1. กระทรวงแรงงานไต้หวันจัดทำใบอนุญาตทำงานและใบเพิกถอนอนุญาตทำงานฉบับภาษาแม่ นายจ้างต้องส่งให้แรงงานต่างชาติได้รับรู้สิทธิประโยชน์ของตน เริ่มบังคับใช้เมษายนนี้เป็นต้นไป
แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน เมื่อรายงานตัวในสถานประกอบการหรือต่อนายจ้างแล้ว นายจ้างจะต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงานรายบุคคลต่อกระทรวงแรงงานภายในเวลา 15 วันนับแต่แรงงานต่างชาติเดินทางมาถึง และกรณีที่แรงงานต่างชาติทำผิดกฎหมาย ถูกตรวจพบอยู่เลยกำหนดระยะเวลาทำงานหรือยกเลิกสัญญาจ้างก่อนกำหนด กระทรวงแรงงานจะออกใบเพิกถอนอนุญาตทำงาน ซึ่งมีการระบุรายละอียดข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และเหตุผลของการเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาติ แต่ที่ผ่านมา จะออกให้กับนายจ้างและเป็นฉบับภาษาจีนเท่านั้น เพื่อให้แรงงานต่างชาติได้รับรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของตนพร้อมๆ กับนายจ้าง เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ใบอนุญาตและใบเพิกถอนอนุญาตทำงานดังกล่าว จะออกฉบับภาษาแม่เพิ่มเติม โดยนายจ้างต้องมอบให้แรงงานต่างชาติเก็บรักษาไว้
ที่ผ่านมาจะออกใบอนุญาตทำงานฉบับภาษาจีนให้แก่นายจ้างเท่านั้น
กระทรวงแรงงานไต้หวันแถลงเมื่อวันที่ 15 เมษายนนี้ว่า ใบอนุญาตทำงานและใบเพิกถอนอนุญาตทำงานในปัจจุบัน มีการระบุชื่อนายจ้าง สถานที่ทำงาน เวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการว่าจ้าง รวมถึงข้อควรระวังสำหรับนายจ้างและแรงงานต่างชาติ หากเป็นใบเพิกถอนอนุญาตทำงาน จะระบุถึงสาเหตการเพิกถอนใบอนุญาตทำงานด้วย เป็นเอกสารสำคัญที่ส่งผลต่อการตรวจสุขภาพตามกำหนดเวลา การยื่นขอใบถิ่นที่อยู่ การเปลี่ยนนายจ้างและระยะเวลาการทำงานในไต้หวันของแรงงานต่างชาติเป็นต้น
ตั้งแต่เมษายนนี้เป็นต้นไป จะออกใบอนุญาตทำงานฉบับภาษาแม่ให้แรงงานต่างชาติได้รับรู้สิทธิประโยชน์และข้อมูลการทำงานของตน
กระทรวงแรงงานไต้หวันชี้ว่า เพื่อให้แรงงานต่างชาติได้รับทราบข้อมูลสำคัญจากใบอนุญาตทำงาน ซึ่งออกให้เป็นรายบุคคลและใบเพิกถอนอนุญาตทำงาน ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ได้เพิ่มฉบับภาษาไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและภาษาอังกฤษ ตามแต่สัญชาติของแรงงานต่างชาติ ส่งพร้อมกับต้นฉบับที่เป็นภาษาจีนให้แก่นายจ้างและแรงงานต่างชาติ โดยนายจ้างจะต้องนำฉบับจีนและภาษาแม่มอบให้แรงงานต่างชาติถือไว้ เพื่อให้แรงงานต่างชาติได้รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์และข้อมูลที่ระบุในเอกสารสำคัญทั้งสองรายการพร้อมๆ กับนายจ้าง ซึ่งเป็นมาตรการพิทักษ์สิทธิประโยชน์การทำงานของแรงงานต่างชาติอีกก้าวหนึ่ง
กระทรวงแรงงานให้แรงงานต่างชาติรู้ข้อมูลการทำงานและสิทธิประโยชน์ของตนมากที่สุด
กระทรวงแรงงานเตือนว่า เมื่อนายจ้างได้รับใบอนุญาตทำงานรายบุคคล หรือกรณีที่แรงงานต่างชาติทำผิดกฎหมาย จะได้รับใบเพิกถอนอนุญาตทำงาน นายจ้างจะต้องส่งมอบฉบับภาษาจีนและฉบับภาษาแม่ให้แรงงานต่างชาติเก็บรักษาไว้ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหรือไม่มอบใบอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างชาติ มีความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงาน มาตรา 5 วรรค 2 ข้อที่ 2 ห้ามนายจ้างยึดหรือเก็บเอกสารการทำงานของแรงงาน ฝู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับ 60,000-300,000 เหรียญไต้หวัน
