:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566

  • 19 May, 2023
ขุนพล แรงงานไทย
เป็นไปได้ไหมที่ไต้หวันจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีวันหยุดพักสัปดาห์ละ 3 วัน

1. ค่าจ้างขั้นต่ำมีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อเนื่อง ผู้ประกอบการบ่นแรงงานท้องถิ่นได้รับประโยชน์เพียง 10% ด้านแรงงานโอด ค่าจ้างเพิ่มแต่กลับไม่พอเลี้ยงชีพ

            ท่ามกลางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ทหารและตำรวจในปีหน้า ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงาน ก็มีแนวโน้มจะปรับขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ รมว. กระทรวงแรงงานเคยให้สัมภาษณ์ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้า ต้องดูจากดัชนีทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะมีการพิจารณาและลงมติว่า จะปรับขึ้นหรือไม่ เท่าไหร่? ในไตรมาสที่ 3 ประมาณเดือนกันยายนของปีนี้ แต่ก็คาดหวังว่าจะปรับขึ้น 3% ต่อเรื่องนี้ นายเหออวี่ กรรมการสามัญของสภาอุตสาหกรรมไต้หวัน ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของนายจ้างกล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และประเด็นนี้ จะพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนกันยายนปีนี้ โดยในขณะนั้น จะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการสั่งซื้อสินค้าในต้นปีหน้าเป็นอย่างไร? ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีโอกาสยุติลง ถึงเวลานั้นค่อยมาดูกันว่า ควรปรับขึ้นในอัตราเท่าไหร่?

สวี่หมิงชุน รมว. กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือน 26,400 เหรียญ รายชั่วโมงปรับเป็น 176 เหรียญ ตั้งแต่  1 ม.ค. 66

            อย่างไรก็ตาม กรรมการสภาอุตสาหกรรมไต้หวันผู้นี้กล่าวว่า เนื่องจากจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม ต้นปีหน้า ดังนั้น ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ เพื่อที่จะเอาใจผู้ใช้แรงงานและเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง กระทรวงแรงงานจะต้องหาทางปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจนได้ แต่เขากล่าวว่า สำหรับผู้ใช้แรงงานแล้ว มีความชินชาต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และจะไม่รู้สึกขอบคุณต่อการกระทำดังกล่าวของรัฐบาล ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ ก็คือ ผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อ 26 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4.56% เป็น 26,400 เหรียญ แต่พรรครัฐบาลก็ยังพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างย่อยยับ นายเหออวี่กล่าวว่า สำหรับความหวังผู้ใช้แรงงานทั่วไปแล้ว ต้องการหน้าที่การงานที่มีความมั่นคง มีหลักประกัน บริษัทที่ทำงานมีกิจการดี จะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างและมีเงินโบนัสเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะแรงงานท้องถิ่นมีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แม้แต่แรงงานต่างชาติในภาคการผลิตก็มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับค่าจ้างมากกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสียอีก

ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี ในปี 2567 มีแนวโน้มจะมีการปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยจะประกาศในเดือนกันยายนปีนี้

           ด้านแรงงานท้องถิ่นจำนวนมากก็สะท้อนความเห็นว่า ยิ่งปรับขึ้นค่าจ้างก็ยิ่งไม่พอใช้ เพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขอัตราภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและสินค้าที่ปรับขึ้นราคากันถ้วนหน้า แม้จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่รู้สึกได้อย่างชัดเจนเลยว่า สภาพเงินไม่พอใช้รุนแรงกว่า 2-3 ปีก่อน

แรงงานชาวไต้หวันบ่นค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก (ภาพจาก CNA)

           อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน อยู่ที่ 26,400 เหรียญ ปรับขึ้นจากปี 2565 ในอัตรา 4.56% รายชั่วโมงเป็น 176 เหรียญ ปรับขึ้น 4.8% และเนื่องจากการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน รัฐวิสาหกิจ ทหารและตำรวจ ค่อนข้างจะแน่นอนแล้ว และอัตราการปรับขึ้นน่าจะสูงถึง 3% ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่? ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้จัดประชุมในไตรมาสแรกไปแล้ว โดยมีองค์ประกอบเป็นผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการและหน่วยงานรัฐจำนวน 21 คน ได้มาหารือแนวโน้มและสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงดัชนี สถิติด้านต่าง ๆ และภาวะของธุรกิจอุตสาหกรรมทุกสาขา รมว. กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นประธานโดยตำแหน่งของคณะกรรมการชุดดังนี้กล่าวว่า การประชุมในครั้งแรกของคณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะพิจารณาเฉพาะแนวโน้มและภาวะทางเศรษฐกิจ แต่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของปีหน้าหรือไม่? เท่าไหร่? ต้องรอการประชุมในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนกันยายนปีนี้ ส่วนตนจะพยายามจะให้มีการปรับขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 และคาดหวังว่า น่าจะไม่ต่ำกว่า 3%

นายจ้างบอกว่า ผู้ได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคือแรงงานต่างชาติ ในภาพเป็นแรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้าง

2. สลด! แรงงานเวียดนามผิดกฎหมายพลาดตกจากตึกชั้น 12 ดับอนาถ นครไทจงสั่งปิดไซต์งานก่อสร้าง เอาผิดผู้รับเหมาละเลยความปลอดภัยในการทำงานและว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมายเข้าทำงาน

          เกิดเหตุแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายพลาดตกตึกเสียชีวิตในไซต์งานก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาคเอกชนที่นครไทจงแห่งหนึ่ง กองแรงงาน นครไทจงแถลงว่า นอกจากสั่งปิดไซต์งานก่อสร้างดังกล่าว ตรวจสอบความรับผิดชอบและดำเนินคดีทางอาญากับผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการแล้ว ผู้รับเหมายังจะถูกปรับสูงสุด 750,000 เหรียญ ฐานว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมายเข้าทำงานด้วย

ที่เกิดเหตุเป็นอาคารพาณิชย์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

          นายจางต้าชุน ผู้อำนวยการกองแรงงาน นครไทจงแถลงว่า สถานที่เกิดเหตุดังกล่าว เป็นไซต์งานก่อสร้างกลุ่มอาคาร 11 หลังของภาคเอกชน ตั้งอยู่ในเขตเป่ยถุน นครไทจง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติรายหนึ่ง ขณะรื้อถอนนั่งร้านแผ่นไม้บนช่องลิฟต์ชั้น 12 เหยียบพลาดตกลงมาถึงพื้นชั้นใต้ดิน หลังกองแรงงานได้รับแจ้งเหตุ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุและสั่งให้ไซต์งานนี้หยุดทำงานทันที จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า ขณะทำงานรื้อถอนนั่งร้านแผ่นไม้ในช่องลิฟต์บนชั้น 12 ผู้รับเหมาไม้แบบไม่ได้ให้แรงงานคาดเข็มขัดนิรภัย และไม่ได้ขึงตาข่ายป้องกันการร่วงตกตามกฎหมายด้วย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัยการทำงานและอาชีวอนามัย ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบทางอาญา จึงสั่งปิดไซต์งานดังกล่าวชั่วคราว เพื่อตรวจสอบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ วิเคราะห์ ปรับปรุงอุปกรณ์ความปลอดภัยและเพิ่มความเข้มงวดในการบริหารความปลอดภัยในไซต์งาน เมื่อปฏิบัติตามจนได้มาตรฐานตามที่กำหนดแล้ว จึงจะอนุญาตให้ก่อสร้างต่อไปได้

แรงงานเวียดนามพลาดตก ขณะรื้อถอนไม้แบบในช่องลิฟต์บนชั้น 12 ของอาคาร พลาดตกลงไปชั้นใต้ดินเสียชีวิตคาที่

         จากการตรวจสอบผู้เสียชีวิตเป็นแรงงานผิดกฎหมายชาวเวียดนาม เดินทางมาทำงานตำแหน่งผู้อนุบาล แต่หลบหนีนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและไปหางานทำตามไซต์งานก่อสร้าง เนื่องจากว่าจ้างชาวต่างชาติเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงาน ต้องระวางโทษปรับสูงสุด 750,000 เหรียญไต้หวัน ในส่วนความปลอดภัยในการทำงาน ผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการต้องรับผิดชอบทางอาญา ข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังต้องรับผิดชอบค่าจัดการศพ รวมทั้งประนีประนอมกับทายาทผู้ตายจ่ายเงินค่าเสียหาย

