close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566

  • 03 March, 2023
ขุนพล แรงงานไทย
แรงงานต่างชาติยังต้องไปเสียค่าห้องกักตัวสังเกตอาการที่โรงแรม 7 วัน

1. NGO วิจารณ์ แม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดน แต่แรงงานต่างชาติยังต้องเสียค่ากักตัวราคาแพง เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการที่ไม่เป็นธรรมโดยเร็ว กระทรวงแรงงานระบุ ได้ทบทวนและทยอยผ่อนคลาย รอการอนุมัติจากศูนย์บัญชาการควบคุมโรค

           สถานการณ์โควิดในไต้หวัน ปัจจุบันแม้แต่ละวันยังคงมียอดผู้ป่วยยืนยันเป็นหลักหมื่น แต่อาการป่วยไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์รุ่นแรก ๆ ทำให้ความหวาดผวาของผู้คนลดน้อยลง และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไต้หวันมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิดลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมพรมแดน 0+7 คือไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป เพียงแค่สังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 7 วัน และระหว่างนี้สามารถออกนอกสถานที่ได้ หากผลตรวจ ATK เป็นลบ รวมถึงมาตรการป้องกันโรคในชีวิตประจำวัน อย่างมีการอนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยภายในอาคารได้แล้ว ยกเว้นการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน และในบางสถานที่หรือกิจกรรมบางอย่าง

MENT แนวร่วมกลุ่ม NGO เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานต่างชาติโดยเร็ว

           แต่สำหรับแรงงานต่างชาติแล้ว ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคกล่าวว่า แม้จะใช้มาตรการ 0+7 อย่างเดียวกับผู้โดยสารชาวไต้หวันและชาวต่างชาติทั่วไป แต่เนื่องจากแรงงานต่างชาติอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โอกาสเสี่ยงยังสูง กำหนดให้ต้องสังเกตอาการตนเองในห้องพักเดี่ยวที่มีห้องน้ำในตัว หากเป็นหอพักโรงงาน ต้องผ่านการตรวจและรับรองจากหน่วยงานท้องที่ที่เกี่ยวข้องก่อน แต่หอพักโรงงานส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ทางการกำหนด นายจ้างตัดปัญหาให้แรงงานต่างชาติไปพักสังเกตอาการในโรงแรมเป็นเวลา 7 วัน สำหรับแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่ นายจ้างส่วนใหญ่รับผิดชอบค่าห้องพัก ไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะสร้างความเดือดร้อนอย่างยิ่งสำหรับแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว ขากลับเข้าไต้หวันต้องรับผิดชอบค่าโรงแรม 7 วัน ซึ่งแพงกว่าค่าเดินทางไป-กลับเสียอีก ทำให้มีเสียงบ่นและเรียกร้องขอให้ยกเลิกมาตรการที่ไม่เป็นธรรมนี้จากกลุ่มแรงงานต่างชาติมากขึ้น

MENT แนวร่วมกลุ่ม NGO วิจารณ์ว่า แม้จะผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดน แต่แรงงานต่างชาติยังต้องเสียค่ากักตัวราคาแพง เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการที่ไม่เป็นธรรมโดยเร็ว

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ เครือข่ายสนับสนุนและเสริมพลังแรงงานย้ายถิ่นในไต้หวัน (MENT) ซึ่งเป็นแนวร่วมกลุ่ม NGO จัดแถลงข่าววิจารณ์ว่า การเดินทางเข้าไต้หวันของแรงงานต่างชาติ ยังมีมาตรการยุ่งยากและไม่เป็นธรรมหลายประการ โดยเฉพาะกับแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว ก่อนการเดินทาง จะต้องยื่นขออนุญาตกลับเข้ามาในไต้หวันอีกทุกครั้ง (Re-entry Permit) และต้องกลับเข้าไต้หวันภายในกำหนด มิเช่นนั้นจะไม่สามารถกลับเข้าไต้หวัน หรือกลับได้ก็ต้องทำเรื่องใหม่ยุ่งยากมาก และก่อนจะกลับสู่ไต้หวัน ต้องให้นายจ้างหรือบริษัทจัดหางานลงทะเบียนในเว็บไซต์ศูนย์บริการแรงงานต่างชาติประจำสนามบิน พร้อมจองโรงแรมสำหรับสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 7 วัน ส่วนผู้อนุบาลในครัวเรือน แม้นายจ้างจะมีห้องพักเดี่ยวที่มีห้องน้ำในตัวให้พักสังเกตอาการ 7 วัน แต่ก็ต้องลงทะเบียนก่อนการเดินทางกลับไต้หวันเช่นกัน

กลุ่ม NGO วิจารณ์มาตรการของรัฐที่ไม่เป็นมิตรและไม่เป็นธรรมต่อแรงงานต่างชาติหลายประการ

           เครือข่ายสนับสนุนและเสริมพลังแรงงานย้ายถิ่นในไต้หวันกล่าวเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิกข้อบังคับที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้เสีย โดยเฉพาะการกักตัวสังเกตอาการตนเองที่โรงแรมเป็นเวลา 7 วัน และมาตรการบังคับต้องขออนุญาตกลับเข้ามาในไต้หวันอีกทุกครั้ง ควรจะปฏิบัติอย่างเสมอภาค เฉกเช่นอย่างเดียวกับชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ นักศึกษา ชาวต่างชาติที่มีทักษะฝีมือหรือแรงงานไวท์คอลลาร์ เป็นต้น สามารถเข้าออกไต้หวันได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งตราบเท่าที่ใบถิ่นอยู่ที่หรือ ARC ยังไม่หมดอายุ เพื่อให้การควบคุมพรมแดนและการเข้าออกเมืองมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

ภาพบรรยากาศแรงงานต่างชาติกลุ่มหนึ่งเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเทาหยวน กำลังฟังคำแนะนำขั้นตอนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานประจำสนามบิน

           ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อเรียกร้องของกลุ่ม NGO ดังกล่าว กระทรวงแรงงานชี้แจงว่า แรงงานต่างชาติกลับไปเยี่ยมครอบครัวแล้วกลับเข้าไต้หวันใหม่ มีกฎระเบียบเช่นเดียวกับผู้โดยสารชาวไต้หวันและต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวัน นั่นคือ ใช้มาตรการไม่ต้องกักตัว แต่ให้สังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 7 วัน หรือที่เรียกกันว่ามาตรการ 0+7 เมื่อมีอาการจึงจะตรวจ ATK และก่อนการเดินทางเข้าสู่ไต้หวัน จะต้องมีวีซ่าเข้าเมืองหรือการอนุญาตกลับเข้ามาในไต้หวันอีก (Re-entry Permit) ที่มีผลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เช่นเดียวกับชาวต่างชาติทั่วไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โควิดทุเลาลงไปมาก กระทรวงแรงงานได้ทบทวนและผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าไต้หวันสำหรับแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่และที่เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว รวมถึงผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับสถานที่และวิธีการสังเกตอาการตนเอง เสนอให้ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคพิจารณาแล้ว หากอนุมัติแล้วจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

แรงงานต่างชาติตำแหน่งผู้อนุบาลในครัวเรือนเดินทางถึงไต้หวัน จะมีรถบัสโดยสารของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จไปรับที่สนามบิน (ภาพจากกรมพัฒนากำลังแรงงาน)

          เรื่องการสังเกตอาการ 7 วันที่กำหนดให้ต้องพักห้องเดี่ยวและมีห้องน้ำในตัว หอพักโรงงานทั่วไปไม่สามารถสอดคล้องกับเงื่อนไขได้ ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ต้องให้แรงงานไปพักยังโรงแรม ค่าห้อง 7 คืนอย่างต่ำ 15,000-20,000 เหรียญไต้หวัน สำหรับแรงงานที่จะกลับบ้านไปพักร้อนแล้ว เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อย ในเมื่อสถานการณ์โควิดบรรเทาลงอย่างต่อเนื่อง หวังว่า จะมีการผ่อนคลายมาตรการนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อแรงงานต่างชาติทั่วกัน

2. ปี 2565 คนงานไทยในไต้หวันฆ่าตัวตายแล้วร่วม 20 คน! 50 วันแรกของปีใหม่เสียชีวิตแล้ว 3 ราย สนร. วอนร่วมหยุด“การฆ่าตัวตาย” ชีวิตยังมีค่า ทุกปัญหามีทางออก!

          แรงงานไทยในไต้หวันมีแนวโน้มทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตายมากขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะปี 2565 ที่ผ่านมา ฆ่าตัวตายไปแล้ว 18 ราย จากยอดจำนวนการเสียชีวิตของคนไทยในไต้หวันที่เสียชีวิตในปี 2565 จำนวน 101 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาส่วนตัว อาทิ ภาวะโรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพ ความรักและภาระหนี้สิน เป็นต้น ทำให้เกิดความเครียด สำนักงานแรงงานไทย ไทเป วอนร่วมด้วยช่วยกัน แนะรับฟังปัญหาและเคียงข้างเพื่อนรอบข้างที่มักมองโลกในแง่ลบ เพราะเพียงนาที ชีวิตเปลี่ยนได้

วอนร่วมหยุด“การฆ่าตัวตาย”ทุกปัญหามีทางออก แนะรับฟังและเคียงข้างเพื่อนรอบข้างที่มักมองโลกในแง่ลบ