2. เถาหยวนมีแรงงานต่างชาติกว่า 110,000 คน แต่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพียง 44 คน เฉลี่ย 1 ต่อ 2,655 ร้องขอกระทรวงแรงงานเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่
นครเถาหยวนเป็นเขตพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่มากที่สุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวน 116,819 คน มากเป็นอันดับหนึ่งของไต้หวัน แต่เจ้าหน้าตรวจสอบด้านแรงงาน ซึ่งต้องไปตรวจเยี่ยมสถานประกอบการว่า นายจ้างปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายหรือจัดที่อยู่ที่พักให้แรงงานต่างชาติได้มาตรฐานหรือไม่ กลับมีเพียง 44 คน เท่ากับแต่ละคนเฉลี่ยต้องรับผิดชอบดูแลแรงงานต่างชาติ 2,655 คน ทำให้ทำงานหนักและดูแลได้ไม่ทั่วถึง สมาชิกสภาเทศบาลนครเถาหยวนเป็นห่วงกังวลว่า ไม่สามารถรองรับภารกิจได้เต็มที่ และเป็นสาเหตุให้อัตราการหลบหนีของแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ ด้านนายอู๋หงกั๋ว ผอ.กองแรงงาน นครเถาหยวนตอบว่า ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว
เถาหยวนมีแรงงานต่างชาติจำนวนมาก แต่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านแรงงานเพียง 44 คน คิดเป็นอัตราส่วนต่อแรงงานต่างชาติ 1 ต่อ 2,655 คน
นายหวงจิ้งผิง สมาชิกสภาเทศบาลนครเถาหยวนกล่าว เถาหยวนมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่มากที่สุดกว่า 110,000 คน แต่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพียง 44 คน และตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 63 จนถึงเดือนมกราคมปี 64 รวมระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา มีภารกิจที่ต้องไปตรวจเยี่ยมแรงงานต่างชาติ 22,862 เรื่อง เฉลี่ยเดือนละ 3,048 เรื่อง เจ้าหน้าที่แต่ละคนรับผิดชอบ 69 เรื่อง นอกจากไปตรวจสอบตามสถานประกอบการแล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านี้ ยังต้องทำรายงาน และจัดการภารกิจด้านบริหารทั่วไป รวมทั้งต้องไปตรวจสอบแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายตามที่มีผู้ชี้เบาะแสด้วย จัดได้ว่ามีภารกิจหนักมาก แนะให้กองแรงงานเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านแรงงาน จะต้องไปเยี่ยมและตรวจดูมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่ภายใน 3 เดือน
หน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกองแรงงาน คือต้องเดินทางไปตรวจสอบสถานประกอบการที่นำเข้าแรงงานต่างชาติรายใหม่ เพื่อตรวจดูว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ รวมถึงการจ่ายค่าจ้าง ความปลอดภัยตลอดจนสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและหอพัก ขณะเดียวกัน ชี้แจงสิทธิประโยชน์ให้แรงงานต่างชาติที่มาใหม่ได้รับทราบ โดยทั่วไป เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกองแรงงานแต่ละคน จะตระเวนเดินทางไปตรวจสอบยังสถานที่ทำงานและสถานประกอบการต่างๆ เดือนละ 10-12 วัน แต่ละเดือนดำเนินการ 60-70 แห่ง ขณะที่ต้องร่วมกับตำรวจต่างด้าว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในการตรวจจับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย และลงโทษนายจ้างที่ว่าจ้างชาวต่างชาติเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในเถาหยวน แต่ละปี ตรวจพบและส่งกลับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย 1,800-2,000 ราย
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านแรงงาน จะต้องไปเยี่ยมและตรวจดูมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่ภายใน 3 เดือน
3. ยอมถอย! อินโดนีเซียลดรายการที่นายจ้างต้องจ่ายแทนผู้อนุบาลจาก 16 รายการเหลือ 4 นายจ้างไต้หวันต้องจ่ายประมาณ 24,000 เหรียญ จากเดิมเป็นแสน
กรณีที่กระทรวงแรงงานอินโดนีเซียประกาศฝ่ายเดียวเมื่อกลางปี 2563 ว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 เป็นต้นมา นายจ้างไต้หวันที่จะนำเข้าแรงงานอินโดนีเซีย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของแรงงานทั้งหมด 16 รายการ ตามนโยบายค่าใช้จ่ายแรงงานอินโดนีเซียไปทำงานต่างประเทศเป็นศูนย์ ต่อมาประกาศว่า นโยบายดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะตำแหน่งผู้อนุบาลและลูกเรือประมง โดยค่าใช้จ่ายการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันของแรงงานอินโดนีเซียทั้ง 16 รายการ ได้แก่ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ค่าธรรมเนียมรับรองเอกสารและสัญญาจ้าง ค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิว ค่าทำและเปลี่ยนหนังสือเดินทาง ค่าธรรมเนียมขอใบรับรองประวัติอาชญากรรม ค่าประกันสังคมของแรงงานอินโดนีเซียที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ค่าตรวจโรคทั้งก่อนและหลังเดินทางไปทำงาน ค่าอาหารที่พักและค่ารถก่อนการเดินทางและค่าฝึกอบรม ฯลฯ ตกประมาณ 70,000-100,000 เหรียญไต้หวัน เป็นเหตุให้นายจ้างไต้หวันไม่พอใจ มีการนัดชุมนุมประท้วงหลายครั้ง
ผู้อนุบาลอินโดนีเซียครองสัดส่วนร่วม 80% ของผู้อนุบาลต่างชาติในไต้หวัน
กระทรวงแรงงานทั้งสองฝ่าย จึงมีการเจรจาผ่านระบบวิดีโดคอนเฟอเรนซ์เกี่ยวกับประเด็นนี้มาแล้วหลายครั้ง และการเจรจาล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ฝ่ายอินโดนีเซียเสนอร่างข้อตกลงความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายข้างต้นฉบับใหม่ โดยแบ่งผู้รับผิดชอบออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ นายจ้าง ตัวแรงงานอินโดนีเซียและรัฐบาลท้องถิ่นของอินโดนีเซีย ฝ่ายแรงงานอินโดนีเซียเองจากนโยบายเดิมที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจโรคและค่าธรรมเนียมทำหนังสือรับรองประวัติอาชญากรรม ส่วนนายจ้างไต้หวันรับผิดชอบค่าตัวเครื่องบินไป-กลับ ประมาณ 11,600 เหรียญไต้หวัน ค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิว สำหรับผู้อนุบาลอยู่ที่ 7,800 เหรียญไต้หวันและค่าธรรมเนียมรับรองเอกสารนำเข้าแรงงานอินโดนีเซียที่สำนักงานตัวแทนของอินโดนีเซียในไทเป ทั้งนี้ เดิมนายจ้างไต้หวันรับผิดชอบค่าตัวเครื่องบินและค่ารับรองเอกสารอยู่ก่อนแล้ว ที่เพิ่มใหม่คือค่าบริการจัดหางาน ซึ่งตำแหน่งผู้อนุบาลนั้น ค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิวไม่แพง ไม่ถึง 10,000 เหรียญ รวมค่าใช้จ่ายที่นายจ้างไต้หวันต้องรับผิดชอบประมาณ 23,700 เหรียญ เท่ากับว่าส่วนที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไม่ถึงหมื่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ นอกเหนือจากนี้ อย่างเช่น ค่าอบรมไม่ต่ำกว่า 100 ชั่วโมงก่อนการเดินทางเป็นต้น รัฐบาลท้องที่ของอินโดนีเซียจะเป็นผู้รับผิดชอบ
กระทรวงแรงงานไต้หวันและอินโดนีเซียประชุมเจรจาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หารือประเด็นค่าใช้จ่ายของแรงงานอินโดนีเซีย
หากทุกอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายจะมีการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันของแรงงานอินโดนีเซีย ซึ่งเลื่อนเวลาใช้บังคับอย่างเป็นทางการออกไปเป็นวันที่ 15 ก.ค. 64 แต่แรงงานอินโดนีเซียจะสามารถเดินทางเข้าไต้หวันใหม่ได้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวันจะประกาศยกเลิกคำสั่งระงับการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันของแรงงานอินโดนีเซียชั่วคราว ซึ่งประกาศมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2563
ผู้อนุบาลอินโดนีเซียครองสัดส่วนร่วม 80% ของผู้อนุบาลต่างชาติในไต้หวัน
4. หล่อเกิน! คนงานเวียดนามผิดกฎหมายสวมบัตร ARC ของคนอื่น แต่ภาพถ่ายในบัตรหล่อกว่าตัวจริง ความแตกคิดจะหนี ตำรวจรู้ไต๋รวบทันควัน
นายฟาน แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายวัย 26 ปี ขี่จักรยานไฟฟ้าแต่ฝ่าฝืนกฎจราจร ถูกตำรวจเรียกให้จอดขอตรวจบัตรถิ่นที่อยู่หรือ ARC นายฟานอ้างว่าไม่ได้พกติดตัว แต่โทรเรียกให้เพื่อนช่วยถ่ายส่งมาทางสื่อโซเชียลได้ ตำรวจเห็นภาพถ่ายในบัตรหล่อมาก ช่างต่างกับตัวจริงมากมายเสียเหลือเกิน เมื่อความแตก แรงงานเวียดนามรายนี้ทิ้งรถจะหลบหนี แต่ถูกตำรวจที่มีประสบการณ์จับกุมแรงงานเวียดนามรวบตัวไว้ได้ทันที นำตัวกลับไปสอบสวนที่โรงพัก พบเป็นแรงงานผิดกฎหมายและยังหนีคดีเมาแล้วขับด้วย
คนงานเวียดนามผิดกฎหมายสวมบัตร ARC ของคนอื่น แต่ภาพถ่ายในบัตรหล่อกว่าตัวจริง ความแตกคิดจะหนี ตำรวจรู้ไต๋รวบทันควัน
เมื่อคืนวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ตำรวจจากสถานีตำรวจต้าหย่า นครไทจง 2 นาย ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ตรวจจับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ฝ่าฝืนกฎจราจรอยู่ที่บริเวณทางจักรยาน Tanya Shen Green Bikeway ที่ต้าหย่า พบแรงงานเวียดนามรายหนึ่ง ขี่รถจักรยานไฟฟ้าฝ่าฝืนกฎจราจรและส่ออาการพิรุธ เรียกให้จอดรถขอดูบัตร ARC แรงงานเวียดนามรายนี้อ้างว่า ตนไม่ได้พกติดตัว แต่โทรเรียกให้เพื่อนช่วยถ่ายแล้วส่งผ่านมาทางสื่อโซเชียลได้ เมื่อตำรวจเห็นบัตร ARC ที่ส่งมา พบภาพถ่ายหล่อกว่าตัวจริงจนไม่ใช่คนเดียวกัน เมื่อแรงงานเวียดนามเห็นความแตก ก็อ้อนวอนตำรวจขอให้ผ่อนหนักเป็นเบา และทำทีให้ความร่วมมือ แต่พอเผลอเท่านั้นแหละ แรงงานเวียดนามรายนี้ทิ่งรถวิ่งหนีทันที ตำรวจซึ่งมีประสบการณ์ในการตรวจจับแรงงานเวียดนามมาแล้ว รู้ว่าอาจมีการหลบหนี จึงเตรียมตัวแต่แรก คว้าแขนแรงงานเวียดนามรายนี้และรวบตัวไว้แน่นหนาได้ทันที จนแรงงานเวียดนามดิ้นไม่หลุดและร้องว่า ผมยอมแล้ว จะไม่หนีอีก
คนงานเวียดนามผิดกฎหมายสวมบัตร ARC ของคนอื่น แต่ภาพถ่ายในบัตรหล่อกว่าตัวจริง ความแตกคิดจะหนี ตำรวจรู้ไต๋รวบทันควัน คนจูงสุนัขเดินผ่าน ยืนดูเหตุการณ์อยู่อีกฟากของถนน
ตำรวจนำตัวแรงงานเวียดนามรายนี้กลับโรงพัก ตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ พบว่าเป็นแรงงานเวียดนาม ชื่อนายฟาน อายุ 26 ปี และหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2563 ระหว่างที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ยังเคยถูกจับเมาแล้วขับแต่ฉวยโอกาสหลบหนีคดี คราวนี้ถูกจับ เจอข้อหาปลอมแปลงเอกสาร ฝ่าฝืนกฎจราจรและยังมีคดีเก่า หนีคดีเมาแล้วขับอีกกระทงหนึ่ง ขณะบันทึกปากคำ นายฟานรับสารภาพว่า เหตุที่หลบหนี เพราะตนเคยหนีคดีมาก่อน กลัวจะถูกจับจำคุก หลังบันทึกปากคำ ตำรวจควบคุมตัวนายฟานส่งสำนักงานอัยการไทจง เพื่อดำเนินคดีต่อไป