         แรงงานต่างชาติหลบหนีนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ หากถูกตรวจพบ นอกจากเสียค่าปรับแล้ว ยังจะถูกส่งกลับประเทศ ห้ามเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันอย่างน้อย 8 ปี ใครที่หลบหนี ช่วงนี้จนถึง 30 มิ.ย. 66 เป็นโอกาสดีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำลังมีโครงการลดหย่อนโทษให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในไต้หวันอย่างผิดกฎหมาย ถือโอกาสรีบเข้ารายงานตัวนะครับ นอกจากนี้ เตือนแรงงานไทยที่มีแผนหลบหนีต้องคิดให้รอบคอบ เนื่องจากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายแล้ว ขาดหลักประกัน ไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันภัยแรงงานและประกันสุขภาพของรัฐ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและผลประโยชน์ของตัวแรงงานเอง

         จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ยอดจำนวนสะสมของแรงงานต่างชาติหลบหนีและยังไม่ถูกตรวจพบสูงถึง 83,590 คน ในจำนวนนี้แรงงานเวียดนามมีมากที่สุด 52,178 คน ครองสัดส่วน 62.42% แรงงานอินโดนีเซีย 26,926 คน อัตราส่วน 32.31% ฟิลิปปินส์ 2,614 คน สัดส่วน 6.77% ส่วนแรงงานไทยที่หลบหนีและยังไม่ถูกตรวจพบมี 1,844 คน หรืออัตราส่วน 4.78% เทียบกับปี 2562  ตัวเลขแรงงานไทยหลบหนี 796 คน เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว

3. มีลุ้นไหม? ชาวไต้หวันกว่า 5,000 คน ลงชื่อในเว็บรณรงค์สนับสนุนให้หยุดพักสัปดาห์ละ 3 วัน หวังเป็นแห่งแรกในเอเชีย รอง นรม. ชี้ รัฐจะชี้แจงจุดยืนภายใน 26 มิ.ย. นี้

        เป็นไปได้ไหมที่ไต้หวันจะมีวันหยุดจากปัจจุบันสัปดาห์ละ 2 วัน เป็น 3 วัน? มีชาวเน็ตไต้หวันที่ใช้นามแฝงว่า Lucus สร้างแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ของคณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติ อยากให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีวันหยุดสัปดาห์ละ 3 วัน เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกา ปรากฏว่า มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 5,735 คน เกินกว่ามาตรฐาน 5,000 คนที่รัฐบาลจะต้องออกมาชี้แจงและแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการ

เป็นไปได้ไหมที่ไต้หวันจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีวันหยุดพักสัปดาห์ละ 3 วัน

        Lucus กล่าวในรายละเอียดที่โพสต์ในเว็บว่า ความรู้สึกเกลียดและเบื่อหน่ายวันจันทร์ หรือ Monday Blues เป็นฝันร้ายของมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ มีวิธีไหนที่จะแก้อาการดังกล่าวและยกระดับความอยากทำงานให้สูงขึ้นหรือไม่ ธุรกิจในยุโรปและอเมริกาบางแห่ง เริ่มทดลองนำระบบวันหยุดสัปดาห์ละ 3 วันมาใช้ ผลการทดลองพบว่า พนักงานกว่า 3,000 คนจาก 61 บริษัท มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น รายได้ประกอบการของบริษัทเพิ่มขึ้น 35% อัตราการลาออกลดน้อยลง 57% และพนักงานที่เข้าร่วมโครงการทดลอง 97% ประสงค์จะให้มีวันหยุดสัปดาห์ละ 3 วันต่อไป ในประเด็นนี้ ผู้สนับสนุนแสดงความเห็นว่า หยุดสัปดาห์ละ 3 วันกำลังพอดี ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ไม่ตกเป็นทาสของงานต่อไป บางคนบอกใช่ว่าจะกลัวเหน็ดเหนื่อย แต่การทำงานและการพักผ่อนต้องสมดุลกัน และงานที่สามารถทำให้เสร็จได้ใน 4 วัน ทำไมต้องทำถึง 5 วัน บางคนยกตัวเลขมายืนยันว่า ปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานกาณร์การระบาดของโรคโควิด-19 ยอดจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อปีของแรงงานในไต้หวันยังสูงถึง 2,000 ชั่วโมง มากที่สุดอันดับ 4 ของโลก การมีวันหยุดสัปดาห์ละ 3 วัน จะช่วยล้างภาพลักษณ์ในด้านลบและเกาะแห่งการทำงานหนักได้

