1. ของขวัญวันแรงงาน สภาฯ ไต้หวันผ่านกฎหมายประกันและคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงาน แรงงานในไต้หวันทุกคน รวมผู้อนุบาลต่างชาติในครัวเรือน 2.3 แสนคนได้รับการคุ้มครองมากกว่าเดิม
กฎหมายที่ครอบคลุมการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน การชดเชยเยียวยา และการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้แรงงานที่ประอุบัติเหตุจากการทำงานไว้ในฉบับเดียวกัน หลังผ่านการผลักดันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ในที่สุดผ่านสภานิติบัญญัติแล้วเมื่อวันที่ 23 เม.ย. นี้ ถือเป็นของขวัญที่มอบแด่ผู้ใช้แรงงานก่อนวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. จะมาถึง และกฎหมายฉบับนี้ ได้ครอบคลุมธุรกิจขนาดเล็กที่จ้างแรงงานต่ำกว่า 4 คน รวมถึงผู้ใช้แรงงานในครัวเรือน เช่นผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้านต่างชาติด้วย บังคับให้นายจ้างจะต้องเอาประกันให้แก่ลูกจ้างของตนทุกคน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน
กฎหมายประกันและคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงาน คุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกคนมากกว่าเดิม
เดิมมีกฎหมายประกันอุบัติเหตุจากการทำงานอยู่แล้ว แทรกอยู่ในกฎหมายประกันภัยแรงงาน โดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบเบี้ยประกันทั้งหมดคือ 0.17% ของวงเงินที่เอาประกัน แต่ไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้งไม่ครอบคลุมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่จ้างแรงงานต่ำกว่า 4 คนและผู้ใช้แรงงานในครัวเรือน อย่างผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้านต่างชาติ ดังนั้น สหพันธ์แรงงานและหน่วยงานที่ห่วงใยสิทธิประโยชน์ของแรงงาน จึงเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการบัญญัติกฎหมายประกันและคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงานโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน หากโชคร้ายเกิดอุบัติเหตุแล้ว จะได้รับเงินชดเชยหรือเงินทดแทนมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายสำหรับแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุและทุพพลภาพ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงธุรกิจขนาดเล็กที่จ้างแรงงานต่ำกว่า 4 คน ซึ่งกฎหมายมาตรฐานแรงงานไม่ได้บังคับให้เข้าประกัน ต่อนี้ไปนายจ้างจะต้องเข้าประกันนี้ให้แก่ลูกจ้างของตนทุกคน รวมถึงนายจ้างของผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้านในครัวเรือนด้วย ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายเบี้ยประกันทั้งหมด 41 เหรียญต่อคนต่อเดือน โดยแรงงานไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันใดๆ ในส่วนนี้
ผู้อนุบาลจำนวน 2.3 แสนคน ก็ได้รับการคุ้มครองด้วย
เนื่องจากกฎหมายมาตรฐานแรงงานไม่ได้บังคับให้ผู้ใช้แรงงานในครัวเรือนต้องเข้าประกันภัยแรงงาน โดยให้เป็นความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้นายจ้างส่วนใหญ่ ไม่จัดให้ผู้อนุบาลของตนเข้าประกันภัยแรงงาน จากข้อมูลของกองทุนประกันภัยแรงงานไต้หวัน ณ สิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ในไต้หวันมีผู้อนุบาลต่างชาติในครัวเรือน 235,000 คน แต่มีเพียง 21 คนที่นายจ้างได้จัดให้เข้าประกันภัยแรงงาน ที่เหลือส่วนใหญ่เลียนแบบข้อบังคับของสำนักงานแรงงานไทย ที่บังคับนายจ้างต้องซื้อประกันภัยอุบัติเหตุจากบริษัทประกันภัยในวงเงิน 300,000-500,000 เหรียญไต้หวัน กระทรวงแรงงานกล่าวว่า หลังกฎหมายคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงานผ่านสภาฯ แล้ว จะขอให้นายจ้างซื้อประกันภัยอุบัติเหตุดังกล่าวแก่ผู้อนุบาลของตนเหมือนเดิมต่อไป