          เริ่มต้นปีใหม่ 2566 แนวโน้มดังกล่าวยังขยายไม่หยุด มีคนงานไทยฆ่าตัวตายไปแล้วอย่างน้อย 3 ราย ล่าสุดเป็นแรงงานไทยอายุ 29 ปี มาจากจังหวัดอุดรธานี เดินทางมาทำงานกับโรงงานผลิตสายไฟและเคเบิลที่เขตหลูจู๋ นครเถาหยวนเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา มีเพื่อนแรงงานไทยพบใช้เชือกผูกคอกับราวบันไดหอพักที่ชั้นสองหย่อนตัวลงชั้นหนึ่ง รีบแจ้งผู้จัดการเรียกรถพยาบาล ช่วยกันนำร่างลงมาส่งรักษาที่โรงพยาบาลฉางเกิง ขณะไปถึง แพทย์ช่วยกู้ชีพให้หัวใจกลับมาทำงานได้ แต่เนื่องจากสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงเป็นเวลานาน แม้หัวใจจะทำงาน แต่มีภาวะเป็นผักตลอดไป นายจ้างและบริษัทจัดหางานช่วยประสานงานกับญาติที่เมืองไทย อธิบายความเห็นของแพทย์ ญาติตัดสินใจไม่กู้ชีพอีกหากมีภาวะฉุกเฉิน 2 วันต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล จากการบอกเล่าของเพื่อน ๆ ในโรงงาน ก่อนเกิดเหตุ แรงงานไทยรายนี้มีสีหน้าหงอยเหงา ไม่ค่อยพูดจา แต่ไม่แสดงอาการจะจบชีวิตตัวเองเช่นนี้ ทางนายจ้างและบริษัทจัดหางานบอกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้และจะช่วยเหลือทายาทจัดการศพและยื่นขอเงินสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันได้นิมนต์พระไทยมาทำพิธีสวดมนต์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่แรงงานไทยในหอพักที่มีประมาณ 30 คนเศษ

ผู้มีปัญหาทุกข์ใจและไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร อย่าลังเลใจที่จะปรึกษาคนอื่น ให้รีบปรึกษาคนรู้จักที่เราคิดว่าไว้ใจได้ น่าจะให้คำแนะนำหรือช่วยได้

          จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง จะส่งผลกระทบต่อคนใกล้เคียงอย่างน้อย 6 คน หากเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงงานจะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมากได้ ปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากความถี่ของปัญหามีมากขึ้นกว่าในอดีต รวมทั้งระดับความเครียด ความกดดันที่สูงขึ้นของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ในขณะที่ความแข็งแรงของสุขภาพจิตที่ลดลง

          สำนักงานแรงงานไทย ไทเป วอนแรงงานไทยร่วมด้วยช่วยกัน เมื่อพบว่า เพื่อนร่วมงานมีลักษณะบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแล้ว ต้องรีบให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน ซึ่งทำได้ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คนที่คิดฆ่าตัวตายมักมองโลกในแง่ลบ คิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้ เราจึงควรเป็นฝ่ายเข้าหาเขามากกว่ารอให้เขาร้องขอ โดยปกติ ก่อนเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นสามารถสังเกตเห็นเป็นสัญญาณได้หลายอย่าง เช่น คิดว่าตัวเองไร้ค่า มีแต่ความล้มเหลวทำอะไรไม่สำเร็จ รู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร คิดถึงคนที่ตายไปแล้ว สนใจข่าวการตาย ขาดความสนใจในตัวเอง ปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่ดูแลตัวเอง ไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ ไม่นอน ชอบเก็บตัวตามลำพัง แยกตัวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่รู้สึกสนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบ มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้าจัด ขับรถเร็ว พูดบ่น หรือเขียนข้อความเกี่ยวกับความคิดอยากตาย เป็นต้น

         นางสาวประภาวดี แก้วศิริพงษ์ ผอ. สำนักงานแรงงานไทยกล่าวเรียกร้องว่า การรับฟังและเคียงข้างผู้ที่มีภาวะที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย แม้เพียงเวลาเล็กน้อย หรือเพียง 24 ชม. ก็อาจช่วยให้เขาเปลี่ยนความคิดให้ดีขึ้น และยับยั้งชั่งใจตัวเองได้

3. แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายไม่มีเงินซื้ออาหาร หิวจนตาลายกินหัวบอนกระดาด ปากบวมชาอาเจียนหนักล้มกลางซอย โชคดีที่ชาวบ้านเห็นแจ้งตำรวจนำส่งรักษาทันท่วงทีรอดชีวิตมาได้

         นายเหงียน แรงงานเวียดนามอายุ 31 ปี เดินทางมาทำงานที่เขตลู่จู๋ นครเกาสง แต่หลบหนีออกไปทำงานอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2565 แต่ชีวิตคนงานผิดกฎหมายไม่ราบรื่นอย่างที่คิด หางานทำยาก เมื่อไม่มีรายได้ก็ไม่สามารถซื้อหาอาหารมาลงท้อง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หิวจนตาลายขุดหัวบอนกระดาด ซึ่งมีลักษณะคล้ายเผือก แต่มีพิษร้ายแรงมากินประทังความหิว ที่ไหนได้ เมื่อกินลงท้อง ปากลิ้นชาบวมเป่งและอาเจียนหนัก ล้มกลางซอยแห่งหนึ่งในเขตฉีซาน ชาวบ้านพบเห็นรีบโทรศัพท์แจ้งความ ตำรวจรุดไปที่เกิดเหตุ เห็นชายคนหนึ่งเปลือยกายหน้าซีดเหลืองล้มฟุบกลางถนน และอาเจียนและมีอาการตัวสั่นดูเหมือนทุกข์ทรมานมาก ตำรวจจึงรีบเรียกรถพยาบาลนำส่งรักษา โชคดีที่ทันท่วงที แพทย์ช่วยกู้ชีวิตเอาไว้ได้

แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายไม่มีเงินซื้ออาหาร หิวจนตาลายกินหัวบอนกระดาด ปากบวมชาอาเจียนหนักล้มกลางซอย

        ตำรวจเกาสงกล่าวว่า ชายคนดังกล่าว ชื่อนายเหงียน เป็นแรงงานเวียดนามผิดกฎหมาย อายุ 31 ปี เนื่องจากหางานทำไม่ได้ไม่มีเงินและไม่ได้กินอาหารมาหลายวัน เกิดอาการหิวอย่างรุนแรง เห็นต้นบอนใบยักษ์ที่ขึ้นอยู่ข้างถนน นึกว่าเป็นเผือกและกินได้ ขุดหัวขึ้นมากินประทังความหิว แต่หลังจากกินลงท้อง ปากลิ้นเริ่มชาและบวมเป่ง มีอาการมึนศีรษะและอาเจียนอย่างหนัก เข่าอ่อนล้มฟุบกลางซอย ขณะที่ตำรวจไปถึงช่วยนำส่งรักษาพยาบาลอยู่ในอาการหมดสติ ยังดีที่ส่งรักษาทัน แพทย์ช่วงชีวิตเอาไว้ได้ หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว นำตัวไปยังสถานกักกัน รอการส่งกลับประเทศต่อไป

แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายไม่มีเงินซื้ออาหาร หิวจนตาลายกินหัวบอนกระดาด ปากบวมชาอาเจียนหนักล้มกลางซอย

       แพทย์ที่ให้การรักษาเตือนว่า บอนกระดาด เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะใกล้เคียงบอน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักขึ้นในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น หัวบอนกระดาดมีลักษณะคล้ายหัวเผือก แต่กินไม่ได้ เพราะมีพิษ หากเผลอกินและส่งรักษาไม่ทัน มีโอกาสเสียชีวิตสูง

       ด้านตำรวจเกาสงกล่าวเตือนว่า การหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ไม่มีหลักประกันและหางานทำยากมาก เพราะนายจ้างทั่วไปไม่กล้าจะว่าจ้าง หากถูกจับกุมนายจ้างจะถูกปรับตั้งแต่ 150,000-750,000 เหรียญ กรณีทำผิดซ้ำใน 5 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีและปรับไม่เกิน 1,200,000 เหรียญไต้หวัน ตัวแรงงานเองจะถูกปรับ 30,000-150,000 เหรียญ นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่าปรับฐานอยู่เลยกำหนด ที่สำคัญคนงานผิดกฎหมายและอาจตกเป็นเครื่องมือหรือเหยื่อของแก๊งค้ามนุษย์ได้ง่าย จึงเรียกร้องอย่าทำผิดกฎหมาย เพราะชีวิตแรงงานผิดกฎหมายลำบากมาก นอกจากกังวลเรื่องหางานทำแล้ว ยังต้องผวาถูกจับกุมตลอดเวลา สู้อดทนทำงานที่เดิมและประหยัดอดออมไม่ได้ มีหลักประกันและค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ที่สำคัญมีสุขภาพจิตและกายดี เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องงานและไม่ต้องผวาถูกจับ

       สำหรับคนที่หลบหนีไปแล้ว ขณะนี้เป็นโอกาสดีเข้ารายงานตัวเดินทางกลับบ้านก่อน 30 มิถุนายน ปีนี้ โดยเสียค่าปรับต่ำสุดเพียง 2,000 เหรียญ ไม่ถูกกักกันและไม่ถูกจำกัดสิทธิ์ในการเดินทางเข้าไต้หวัน

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง