1. 3 แรงงานไทยสร้างชื่อ คว้าแรงงานต่างชาติดีเด่นประจำปี 2565 จากสมาคมสิ่งทอไต้หวัน
เพื่อเป็นการให้กำลังใจแรงงานต่างชาติที่ทำงานอย่างพากเพียรขยันขันแข็ง พัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้เทคนิคการทำงาน เป็นการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน สมาคมผ้าไหมและสิ่งทอของไต้หวัน ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผ้าไหมและสิ่งทอทั่วไต้หวันจำนวนกว่า 120 บริษัท และมีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติประมาณ 30,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทยประมาณ 5,000 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ได้จัดให้มีการประกวดแรงงานต่างชาติดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยจะมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแด่แรงงานต่างชาติที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯ จวบจนกระทั่งขณะนี้ มีการจัดประกวดแรงงานต่างชาติดีเด่นมาแล้ว 26 รุ่น มีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมผ้าไหมและสิ่งทอได้รับเลือกเป็นแรงงานต่างชาติดีเด่นแล้วกว่า 200 คน แรงงานไทยเหล่านี้ ได้สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แรงงานไทยโดยรวม
3 แรงงานไทยสร้างชื่อ คว้าแรงงานต่างชาติดีเด่นประจำปี 2565 จากสมาคมสิ่งทอไต้หวัน
สำหรับในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีที่ 69 แห่งการจัดตั้งสมาคมผ้าไหมและสิ่งทอ ทางสมาคมฯ ได้มีการจัดประชุมสามัญประจำปี ขณะเดียวกันได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่แรงงานต่างชาติดีเด่นเช่นเคย เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมานี้ โดยมีแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในโรงงานสิ่งทอ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้รับการเสนอชื่อจากนายจ้างและผ่านการคัดเลือกแรงงานต่างชาติดีเด่นจำนวน 16 คน ในจำนวนนี้ แรงงานไทยได้รับการคัดเลือก 3 คน แรงงานเวียดนาม 8 คน แรงงานฟิลิปปินส์ 3 คน และอินโดนีเซีย 2 คน โดยนางสาววรัตม์สุดา ศรัทตต์ รอง ผอ. สำนักงานแรงงานไทย ไทเป เดินทางไปร่วมแสดงความยินดี และได้มอบเงินรางวัลเพื่อเป็นการกำลังใจแด่แรงงานไทยทั้ง 3 คนด้วย
น.ส. วรัตม์สุดา ศรัทตต์ รอง ผอ. สำนักงานแรงงานไทย ไทเป เดินทางไปร่วมแสดงความยินดี และได้มอบเงินรางวัลเพื่อเป็นการกำลังใจแด่แรงงานไทยทั้ง 3 คนด้วย
สำหรับคนงานไทยที่ได้รับรางวัลแรงงานต่างชาติดีเด่นในภาคอุตสาหกรรมผ้าไหมและสิ่งทอในเขตพื้นที่ไต้หวัน ประจำปี 2565 ทั้ง 3 คน มีดังนี้
1) นายสมเกียรติ วงษ์ชัย อายุ 41 ปี มาจากจังหวัดอุดรธานี พนักงาน Sun Shine Textile Enterprise Co., Ltd.
2) นายนิรุธ คำใสย อายุ 38 ปี มาจากจังหวัดหนองคาย พนักงาน Ho Yu Textile Co., Ltd.
3) นายอวยพร ทองสวน อายุ 37 ปี มาจากจังหวัดพิษณุโลก พนักงาน Formosa Taffeta Co., Ltd.