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรางรถไฟฟ้าสายสีเขียวในนครเถาหยวน
แม้จะไม่ใช่ประกันภัยแรงงานตามที่กำหนดในกฎหมายมาตรฐานแรงงาน เป็นเพียงประกันภัยอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งนายจ้างเป็นรับผิดชอบเบี้ยประกัน แรงงานไม่ต้องจ่ายแต่ประการใด แต่เป็นการเพิ่มหลักประกันให้ผู้ใช้แรงงานมากขึ้น โดยแรงงานภาคการผลิตซึ่งเดิมมีการคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงานอยู่แล้ว กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้มีหลักประกันมากกว่าเดิม ขณะลูกจ้างในธุรกิจขนาดเล็กที่จ้างแรงงานต่ำกว่า 4 คน รวมทั้งแรงงานต่างชาติที่ทำงานเป็นผู้อนุบาลหรือผู้ช่วยงานบ้านในครัวเรือน ก็จะได้รับการคุ้มครองเท่ากันเทียมกัน
แรงงานไทยในโรงงานฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ
2. น่าชื่นชม! แรงงานไทยคนแรกคว้ารางวัลแรงงานดีเด่นระดับประเทศของกระทรวงแรงงานไต้หวัน เข้าพบประธานาธิบดีไช่อิงเหวินพร้อมกับแรงงานดีเด่นอื่นๆ
1 พ.ค. เป็นวันแรงงานแห่งชาติของไต้หวันและเป็นวันแรงงานสากล และก่อนถึงวันสำคัญของผู้ใช้แรงงานวันนี้ กระทรวงแรงงานไต้หวันจะจัดประกวดแรงงานดีเด่นระดับประเทศเป็นประจำทุกปี โดยให้กองแรงงานท้องถิ่น สหภาพแรงงาน องค์กรตัวแทนของนายจ้างและองค์กร NGO เป็นผู้คัดเลือกเบื้องต้นและส่งเข้าประกวด เมื่อกระทรวงแรงงานได้รับรายชื่อและข้อมูลของผู้เข้าประกวดแล้ว จะส่งให้คณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนกระทรวงแรงงานและนักวิชาการเป็นผู้ประเมินและคัดเลือกแรงงานดีเด่นต่อไป และที่ผ่านมา แรงงานดีเด่นระดับประเทศ จะเป็นแรงงานท้องถิ่นจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต บริการและธุรกิจต่างๆ จำนวน 51 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับวันและเดือนของวันแรงงานแห่งชาติ แต่ปีนี้ค่อนข้างพิเศษ มีการเพิ่มโควตาแรงงานต่างชาติเป็นครั้งแรกจำนวน 5 คน เป็นแรงงานต่างชาติจากภาคการผลิต 3 คน และภาคสวัสดิการสังคม 2 คน รวมเป็น 56 คน
นายกรัญมนตรีซูเจินชาง (แถวหน้าคนกลาง) มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแรงงานดีเด่นระดับประเทศจำนวน 56 คน และถ่ายรูปร่วมกัน
ผลการตัดสินออกมาแล้วในจำนวนแรงงานต่างชาติ 5 คนที่ได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นระดับประเทศเป็นครั้งแรก ภาคการผลิตมีแรงงานไทย เวียดนามและฟิลปปินส์ ชาติละ 1 คน ส่วนภาคสวัสดิการสังคม เป็นผู้อนุบาลเวียดนามและอินโดนีเซียชาติละ 1 คน
นายชัยเพชร แซ่พ่าน จาก บ. ฟอร์โมซา เฮฟวี่ อินดัสทรี่ส์ ที่นิคมอุตสาหกรรมม่ายเหลี่ยว เมืองหยุนหลิน เป็นแรงงานไทยคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นระดับประเทศ
สำหรับแรงงานไทยที่ได้รับเลือกเป็นแรงงานต่างชาติดีเด่นเป็นรายแรกได้แก่ นายชัยเพชร แซ่พ่าน จากจังหวัดเชียงราย ตำแหน่งช่างประกอบโลหะ และทำหน้าที่เป็นล่ามของบ. ฟอร์โมซา เฮฟวี่ อินดัสทรี่ส์ ที่นิคมอุตสาหกรรมม่ายเหลี่ยว เมืองหยุนหลิน
นายชัยเพชร แซ่พ่าน (ขวา) ขณะรับมอบโล่แรงงานดีเด่นระดับประเทศจากนายกรัฐมนตรีซูเจินชาง
คณะกรรมการตัดสินที่ให้คะแนนกล่าวแนะนำแรงงานดีเด่นสัญชาติไทยรายนี้ว่า เดินทางมาทำงานในไต้หวันกว่า 7 ปี เป็นผู้มีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความสามารถในการสื่อสารที่ดี มักจะช่วยแปลและสื่อสารระหว่างนายจ้างและเพื่อนแรงงานไทยคนอื่นๆ ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานมาก รวมทั้งเป็นผู้ใฝ่รู้และมีจิตบริการช่วยเหลือผู้อื่น ช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้าเว็บค้นหาข้อมูลและแปลมาตรการป้องกันโรคเป็นภาษาไทย ให้เพื่อนร่วมงานได้รับรู้และปฏิบัติตาม และยังช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโรค ทั้งในหอพักและที่ทำงาน ยามปกติยังช่วยเหลือและดูแลความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งช่วยพาเพื่อนร่วมงานที่มีอาการไม่สบายไปรับการรักษายังสถานพยาบาล ถือได้ว่าเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างนายจ้างและแรงงานไทยที่ดีที่สุด
หลังพิธีมอบโล่แล้ว 30 เม.ย. นี้ ยังได้เข้าพบประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ที่ทำเนียบประธานาธิบดี จากนั้นนายชัยเพชร (ขวา) ถ่ายภาพกับผู้จัดการฝ่ายบุคคล ฟอร์โมซาพลาสติกกรุ๊ป ในทำเนียบประธานาธิบดี
นายชัยเพชร แรงงานไทยที่ได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นระดับประเทศเป็นรายแรก ได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการของเราว่า....คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการขุนพลแรงงานไทยออนไลน์
พิธีมอบโล่เกียรติคุณแรงงานดีเด่นระดับประเทศปีนี้ จัดขึ้นในวันที่ 29 เมษายนนี้ ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นแรงงานดีเด่น จะได้รับประกาศนียบัตร โล่เกียรติคุณ และได้รับเงินรางวัล 10,000 เหรียญ หลังเสร็จพิธี จะได้เข้าพบประธานาธิบดีไช่อิงเหวินในวันที่ 30 เมษายนนี้ด้วย
ก็ขอปรบมือชื่นชม แรงงานไทยที่ทำงานดี ได้รับความไว้วางใจและได้รับการคัดเลือกเป็นแรงงานดีเด่นระดับประเทศ เป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ให้กับแรงงานไทยโดยรวม
3. แรงงานไทยได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นภาคการผลิต นครนิวไทเป ร่วมกับแรงงานท้องถิ่น
ทุกปีในช่วงก่อนถึงวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. เมืองต่างๆ ในไต้หวัน จะมีการคัดเลือกแรงงานดีเด่นประจำปี และส่วนใหญ่จะแยกแรงงานต่างชาติออกจากแรงงานท้องถิ่น หมายถึงมีโควตาของแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะ แต่สำหรับนครนิวไทเป ซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดและมีประชากรมากสุดในไต้หวัน ไม่มีการแยก ต้องแข่งขันกับแรงงานท้องถิ่น โดยจะแบ่งตามประเภทของกิจการ ดังนั้นโอกาสที่แรงงานต่างชาติในภาคการผลิตจะได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นประจำปีของนครนิวไทเป จะต้องเป็นแรงงานต่างชาติที่มีผลงานเข้าตากรรมการจริงๆ
นายเนย อุระภา (ขวามือ) แรงงานไทยจาก บ. Yu Genten Co.,Ltd. ที่ซินจวง รับมอบโล่แรงงานดีเด่นจากนายโหวโหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเป
สำหรับปีนี้ มีการจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแรงงานดีเด่น เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ มีแรงงานท้องถิ่นและแรงงานต่างชาติในกิจการต่างๆ ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคสวัสดิการสังคม รวมถึงโชเฟอร์ขับรถขนส่งสาธารณะ อย่างโชเฟอร์รถแท็กซี่ ได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นรวมทั้งหมด 244 คน ในภาคการผลิต มีแรงงานต่างชาติได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นร่วมกับแรงงานท้องถิ่น จำนวน 5 คน แรงงานไทยได้รับเลือก 1 คน ฟิลิปปินส์ 1 คน อินโดนีเซีย 1 คนและเวียดนาม 2 คน ในภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ผู้อนุบาล มีแรงงานต่างชาติได้รับการคัดเลือกเป็นแรงงานดีเด่น 5 คน เป็นอินโดนีเซีย 3 คน เวียดนาม 1 คนและฟิลปิปินส์ 1คน
นายเนย อุระภา อายุ 47 ปี แรงงานไทยจาก บ. Yu Genten Co.,Ltd. ที่ซินจวง ได้รับเลือกเป็นแรงงานดีเด่นนครนิวไทเป ประจำปี 2564
แรงงานไทยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นแรงงานดีเด่นประจำปี 2564 ของนครนิวไทเป ได้แก่นายเนย อุระภา อายุ 47 ปี มาจากจังหวัดบึงกาฬ เดินทางมาทำงานที่บริษัท YU GENTENT CO.LTD. บริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์ที่เขตซินจวง นครนิวไทเป เป็นเวลา 2 ปีเศษ คุณเจนนี่ ล่ามบริษัทจัดหางานกล่าวว่า นายเนย เป็นแรงงานที่ทำงานขยัน จริงจัง มีความรับผิดชอบสูงและให้ความร่วมมือกับโรงงานเป็นอย่างดี นายจ้างและบริษัทจัดหางานจึงส่งเข้าประกวดเป็นแรงงานดีเด่นประจำปี และได้รับการคัดเลือกเป็นแรงงานดีเด่นประจำปี 2564 ของนครนิวไทเป
น.ส.วรัตม์สุดา ศรทัตต์ รอง ผอ. รักษาราชการแทน ผอ. สำนักงานแรงงานไทย ไทเป เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแรงงานไทยเข้ารอบการประกวดอีก 2 คน แม้จะไม่ได้ขึ้นเวทีรับโล่จากผู้ว่าการนครนิวไทเป แต่จะได้รับประกาศนียบัตรและเงินรางวัล โดยเจ้าหน้าที่กองแรงงานจะเดินทางไปมอบให้ถึงที่โรงงาน ได้แก่ นายอธิวัฒน์ เหลาสิงห์ จากจังหวัดอุดรธานี ทำงานในบริษัท Value Valves Co.,Ltd. และนายพัฒนพงษ์ สุมาลี จากจังหวัดอุดรธานี ทำงานที่บริษัท Proud Sun Heat Treatment Co.,Ltd. ที่เขตถู่เฉิง นครนิวไทเป
นายอธิวัฒน์ เหลาสิงห์ จากจังหวัดอุดรธานี ทำงานในบริษัท Value Valves Co.,Ltd. เข้ารอบการประกวดแรงงานดีเด่น นครนิวไทเป ประจำปี 2564
นายโหว โหย่วอี๋ ผู้ว่าการนครนิวไทเปกล่าวในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแรงงานดีเด่นว่า ในนครนิวไทเปมีผู้ใช้แรงงาน 2.07 ล้านคน แรงงานทุกคนร่วมกันพัฒนานครนิวไทเป และได้ขอบคุณแรงงานต่างชาติจำนวน 96,057 คนเป็นพิเศษ ที่เดินทางมาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของนครไทเป ซึ่งคาดว่าในปีค.ศ. 2030 นครนิวไทเปจะพลิกโฉมใหม่อย่างแน่นอน
นายพัฒนพงษ์ สุมาลี จากจังหวัดอุดรธานี ทำงานที่บริษัท Proud Sun Heat Treatment Co.,Ltd. ที่เขตถู่เฉิง นครนิวไทเป เข้ารอบการประกวดแรงงานดีเด่น นครนิวไทเป ประจำปี 2564
นครนิวไทเป เป็นเมืองที่มีพื้นที่ใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในไต้หวัน คือมีจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน และมีจำนวนแรงงานต่างชาติทำงานอยู่ถึงมากเป็นอันดับ 3 ของไต้หวัน ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 64 ในไต้หวันมีแรงงานต่างชาติจำนวน 713,933 คน แบ่งเป็นภาคการผลิต 466,539 คน ภาคสวัสดิการสังคม 247,394 คน ทำงานอยู่ในพื้นที่นครนิวไทเป 96,057 คน แบ่งเป็นภาคการผลิต 55,098 ภาคสวัสดิการสังคม 40,959 คน รองจากอันดับ 1 นครเถาหยวนที่มี 117,637 คน อันดับ 2 นครไทจงที่มี 106,041 คน โดยในนครนิวไทเปมีแรงงานไทยทำงานอยู่จำนวน 6,993 คน ส่วนใหญ่หรือ 6,941 คนทำงานอยู่ในภาคการผลิต ส่วนแรงงานไทยที่ทำงานเป็นผู้อนุบาลในนครนิวไทเปมีเพียง 52 คน