1. ไต้หวันดันโครงการให้แรงงานต่างชาติเรียนต่อระหว่างทำงาน อายุไม่เกิน 30 ทำงานครบ 3 ปี จบ ม.6 หรือ ปวช. เรียนต่อ ระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรีได้ จบแล้วยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ
ไต้หวันประสบวิกฤตเด็กเกิดน้อย จำนวนนักศึกษาเข้าเรียนลดน้อยลง สถาบันการอาชีวศึกษาไม่สามารถหานักศึกษาเข้าเรียนได้ ส่งผลต่อกำลังแรงงานและศักยภาพการแข่งขันของประเทศในอนาคต คณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการจึงวางแผนภาคการศึกษา 2565 ซึ่งจะเริ่มเดือนกันยายนปีนี้เป็นต้นไป ร่วมมือกับสถาบันการอาชีวศึกษาและภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานในภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตรและผู้อนุบาลในองค์กรที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ทำงานในไต้หวันครบ 3 ปีขึ้นไป และจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ปวช. ในระหว่างทำงาน สามารถเข้าเรียนเสริมในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี 4 ปี หรือ อนุปริญญา 2 ปี เมื่อจบการศึกษา ยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ สามารถอยู่ทำงานในไต้หวันได้โดยไม่ถูกจำกัดระยะเวลา โครงการนี้ ตั้งเป้าปี 2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ผลิตนักศึกษาแรงงานต่างชาติที่มีความชำนาญงานจำนวน 60,000 คน และจะสามารถเริ่มโครงการได้ในภาคการศึกษา 2565 ซึ่งจะเริ่มในเดือนกันยายนศกนี้
แรงงานต่างชาติใช้เวลาว่างในวันหยุดไปเดินพักผ่อนและชอปปิงในศูนย์การค้าอาเซียนสแควร์ที่นครไทจง ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด
กระทรวงศึกษาธิการแถลงว่า แพลตฟอร์มความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษายืนยันว่า ปัจจุบันมีธุรกิจขนาดใหญ่ 16 ราย แสดงความประสงค์จะส่งแรงงานต่างชาติที่มีคุณสมบัติเข้าเรียนจำนวน 933 คน โดยนายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการศึกษาทั้งหมด ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาจะต้องจัดให้นักศึกษาแรงงานต่างชาติเหล่านี้เรียนรู้ภาษาจีนในระดับที่เหมาะสม เช่นเรียนต่อในระดับอนุปริญญา จะต้องผ่านการสอบวัดภาษาจีนระดับพื้นฐาน Band A2 เป็นต้น และแต่ละภาคเรียนต้องผ่านวิชาต่าง ๆ อย่างน้อย 9 หน่วยกิต หากมีการดรอปเรียนหรือเลิกเรียน จะต้องแจ้งให้กระทรวงศึกษาธิการทราบทันที เพื่อทราบสถานการณ์การเรียนของนักศึกษาแรงงานต่างชาติเหล่านี้
สถาบันการอาชีวศึกษาในไต้หวันประสบปัญหานักศึกษาเข้าเรียนลดลง
โครงการนี้ จะสามารถดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีคุณสมบัติเข้าเรียนหรือไม่ อาจารย์โหยวหรงฮุย ประธานสหภาพครูและบุคลากรสถาบันการศึกษาเอกชนกล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องการยกระดับความรู้และการศึกษาพนักงานของตน จึงร่วมมือกับสถาบันการอาชีวศึกษาผลักดันโครงการนี้ และแรงงานต่างชาติต้องการจะทำงานตลอดไปและได้รับสถานะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร ส่วนใหญ่ยินดีให้ความร่วมมือกับนายจ้างเข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี
ไต้หวันส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติอายุไม่เกิน 30 ปี อายุงานครบ 3 ปีขึ้นไป และจบ ม.6 ในระหว่างทำงาน เรียนเสริมในระดับปริญญาตรี 4 ปี หรือ อนุปริญญา 2 ปี
อาจารย์เก่อจื้อเสียง อธิการบดีมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลงหัวในเขตกุยซาน นครเถาหยวนกล่าวว่า ไต้หวันกำลังประสบภาวะเด็กเกิดน้อย เป็นเรื่องน่ายินดี หากมีแหล่งนักศึกษาใหม่มาเสริม โดยปัจจุบัน มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลงหัวได้ร่วมมือกับธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างบริษัท ASE Group ซึ่งว่าจ้างแรงงานฟิลิปปินส์หลายพันคน คัดสรรแรงงานท้องถิ่นและแรงงานฟิลิปปินส์ที่มีคุณสมบัติและประสงค์จะเรียนต่อ นายจ้างออกค่าเทอมและค่าใช้จ่ายทั้งหมด นักศึกษาแรงงานเหล่านี้ กลางวันทำงาน กลางคืนเรียนต่อ ปัจจุบันเรียนมาแล้ว 3 ปี นักศึกษาปริญญาตรีรุ่นแรกจะจบการศึกษาในปีหน้า หวังเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจอื่น
ไต้หวันส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติอายุไม่เกิน 30 ปี อายุงานครบ 3 ปีขึ้นไป และจบ ม.6 ในระหว่างทำงาน เรียนเสริมในระดับปริญญาตรี 4 ปี หรือ อนุปริญญา 2 ปี
อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายท่านแสดงความเห็นว่า คงไม่มีสถาบันการศึกษาใดคัดค้านหากมีแหล่งนักศึกษาใหม่ แต่เตือนกระทรวงศึกษาธิการต้องเตรียมมาตรการรองรับรอบคอบ กำหนดมาตรฐานค่าเทอมและค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน หลีกเลี่ยงเกิดสภาพการณ์ที่สถาบันการศึกษาตัดราคาหรือตัดค่าเทอมเพื่อแย่งชิงนักศึกษากันเอง และจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาท้องถิ่น อย่างเช่นหอพักนักศึกษาเป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะต้องเลือกเฟ้นหาธุรกิจที่จะร่วมมืออย่างพิถีพิถัน จะใช้แรงงานต่างชาติมาเป็นแรงงานค่าจ้างต่ำไม่ได้ มิเช่นนั้น ไม่เพียงแต่จะล้มเหลว ยังจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ทางด้านลบของไต้หวันในสากลด้วย เข้าทำนองได้ไม่คุ้มเสีย
ผู้อนุบาลในครัวเรือนที่ดูแลผู้ป่วยและผู็สูงอายุ
ด้านองค์กร NGO อย่างสมาคมแรงงานนานาชาติไต้หวันหรือ TIWA กล่าวว่า เป็นโครงการที่มีปัญหา เพราะปัจจุบัน แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในไต้หวัน ทั้งหมดต้องกู้หนี้ยืมสินและได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อหาเงินใช้หนี้ ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยจะมีวันหยุด และรัฐบาลอุดหนุนค่าเทอมและค่าใช้จ่ายหรือไม่? เพราะนายจ้างส่วนใหญ่คงไม่เห็นด้วยและไม่ยอมออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แล้วแรงงานจะมีเวลาและค่าใช้จ่ายไปเรียนต่อได้อย่างไร?
ไต้หวันส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติอายุไม่เกิน 30 ปี อายุงานครบ 3 ปีขึ้นไป และจบ ม.6 ในระหว่างทำงาน เรียนเสริมในระดับปริญญาตรี 4 ปี หรือ อนุปริญญา 2 ปี
เรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ ซินปิ่งหลง จากบัณฑิตวิทยาลัยการวิจัยและพัฒนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน หรือไถต้ากล่าวว่า โครงการนี้ อาจไม่เหมาะสมกับแรงงานต่างชาติในระบบปัจจุบัน แต่รัฐบาลสามารถเพิ่มการประชาสัมพันธ์ต่อนานาชาติและดึงดูดนักศึกษาแรงงานต่างชาติรุ่นใหม่ ให้เดินทางมาทำงานและเรียนต่อที่ไต้หวัน ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จบแล้วสามารถอยู่ทำงานต่อในไต้หวันอย่างถาวร
2. 3 เดือนแรกปีนี้ ตำรวจเกาสงจับแรงงานต่างชาติไลฟ์สดขายเครื่องสำอางอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงกว่า 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเวียดนาม
ตำรวจไซเบอร์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เกาสงแถลงว่า ช่วงปี 2 ปีมานี้ มีชาวต่างชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมโฆษณาขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยการถ่ายทอดสดผ่านสื่อโซเชียลมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณที่มักจะอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เฉพาะพื้นที่นครเกาสงจับแล้วกว่า 20 ราย ส่วนมากเป็นแรงงานเวียดนาม หลังส่งให้กองอนามัยดำเนินการ หากพบว่ามีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ต้องระวางโทษปรับสูงสุด 5,000,000 เหรียญไต้หวัน
แรงงานหญิงเวียดนามกำลังโชว์คลิปไลฟ์สดในโซเชียลจากมือถือ ขณะตำรวจเรียกมาสอบปากคำ
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแถลงว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ยอดจำนวนชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยและทำงานอยู่ในไต้หวันอย่างถูกกฎหมายมีกว่า 740,000 คน ในจำนวนนี้ เป็นชาวเวียดนามและอินโดนีเซียมากที่สุด ความต้องการในการจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ของชาวต่างชาติเหล่านี้ ค่อย ๆ เปลี่ยนจากซื้อในร้านค้ามาเป็นชอปปิงออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียล ตำรวจไซเบอร์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อสอดส่องการโฆษณาขายสินค้าออนไลน์ที่ผิดกฎหมายและอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง พบทำผิดกฎหมายจำนวนมาก เฉพาะที่นครเกาสง ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ตรวจพบและจับกุมส่งดำเนินคดีแล้วกว่า 20 ราย
แรงงานเวียดนามโฆษณาขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมช่วยลดความอ้วน เสริมทรวงอกให้ใหญ่เป็นต้น ยังโพสต์ภาพถ่ายก่อนใช้และหลังใช้ ทำให้ดูเหมือนได้ผลจริง
ตัวอย่างแรงงานหญิงเวียดนามรายหนึ่ง ใช้นามแฝงว่าเสี่ยวฟาง มักจะไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กและติกตอก โฆษณาขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเป็นภาษาเวียดนาม เช่น รักษาหายขาดปัญหาสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมช่วยลดความอ้วน เสริมทรวงอกให้ใหญ่เป็นต้น ยังโพสต์ภาพถ่ายก่อนใช้และหลังใช้ที่ผ่านการปรับแต่งภาพ ทำให้ดูแตกต่างกันลิบลับและดูเหมือนได้ผลจริง มีลูกค้าหลงเชื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ตำรวจเรียกไปสอบปากคำ เสี่ยวฟางกล่าวว่า ไม่รู้ว่าผิดกฎหมายและคิดว่าโพสต์เป็นภาษาเวียดนาม ตำรวจไม่น่าจะตรวจพบ แต่ไม่รู้ว่าตำรวจไซเบอร์ไต้หวันรู้ภาษาเวียดนามและสามารถใช้โปรแกรมแปลภาษาตรวจสอบได้ หลังบันทึกปากคำ ตำรวจส่งหลักฐานต่าง ๆ ให้กองอนามัย เพื่อดำเนินคดีลงโทษต่อไป นอกจากผิดกฎหมายบริหารจัดการสุขอนามัยและความปลอดภัยเครื่องสำอาง ซึ่งมีโทษปรับสูงสุด 5,000,000 เหรียญไต้หวันแล้ว เนื่องจากเสี่ยวฟางเดินทางทางมาทำงานในฐานะแรงงานต่างชาติ แต่ไปทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต ยังผิดกฎหมายการจ้างงาน อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานถูกส่งกลับประเทศด้วย จึงเตือนชาวต่างชาติต้องระมัดระวัง อย่าท้าทายกฎหมาย
เสี่ยวฟาง แรงงานหญิงเวียดนาม มักจะไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กและติกตอก โฆษณาขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นภาษาเวียดนาม โดยอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
3. ผู้นำไต้หวันชี้ จะขจัดอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้าให้ได้
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินกล่าวปราศรัยขณะเข้าร่วมการประชุมสามัญประจำปีของสมาพันธ์สหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรลูกจ้างใหญ่สุดของไต้หวันเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่องทุกปี ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง หากมีความลำบากจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือ ผู้นำไต้หวันกล่าวย้ำว่า รัฐบาลจะขจัดอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องทุกปี
ผู้นำไต้หวันยืนยัน จะขจัดอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้าให้ได้
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินกล่าวว่า การยกระดับสิทธิประโยชน์และความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้น เป็นเป้าหมายของรัฐบาลมาโดยตลอด ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 6 ปี และผลักดันกฎหมายประกันและคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งผ่านสภานิติบัญญัติเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการคุ้มครองจากการทำงานมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องทุกปี อาจประสบปัญหาและอุปสรรคบ้าง เช่น ผู้ประกอบจำนวนมากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ต้องขอบคุณหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พยายามขจัดอุปสรรค ทำให้ที่ผ่านมามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประจำทุกปี แม้จะประสบกับวิกฤตจากโรคโควิด-19 ก็ตาม
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างที่ภาคใต้
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีขึ้นบริหารประเทศเป็นเวลา 6 ปีที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนไปแล้ว 6 ครั้ง จาก 20,008 เหรียญช่วงก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง ปัจจุบันอยู่ที่ 25,250 เหรียญไต้หวัน ปรับขึ้นแล้ว 26.2% ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงสำหรับแรงงานท้องถิ่นที่ทำงานเสริมหรือทำงานเป็นรายชั่วโมง ปรับขึ้นแล้ว 7 ครั้ง จากเดิมชั่วโมงละ 120 เหรียญ ปัจจุบันปรับเป็นชั่วโมงละ 168 เหรียญ ปรับขึ้นไปแล้ว 40%
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวในนครเถาหยวน
ด้านพรรคฝ่ายค้านอย่างก๊กมินตั๋ง และพรรคนิวเพาเวอร์กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียง 1 ในวิธีแก้ปัญหาค่าจ้างผู้ใช้แรงงานตกต่ำเท่านั้น ยังมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐบาลจึงควรหาทางแก้ปัญหาด้วยการใช้มาตรการดึงดูดให้นายจ้างยินยอมปรับขึ้นค่าจ้างให้ลูกจ้าง อย่างเช่นการลดภาษีให้นายจ้างเป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลประโยชน์ถ้วนหน้า นอกจากนี้ ยังควรผลักดันให้ผ่านร่างกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากเป็นการคุ้มครองแรงงานแล้ว แต่ละปี ไม่ต้องมาปวดหัวและทะเลาะกันในเรื่องนี้ ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล
แรงงานไทยในโรงงานย้อมผ้า
มีการลือกันว่า อัตราค่าจ้างในปีหน้า จะปรับขึ้นร้อยละ 4 หรือ 1,010 เหรียญ เป็น 26,260 เหรียญ เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานแถลงว่า ต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำตัดสิน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 4 ฝ่าย จำนวน 22 คน ได้แก่ฝ่ายนายจ้าง 7 คน ฝ่ายลูกจ้าง 7 คน เจ้าหน้าที่รัฐบาล 3 คน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ 4 คน ส่วน รมว. กระทรวงแรงงานเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีกำหนดจัดการประชุมพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกไตรมาสที่ 3 ในเดือนสิงหาคมของปี เพื่อพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปีถัดไป โดยยึดดัชนีผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นหลัก และจะพิจารณาจากดัชนีรายการอื่น ๆ อีก 17 รายการ
6 ปีที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนไปแล้ว 6 ครั้ง จาก 20,008 เหรียญช่วงก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง ปัจจุบันอยู่ที่ 25,250 เหรียญไต้หวัน ปรับขึ้นแล้ว 26.2%