หลังรับรางวัลและโล่เกียรติคุณ 3 แรงงานไทยดีเด่นถ่ายภาพร่วมกับนายจวงเหย้าหมิง ประธานสมาคมสิ่งทอไต้หวัน (ซายมือ) และ น.ส.วรัตม์สุดา ศรัทตต์ รอง ผอ. สนร. ไทเป (ขวามือ)
2. กองแรงงานเตือน นายจ้างต้องให้วันหยุดพักพิเศษประจำปีแก่แรงงานต่างชาติ หากไม่ได้ใช้สิทธิ์ต้องจ่ายชดเชยเป็นค่าจ้าง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับหนัก 1 ล้านเหรียญไต้หวัน
กองแรงงานกรุงไทเปประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายให้แก่นายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติทราบว่า ข้อพิพาทที่มักจะพบบ่อยเมื่อมีการยกเลิกหรือครบสัญญาจ้าง ได้แก่ การจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายโดยไม่มีใบสลิปหรือใบรายการเงินเดือน ไม่จ่ายเงินชดเชยวันหยุดพักพิเศษที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ ฯลฯ แนะนายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะนอกจากต้องจ่ายคืนจนครบตามจำนวนแล้ว ยังจะถูกลงโทษปรับเงินตั้งแต่ 20,000-1,000,000 เหรียญไต้หวัน กรณีที่แรงงานพบว่า นายจ้างฝ่าฝืนกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ต่อกองแรงงานในท้องที่หรือร้องผ่านสายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955
นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง หากไม่มีรายการค่าจ้างและรายการหัก ถือว่าผิดกฎหมาย
กองแรงงานกล่าวว่า มีนายจ้างบางรายใช้วิธีแจ้งยอดจำนวนค่าจ้างที่ค้างจ่ายด้วยปากเปล่าหรือส่งข้อความทางไลน์แก่ลูกจ้างโดยไม่มีรายละเอียดของรายการค่าจ้างและรายการหัก ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายมาตรฐานแรงงาน จึงแนะนำว่า จะต้องมีรายละเอียดของค่าจ้างและรายการหักให้แก่ลูกจ้างอย่างละเอียด และควรพิมพ์ออกมาเป็นฉบับกระดาษมอบให้ลูกจ้าง จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง
สำหรับนายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในภาคการผลิต มักจะมีปัญหาเรื่องวันหยุดพักพิเศษประจำปี โดยนายจ้างจำนวนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้แรงงานต่างชาติใช้สิทธิ์ลาพักพิเศษประจำปี และแรงงานต่างชาติเองก็ไม่รู้ว่าตนมีสิทธิ์ลาพักพิเศษประจำปีหรือไม่? กี่วัน?
ตามในกฎหมายมาตรฐานแรงงาน มาตรา 38 กำหนด ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างหรือสถานประกอบกิจการรายใดรายหนึ่ง ติดต่อกันมาครบระยะเวลาหนึ่ง จะได้รับสิทธิ์ให้ลาหยุดพิเศษประจำปีได้ดังนี้ :
1. ทำงานครบ 6 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ครบ 1 ปี มีวันหยุดพักพิเศษ 3 วัน
2. 1 ปีขึ้นไปไม่ครบ 2 ปี มีวันหยุดพักพิเศษ 7 วัน
3. 2 ปีขึ้นไป ไม่ครบ 3 ปี มีวันหยุดพักพิเศษ 10 วัน
4. 3 ปีขึ้นไป ไม่ครบ 5 ปี มีวันหยุดพักพิเศษปีละ 14 วัน
5. 5 ปีขึ้นไป ไม่ครบ 10 ปี มีวันหยุดพักพิเศษปีละ 15 วัน
6. 10 ปีขึ้นไป จะได้รับวันหยุดพักพิเศษเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน
สื่อประชาสัมพันธ์เรื่องวันหยุดพักพิเศษประจำปี จากสำนักงานแรงงานไทย ไทเป
วันหยุดพักพิเศษประจำปีข้างต้น ให้ลูกจ้างเป็นผู้จัดวันหยุดพักเอง แต่ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นเร่งด่วนด้านการประกอบธุรกิจ หรือลูกจ้างมีภารกิจส่วนตัว สามารถหารือเพื่อปรับเปลี่ยนวันหยุดพักพิเศษได้ เมื่อลูกจ้างมีสิทธิ์ลาหยุดพักพิเศษตามที่กล่าวมา นายจ้างต้องแจ้งสิทธิ์การลาดังกล่าวให้ลูกจ้างทราบ
วันหยุดพักพิเศษข้างต้น หากลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิ์หรือยังใช้ไม่หมดก่อนสิ้นปีหรือก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเป็นค่าจ้างให้ กรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ยกไปรวมกับวันหยุดพักพิเศษในปีถัดไปได้ แต่หากยังใช้ไม่หมดก่อนสิ้นปีถัดไปหรือก่อนสัญญาจ้างสิ้นสุดลง นายจ้างต้องจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
นายจ้างต้องบันทึกจำนวนวันลาพักพิเศษประจำปี และการจ่ายเงินค่าจ้างชดเชยวันลาพักพิเศษประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ไว้ในบัญชีเงินเดือนของลูกจ้างตามกฎหมายกำหนด และต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นประจำทุกปี กรณีที่ลูกจ้างทวงว่ายังไม่ได้ใช้สิทธิ์การลาหยุดพัก หากนายจ้างเห็นว่าการเรียกร้องสิทธิของลูกจ้างไม่มีมูล นายจ้างต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบพิสูจน์และแสดงหลักฐานดังกล่าว
สื่อประชาสัมพันธ์เรื่องวันหยุดพักพิเศษประจำปี จากกรมพัฒนากำลังแรงงาน
3. นายจ้างโวย! แรงงานต่างชาติซื้อรถจักรยานไฟฟ้าคันใหม่ต้องแนบใบยินยอมจากนายจ้าง กรมการขนส่งทางบกให้เหตุผล เพื่อให้นายจ้างกำชับลูกจ้างเคารพกฎจราจร ห้ามแต่งรถและต้องซื้อประกันภาคบังคับ
ตามที่กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมไต้หวันประกาศ เริ่มตั้งแต่ 30 พ.ย. 65 เป็นต้นไป ผู้ซื้อรถจักรยานไฟฟ้าคันใหม่ ทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ จะต้องยื่นขอทะเบียนรถ ติดป้ายทะเบียนและต้องซื้อประกันภัยบุคคลที่ 3 เช่นเดียวกับรถมอเตอร์ไซค์ จึงจะอนุญาตให้ขับขี่บนถนนได้ และหากเป็นแรงงานต่างชาติ ขณะยื่นขอจดทะเบียน ต้องแนบหนังสือยินยอมจากนายจ้างด้วย เพื่อให้นายจ้างรับรู้และเตือนแรงงานต่างชาติของตน ให้เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ซื้อประกันภัยภาคบังคับ แต่จะไม่มีการย้อนหลัง กล่าวคือรถจักรยานไฟฟ้าคันเก่าที่ซื้อก่อนวันที่ 30 พ.ย. 65 ต้องยื่นขอติดแผ่นป้ายทะเบียนและซื้อประกันภายในเวลา 2 ปี โดยไม่ต้องแนบหนังสือยินยอมจากนายจ้าง
30 พ.ย. 65 เป็นต้นไป ผู้ซื้อรถจักรยานไฟฟ้าคันใหม่ ทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ จะต้องยื่นขอทะเบียนรถ ติดป้ายทะเบียนและต้องซื้อประกันภัยบุคคลที่ 3 เช่นเดียวกับรถมอเตอร์ไซค์
ต่อกฎระเบียบนี้ มีนายจ้างจำนวนมากโวยวายว่า แรงงานต่างชาติซื้อรถจักรยานไฟฟ้าเป็นสิทธิ์ของพวกเขา ทำไมต้องให้นายจ้างออกหนังสือยินยอม และนายจ้างต้องรับผิดชอบทางกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้นายจ้างสบายใจ กรมการขนส่งทางบกประกาศหนังสือยินยอมฉบับมาตรฐาน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์และกล่าวว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา กฎหมายกำหนดให้แรงงานต่างชาติที่ซื้อรถจักรยานยนต์ จะต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้าง ดังนั้น การซื้อรถจักรยานไฟฟ้าก็เช่นกัน ขณะยื่นขอทะเบียนรถ ต้องแนบหนังสือยินยอมหรือหนังสืออนุญาตจากนายจ้างด้วย ทั้งนี้ นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่ให้ช่วยกำชับแรงงานต่างชาติต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ห้ามแต่งรถโดยพลการ ต้องซื้อประกันภาคบังคับ ดำเนินการโอนรถหรือแจ้งการไม่ใช้รถและคืนแผ่นป้ายทะเบียน ขณะเดินทางกลับประเทศ โดยนายจ้างมีหน้าที่เตือนเท่านั้น หากมีการแจ้งให้ทราบแล้ว แม้แรงงานต่างชาติจะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย จึงไม่ต้องกังวล
สื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการยื่นขอแผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานไฟฟ้า จากกรมพัฒนากำลังแรงงาน
กรมการขนส่งทางบกกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องแก้กฎหมายให้มีการควบคุมรถจักรยานไฟฟ้า เนื่องมาจากนับวันรถจักรยานไฟฟ้าได้รับความนิยม มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างเช่น 8 เดือนแรกของปีนี้ เกิดอุบัติเหตุแล้ว 5,800 คดี มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มี 4,900 คดี และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 33 ราย ประชาชนจำนวนมากสะท้อนว่า รถจักรยานไฟฟ้าเกลื่อน แต่ไม่มีกฎหมายควบคุมและเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ไม่มีประกันภัยคุ้มครองผู้เสียหาย จึงมีการแก้กฎหมาย และสภานิติบัญญัติได้ผ่านการแก้กฎหมายเมื่อเดือนเมษายน 65 โดยจัดให้รถจักรยานไฟฟ้าอยู่ภายใต้การควบคุม กล่าวคือต้องจดทะเบียน ติดแผ่นป้ายทะเบียนและซื้อประกันภัยภาคบังคับ แต่ไม่ต้องสอบใบขับขี่ ตั้งแต่ 30 พ.ย. 65 เป็นต้นไป
หนังสืออนุญาตซื้อรถจักรยานไฟฟ้าจากนายจ้างฉบับมาตรฐาน สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก
ด้านกระทรวงแรงงานก็กล่าวว่า กฎระเบียบที่ให้นายจ้างออกหนังสือยินยอม ขณะที่แรงงานต่างชาติขอตนซื้อรถจักรยานไฟฟ้าคันใหม่ ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ได้แก่กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม ระเบียบว่าด้วยการอนุญาตว่าจ้างและบริหารแรงงานต่างชาติ มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติที่ตนว่าจ้าง จึงเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะเตือนหรือกำชับให้แรงงานต่างชาติต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร ความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะ ซื้อประกันภาคบังคับตามกฎหมาย โอนหรือแจ้งการไม่ใช้รถ คืนแผ่นป้ายทะเบียนต่อกองทะเบียนยานยนต์ท้องที่เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ในประเด็นนี้ ให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติทราบ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย
แผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานไฟฟ้าพื้นสีขาว เลขทะเบียนสีเขียว นำหน้าด้วยอักษรภาษาอังกฤษ 2 ตัว ตามด้วยเลข 5 หลัก
สรุปก็คือ เริ่มตั้งแต่ 30 พ.ย. 65 เป็นต้นไป การซื้อรถจักรยานไฟฟ้าคันใหม่ (ยกเว้นรถจักรยานไฟฟ้าแบบมีที่ปั่น ซึ่งไม่ต้องติดแผ่นป้ายทะเบียนและซื้อประกัน) ต้องยื่นขอทะเบียนรถ ติดแผ่นป้ายทะเบียน โดยมีหนังสือยินยอมจากนายจ้าง และต้องซื้อประกันภัยภาคบังคับ ส่วนรถจักรยานไฟฟ้าที่ซื้อก่อน 30 พ.ย. 65 ผ่อนผันให้ยื่นขอทะเบียนรถ ติดแผ่นป้ายทะเบียนและซื้อประกันภัยภาคบังคับภายใน 2 ปี โดยไม่ต้องแนบหนังสือยินยอมจากนายจ้างเหมือนรถซื้อใหม่
ท่านที่ต้องการทราบขั้นตอนและการเตรียมเอกสารในการยื่นขอทะเบียนรถ ขอแผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานไฟฟ้า อ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีฉบับภาษาไทย ได้ที่ : https://www.mvdis.gov.tw/files/m3/car/th_TH.pdf
กรมการขนส่งทางบกเตือน 30 พ.ย. 65 เป็นต้นไป ซื้อรถจักรยานไฟฟ้าคันใหม่ต้องยื่นขอป้ายทะเบียนและซื้อประกันภาคบังคับ จึงจะขับขี่บนท้องถนนได้ ส่วนรถที่ซื้อก่อนเวลาดังกล่าว ผ่อนผันให้ดำเนินการภายใน 2 ปี
4. จับไม่หมด! 5 แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายรวมตัวตั้งแก๊งมอดไม้ ลักลอบตัดไม้สงวน 127 กก. ส่งต่อให้ชาวไต้หวัน ถูกรวบทั้งแก๊ง
แรงงานเวียดนามผิดกฎหมาย 5 คน จับมือกับชาวไต้หวัน ลักลอบตัดไม้สงวนราคาแพงในป่าลึกเมืองหนานโถว ลำเลียงออกจากป่าส่งต่อให้นายหยาง ชายชาวไต้หวันและพวก 3 คนที่รับผิดชอบหาลูกค้า ขณะที่แรงงานเวียดนามทั้ง 5 ลำเลียงไม้ปุ่มฮิโนกิราคาแพงน้ำหนัก 126.94 กก. ออกจากป่าถึงจุดนัดพบ ถูกตำรวจตรวจพบ จับกุมได้พร้อมของกลาง หลังสอบปากคำนำไปสู่การจับกุมนายหยาง ชายชาวไต้หวันและพวก 3 คน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหาลูกค้า การจับมือกันทำผิดกฎหมายข้ามชาติคดีนี้ ถูกตำรวจทลายทั้งขบวนการ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 65 สำนักงานอัยการเมืองหนานโถวสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ข้อหาลักลอบตัดและโจรกรรมไม้สงวน
แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายรวมตัวตั้งแก๊งมอดไม้ ลักลอบตัดไม้สงวน 127 กก. ส่งต่อให้ชาวไต้หวัน ถูกรวบทั้งแก๊ง
ตำรวจป่าไม้แถลงว่า แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายแก๊งนี้ มีทั้งหมด 5 คน ร่วมกับชาวไต้หวันอีก 3 คน โดยรับผิดชอบตัดไม้ฮิโนกิ ซึ่งเป็นไม้หอมราคาแพงและเป็นไม้สงวนในป่าลึกของตำบลเหรินอ้ายในเมืองหนานโถว จำนวน 15 ท่อน จากนั้นแบกท่อนไม้และไม้ปุ่มเหล่านี้ออกจากป่า ส่งมอบให้นายหยาง ชายชาวไต้หวันและพวก 3 คน เพื่อนำไปขายต่อให้ลูกค้า แต่ถูกตำรวจป่าไม้ที่ตรวจลาดตระเวนพบและจับกุมเสียก่อน
ไม้ปุ่มฮิโนกิที่แรงงานเวียดนามลักลอบตัด
นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายถูกจับและศาลพิพากษาลงโทษแล้วหลายสิบคดี ตำรวจป่าไม้เมืองหนานโถวกล่าวว่า แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายนับวันเหิมเกริมมากขึ้น จากที่อดีตเป็นเพียงผู้รับจ้างตัดและขนไม้อย่างเดียว ปัจจุบัน รวมตัวกันตั้งแก๊งตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย ยกระดับมาเป็นเถ้าแก่ หรือเป็นหุ้นส่วนในการลักลอบตัดพันธุ์ไม้สงวนราคาแพง อย่างไม้ฮิโนกิ ซึ่งเป็นไม้ตระกูลสน มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าไซเพรส (Cypress) ขึ้นบนยอดเขาสูงที่มีอากาศเย็น จุดเด่นของไม้ฮิโนกิคือมีกลิ่นหอม หรือบางคนเรียกว่า “ไม้หอม” เป็นไม้ที่ดูดกลิ่นอับได้ดี สามารถป้องกันแมลงต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น มด ปลวกและเชื้อรา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะไม้ฮิโนกินั้นมีสารเอสเซนเชียลออยล์หรือน้ำมันหอมระเหย นิยมนำไปทำสบู่ น้ำหอม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินหายใจได้ ฯลฯ ด้วยคุณสมบัติดีๆ อย่างที่กล่าวมา จึงเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ทุกวันนี้ต้นฮิโนกิเหลือน้อยและมีราคาแพง ในไต้หวันจัดให้เป็นไม้หวงห้าม ห้ามตัดห้ามซื้อขาย แต่ยังปรากฏข่าวลักลอบตัดและลำเลียงเป็นประจำ ที่ผ่านมา แก๊งลักลอบตัดไม้ฮิโนกิ หรือแก๊งมอดไม้ในไต้หวัน นิยมว่าจ้างหรือร่วมมือกับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานเวียดนาม
สื่อประชาสัมพันธ์เตือนอย่าตัดไม้ทำลายป่า จากกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน ไต้หวัน
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเตือนว่า ความผิดฐานตัดไม้ทำลายป่า เป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก 1 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 7 ปี และปรับเงิน 20 ล้านเหรียญไต้หวัน ส่วนการล่าสัตว์ป่าสงวน มีโทษจำคุก 6 เดือนขึ้นไป ไม่เกิน 5 ปี ปรับเงิน 200,000-1,000,000 เหรียญไต้หวัน กรณีที่ลงภาพโฆษณาเพื่อหาลูกค้าหรือเพื่อการจำหน่าย มีโทษจำคุกต่างหาก 6 เดือนขึ้นไป ไม่เกิน 5 ปี ปรับเงิน 300,000-1,500,000 เหรียญไต้หวัน
สื่อประชาสัมพันธ์เตือนอย่าตัดไม้ทำลายป่า จากกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน ไต้หวัน
ด้านกรมป่าไม้ คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารเตือนว่า กฎหมายป่าไม้เพิ่มโทษปรับผู้ขโมยผลิตผลป่าไม้ ทั้งไม้และของป่าอย่างอื่น ผู้ใดลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ร่วมขนย้าย ช่วยผู้อื่นเก็บรักษาหรือรับซื้อไม้หรือของป่าทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย มีโทษทางอาญาและโทษปรับ การคุกคามระบบนิเวศและภูมิทัศน์ทางธรรมชาติอันล้ำค่า นอกจากโทษจำคุกสูงสุด 10.5 ปี และมีโทษปรับ 1.5-30 ล้านเหรียญไต้หวันแล้ว เมื่ออัยการสั่งฟ้องหรือศาลตัดสินมีความผิด กระทรวงแรงงานจะเพิกถอนใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายการจ้างงาน และห้ามเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันตลอดไป จึงเตือนว่าอยาทำผิดกฎหมาย หากท่านทราบเบาะแสการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โปรดโทรศัพท์แจ้งความได้ที่ 0800-000-930 มีรางวัลนำจับสูงสุด 3 ล้านเหรียญไต้หวัน