ชาวไต้หวันกว่า 5,000 คน ลงชื่อในเว็บรณรงค์สนับสนุนให้หยุดพักสัปดาห์ละ 3 วัน หวังเป็นประเทศแรกในเอเชีย

       แต่ก็มีคนจำนวนมากแสดงความเห็นคัดค้านว่า หากหยุดสัปดาห์ละ 3 วัน บางกิจการอาจประสบปัญหา ต้องหาพนักงานมาทำงานเสริมเพิ่มขึ้น ทำให้ภาวะขาดแคลนแรงงานในทุกวันนี้รุนแรงอยู่แล้วหนักหน่วงยิ่งขึ้น บางคนกลัวว่า รายได้จะพลอยลดลงไปหรืออาจจะตกงานไปเลย ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่ของไต้หวันบางรายกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป เว็บไซต์จัดหางานหรือจ๊อบแบงก์แสดงความเห็นเตือนว่า หากหยุดพักสัปดาห์ละ 3 วัน อาจส่งผลกระทบต่อช่วงหยุดพักกลางวัน 1 ชั่วโมงในวันทำงาน ถูกลดเวลาลงไปเพื่อไปชดเชยกับวันหยุดที่เพิ่มขึ้น 1 วันและประเด็นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้โดยสารในไทเปรอขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อไปทำงาน เรียนหรือทำธุระอื่น ๆ

       ด้านนายเจิ้งเหวินชั่น รองนายกรัฐมนตรีไต้หวันกล่าวตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวในประเด็นนี้ว่า รัฐบาลจะรายงานแนวโน้มของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและจุดยืนของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 26 มิ.ย. ศกนี้ อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีไต้หวันผู้นี้กล่าวว่า ประเทศในยุโรปมีการทดลองโครงการนี้ แต่สำหรับประเทศในเอเชีย ยังไม่มีประเทศใดเคยทดลองในลักษณะนี้มาก่อน ขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า เป็นไปได้ยาก

แรงงานชาวไต้หวันชุมนุมประท้วงรัฐบาลทีไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาขณะหาเสียงเลือกตั้ง ทำแรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ลำบากขึ้น

       กลุ่มเคลื่อนไหวด้านแรงงานกล่าวว่า ก่อนอื่นขอให้รัฐบาลคืนวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ถูกยกเลิกไป 7 วันให้แก่แรงงานก่อนค่อยมาว่ากัน ทั้งนี้ ผู้ใช้แรงงานในไต้หวัน เดิมมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ปีละ 19 วัน แต่เมื่อ 1 มกราคม 2560 มีการประกาศใช้ระบบวันหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน ในจำนวนนี้ มี 1 วันที่ทำงานล่วงเวลาหรือโอทีได้ พร้อมกันนั้นได้ลดวันหยุดนักขัตฤกษ์ลง 7 วัน เหลือเพียง 12 วัน สร้างความไม่พอใจแก้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก จนถึงทุกวันนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องขอคืนวันหยุดทั้ง 7 วันให้แก่แรงงานอย่างต่อเนื่อง 

สหภาพแรงงานชุมนุมหน้าทำเนียบประธานาธิบดี ประท้วงรัฐบาลทีไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาขณะหาเสียงเลือกตั้ง ทำแรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ลำบากขึ้น

      คณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติของไต้หวันจัดทำแพลตฟอร์มให้ประชาชนสร้างแคมเปญรณรงค์ในเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องการจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากมีผู้สนับสนุนเห็นด้วยเกินกว่า 5,000 คน หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาชี้แจงและแสดงจุดยืนความเป็นไปได้อย่างเป็นทางการภายในเวลา 60 วัน

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง