1. กระทรวงแรงงานไต้หวันเปิดให้บริการแรงงานต่างชาติตรวจสอบและดาวน์โหลดใบอนุญาตทำงานและหนังสืออนุญาตย้ายนายจ้างจากเว็บไซต์ได้
เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติสามารถเข้าถึงเอกสารสำคัญจากกระทรวงแรงงาน อย่างเช่น หนังสืออนุญาตทำงานและหนังสืออนุญาตรับหรือย้ายนายจ้างเป็นต้น กระทรวงแรงงานประกาศเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา เปิดให้บริการดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บของกรมพัฒนากำลังแรงงานได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และยังได้ทำเว็บหลากภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานต่างชาติไปใช้บริการยื่นคำร้อง ตรวจสอบหรือดาวน์โหลดข้อมูลสำคัญได้
หน้าหลักเว็บไซต์ข้อมูลและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานต่างชาติของกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน
ที่ผ่านมา การว่าจ้างแรงงานต่างชาติ หรือการย้ายงาน เอกสารสำคัญที่ต้องใช้อย่าง หนังสืออนุญาตทำงานและหนังสืออนุญาตย้ายนายจ้าง จะออกให้เป็นแบบกระดาษ และนายจ้างส่วนใหญ่มอบหมายให้บริษัทจัดหางานเป็นผู้ยื่นขอและทำเรื่อง เอกสารสำคัญเหล่านี้จึงมักจะอยู่ในมือของบริษัทจัดหางาน ส่งผลให้เมื่อมีการรับโอนย้ายหรือย้ายนายจ้างใหม่ ซึ่งต้องการใช้เอกสารสำคัญเหล่านี้ จะถูกบริษัทเรียกค่าบริการหรือค่าซื้อตำแหน่งงาน หากไม่จ่ายจะไม่คืนให้ เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติสามารถเข้าถึงเอกสารเหล่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องง้อบริษัทจัดหางาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าซื้อตำแหน่งงานโดยผิดกฎหมาย กระทรวงแรงงานได้จัดทำเว็บไซต์ระบบการยื่นคำร้องออนไลน์ ตรวจสอบและดาวน์โหลดข้อมูล ให้สามารถยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์และยังสามารถตรวจสอบข้อมูลและดาวน์โหลดเอกสารสำคัญได้ โดยมีหลากภาษาให้แรงงานต่างชาติเลือกใช้บริการ คลิกที่ : https://fwad.wda.gov.tw/fwad/index.do?lang=th_TH
เว็บไซต์ระบบการยื่นคำร้องออนไลน์ ตรวจสอบและดาวน์โหลดข้อมูลของกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน
วิธีใช้ การเข้าสู่ระบบในครั้งแรกเพื่อลงทะเบียนยุ่งยากพอสมควร เพราะต้องป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล โดยต้องใช้คอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊กหรือแบบตั้งโต๊ะ จะใช้มือถือไม่ได้ เนื่องจากต้องเตรียมเครื่องอ่านการ์ดสำหรับเสียบบัตรประกันสุขภาพหรือบัตรประจำตัวแบบดิจิทัลสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งต้องยื่นเรื่องขอทำจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นการเฉพาะ และต้องติดตั้งโปรแกรมประกอบบางตัว ซึ่งมีให้คลิกติดตั้งบนหน้าเว็บอยู่แล้ว จากนั้นคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ กรอกข้อมูลตามที่ระบุ เช่นเลขบัตร ARC บัตรประกันสุขภาพ เลขที่หนังสือเดินทางและหมายเลขโทรศัพท์ และต้องยืนยันตัวตน ซึ่งทางระบบจะส่งรหัสไปยังโทรศัพท์ที่กรอกหมายเลข เมื่อกรอกรหัสที่ได้รับเสร็จ กดเข้าสู่ระบบ จะเห็นข้อความลงทะเบียนสำเร็จ ครั้งต่อไป ใช้มือถือเข้าระบบได้โดยกรอกเลขบัตร ARC และเลขบัตรประกันสุขภาพ ไม่ต้องเสียบบัตรประกันสุขภาพหรือบัตรประจำตัวดิจิทัลอีกต่อไป สามารถไปยื่นคำร้องของย้ายงาน และเรื่องอื่นๆ ผ่านระบบออนไลน์ แต่การยื่นคำร้อง แรงงานต่างชาติอาจทำยาก ที่สะดวกสุดก็คือ สามารถดาวน์โหลดหนังสืออนุญาตทำงานและหนังสืออนุญาตย้ายนายจ้างของกระทรวงแรงงานจากในเว็บไซต์ได้ ไม่ต้องไปง้อล่ามหรือบริษัทจัดหางานอีกต่อไป
การใช้งานอาจยุ่งยากหน่อย สำหรับคนที่ไม่คุ้นกับระบบในคอมพิวเตอร์ แต่ต้องปรับตัวลองทำดู แล้วเราจะเก่งและช่วยตัวเองได้มากขึ้น
กลุ่ม NGO และแรงงานต่างชาติชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์การย้ายงานโดยเสรี ณ สถานีรถไฟไทเป เมื่อปี 2564
2. สนร. ไทย ไทเป เตือนคนงานไทย นำกัญชา กัญชง รวมถึงผลิตภัณฑ์เข้าไต้หวัน ระวังเจอโทษหนักเทียบเท่ายาไอซ์ มีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 15 ล้านเหรียญไต้หวัน
หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 เมื่อ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนต่าง ๆ ของ “กัญชา-กัญชง” ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป ประชาชนชาวไทยสามารถปลูกกัญชาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องทำการลงทะเบียน จดแจ้งตามวัตถุประสงค์การปลูกเท่านั้น อาจทำให้แรงงานไทยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเจตนานำเข้ากัญชา กัญชงหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ไต้หวัน ซึ่งจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 2 ผู้ผลิต ลำเลียง นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 15 ล้านเหรียญไต้หวัน
สำนักงานแรงงานไทย ไทเปกล่าวเตือนว่า ไต้หวันเพิ่งจะประกาศใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 เพิ่มโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหนักขึ้น โดยไต้หวันแบ่งยาเสพติดให้โทษตามระดับความร้ายแรงและส่งผลคุกคามต่อสังคมออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
ประเภท 1 เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น โคเคน ฯลฯ
ประเภท 2 เมล็ดฝิ่น กัญชา แอมเฟตามีน ยาไอซ์ ฯลฯ
ประเภท 3 Nalorphine, Amytal, secobarbital
ประเภท 4 สารตั้งต้นและสารเคมีที่นําไปใช้ผลิตยาเสพติด เช่น Ephedra เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า มีการจัดให้กัญชา เป็นยาเสพติดประเภท 2 เช่นเดียวกับเมล็ดฝิ่น แอมเฟตามีนและยาไอซ์ ผู้ใดนำเข้ากัญชา กัญชงหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ไต้หวัน เพื่อการจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 15 ล้านเหรียญไต้หวัน กรณีครอบครองเพื่อการจำหน่าย มีโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป ปรับไม่เกิน 5 ล้านเหรียญไต้หวัน ชักจูง หลอกล่อให้คนอื่นเสพยาเสพติดให้โทษ ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปีขึ้นไปไม่เกิน 7 ปี และปรับ 1 ล้านเหรียญไต้หวัน กรณีที่เสพ หลังจากส่งบำบัดแล้ว ยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แม้จะมีไว้ในครอบครองไม่ได้เสพ ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 เหรียญไต้หวัน
จึงเตือนให้แรงงานไทยต้องระวัง ห้ามนำกัญชาทั้งสด แห้ง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาเข้าไต้หวันอย่างเด็ดขาด และนอกจากสำนักงานแรงงานไทยแล้ว สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเปหรือที่รู้จักกันในนามกงสุลไทย ก็แสดงความห่วงใยและออกประกาศเตือนในเรื่องนี้เช่นกัน
3. เริ่มจับแล้ว! ตำรวจเจียอี้ทลายร้านแต่งรถจักรยานไฟฟ้าขนาดใหญ่ จ้างแรงงานอินโดเป็นลูกมือ เตรียมจัดแข่งรถแต่งครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนี้
สืบเนื่องจากรถจักรยานไฟฟ้าราคาถูก ไม่ต้องสอบใบขับขี่ จึงได้รับความนิยมจากแรงงานต่างชาติอย่างแพร่หลาย และมีจำนวนไม่น้อยที่ยอมเสียเงินนำรถจักรยานไฟฟ้าคันโปรดไปแต่งเสียเท่ยิ่งกว่ารถมอเตอร์ไซค์ นายหวู ชายชาวไต้หวันที่เมืองเจียอี้สบช่อง ใช้โกดังร้างทำร้านแต่งรถจักรยานไฟฟ้า โดยว่าจ้างแรงงานอินโดนีเซียเป็นลูกมือ สอนวิธีแต่งรถเพิ่มความเร็ว เปลี่ยนกล่องควบคุมรถจักรยานไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้รถจักรยานไฟฟ้าที่ออกจากโรงงาน ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 25 กม./ชม. สามารถวิ่งได้เร็วกว่า 100 กม./ชม. เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น
ตำรวจเจียอี้ทลายร้านแต่งรถจักรยานไฟฟ้าขนาดใหญ่ จ้างแรงงานอินโดฯ เป็นลูกมือ มีผู้ไปใช้บริการจำนวนมาก
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เมืองเจียอี้ ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่า มีร้านแต่งรถจักรยานไฟฟ้า เปลี่ยนกล่องควบคุมเพิ่มความเร็วโดยไม่ได้รับลิขสิทธิ์จากผู้ผลิต ยังว่าจ้างแรงงานอินโดนีเซียมาเป็นลูกมือ ช่วยโฆษณาให้เพื่อนชาติเดียวกันมาใช้บริการ ผ่านเฟซบุ๊กและติกตอก ดึงดูดแรงงานต่างชาตินำรถจักรยานไฟฟ้ามาแต่ง เนื่องจากราคากันเอง ประกอบกับสนับสนุนให้รวมกลุ่มคนรักรถจักรยานไฟฟ้าชาวอินโดนีเซีย จัดตั้งเป็นทีม ทำให้กิจการคึกคักและขยายตัวอย่างมาก เดิมเตรียมจัดแข่งรถแต่งครั้งแรกในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมโปรโมทธุรกิจ แต่ถูกตำรวจจู่โจมตรวจค้นเมื่อค่ำวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา จับนายหวูเจ้าของร้านและลูกมือแรงงานอินโดนีเซียอีก 5 คนที่กำลังแต่งรถจักรยานไฟฟ้าอย่างขะมักเขม้น ยึดของกลางเป็นรถจักรยานไฟฟ้าที่แต่งเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างแต่งหลายคัน รวมถึงกล่องควบคุมรถจักรยานไฟฟ้าอีกจำนวนมาก ตำรวจยังพบว่า นอกจากรับแต่งรถแล้ว ร้านแห่งนี้ ยังขายแผ่นป้ายมาตรฐานปลอมของรถจักรยานไฟฟ้าด้วย
ทลายร้านแต่งรถจักรยานไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เจียอี้ ตำรวจกำลังตรวจสอบบัตร ARC ของแรงงานอินโดฯ ที่รับจ้างทำงานในร้าน
ตำรวจกล่าวว่า เนื่องจากแรงงานต่างชาติจำนวนมากยอมควักเงินแต่งรถ โดยเปลี่ยนกล่องควบคุม แบตเตอรี่ และมอเตอร์เป็นต้น ทำให้นายหวูเห็นโอกาสทำเงิน ไม่เพียงแต่รับแรงงานอินโดนีเซียมาฝึกการแต่งรถและทำหน้าที่เป็นพนักงานขายรถ ยังสนับสนุนให้กลุ่มคนรักรถแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานอินโดนีเซีย รวมกลุ่มเป็นทีม ร่วมกันหาวิธีแต่งรถจักรยานไฟฟ้าให้สวยวับ เตะตา เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติมาซื้อและแต่งรถจักรยานไฟฟ้ามากขึ้น ถึงขั้นเตรียมจัดกิจกรรมโปรโมท แข่งรถแต่งครั้งแรกในไต้หวันในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ถูกตำรวจทลายเสียก่อน
ในร้านตรวจพบกล่องควบคุมรถจักรยานไฟฟ้าเพิ่มความเร็วโดยไม่ได้รับลิขสิทธิ์จำนวนมาก
โฆษกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่เจียอี้กล่าวว่า รถจักรยานไฟฟ้าที่ผ่านการแต่ง มักจะเกิดไฟไหม้และระเบิดได้ง่าย อีกทั้งความเร็วรถเกินกำหนด ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กระทรวงแรงงานเพิ่งออกประกาศเตือนแรงงานต่างชาติก่อนหน้านี้ว่า ควรซื้อหาหรือขับขี่รถจักรยานไฟฟ้าที่มีเครื่องหมายฟ้าผ่าสีแดง ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเท่านั้น ขับขี่รถจักรยานไฟฟ้าที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจะถูกยึดรถ! การแต่งรถจักรยานไฟฟ้าโดยพลการ มีโทษถูกปรับ 1,800-5,400 เหรียญไต้หวัน ! ขณะเดียวกันเรียกร้องให้นายจ้างและบริษัทจัดหางาน ช่วยประชาสัมพันธ์แก่แรงงานต่างชาติในสังกัดของตนได้รับทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้บริษัทจัดหางานประชาสัมพันธ์เรื่องนี้แก่แรงงานต่างชาติในความดูแลของตนอย่างจริงจัง กระทรวงแรงงานกำลังแก้กฎระเบียบ จัดให้ผลงานการประชาสัมพันธ์กฎจราจรแก่แรงงานต่างชาติ เป็น 1 ในรายการการประเมินประจำปีด้วย
ในร้านยังตรวจพบรับทำแผ่นป้ายรับรองมาตรฐานปลอมด้วย
ทั้งนี้ กฎหมายการจราจรทางถนนและการลงโทษฉบับแก้ไข ในส่วนที่เกี่ยวกับรถจักรยานไฟฟ้า ในอนาคต รถจักรยานไฟฟ้าจะต้องยื่นขอและติดแผ่นป้ายทะเบียน จึงจะขับขี่บนท้องถนนได้ หากไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มีโทษปรับ 1,200-3,600 เหรียญ ตำรวจจะยึดรถไว้ชั่วคราว จนกว่าจะจัดการให้แล้วเสร็จถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากเป็นรถจักรยานไฟฟ้าที่ไม่ติดแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจะถูกยึดรถไปเลยทันที นอกจากนี้ รถจักรยานไฟฟ้ากำหนดความเร็วไม่เกิน 25 กม./ชม. หากฝ่าฝืนจะถูกปรับตั้งแต่ 900-1,800 เหรียญไต้หวัน ไม่สวมหมวกกันน็อกถูกปรับ 300 เหรียญ ดัดแปลงหรือแต่งรถจักรยานไฟฟ้าโดยพลการปรับตั้งแต่ 1,800-5,400 เหรียญไต้หวัน ไม่ให้คนซ้อนท้ายและห้ามเมาแล้วขับ
ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเจียอี้จู่โจมร้านแต่งรถจักรยานไฟฟ้า พบว่าจ้างแรงงานอินโดฯ เป็นพนักงานถึง 5 คน