถานีรถไฟเถาหยวน กลายเป็นถิ่นของแรงงานอินโดนีเซียไปแล้ว

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง