1. NGO ประท้วงบริษัทจัดหางานเรียกรับค่าใช้จ่ายมั่ว ประชดเผาทำบุญเซ่นไหว้ฮ่าวซงตี้ยังจะดีกว่า กระทรวงแรงงานระบุ การเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันมีหลากหลายช่องทาง ไม่จำเป็นต้องพึ่ง บจง. อย่างเดียว
ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันยังไม่มีแนวโน้มจะแก้ไขได้ แนวร่วมกลุ่ม NGO ชุมนุมประท้วงกล่าวว่า แรงงานต่างชาตินอกจากต้องจ่ายค่าบริการจัดหางานหรือที่เรียกกันว่าค่าหัวคิวเป็นเงินก้อนใหญ่ให้แก่บริษัทจัดหางานก่อนการเดินทาง หลังเดินทางเข้าไต้หวันแล้ว ระหว่างทำงานยังต้องเสียค่าบริการรายเดือนโดยไม่ได้รับการบริการ นอกจากนี้ ยังมีการเรียกเก็บค่าต่อสัญญา ค่าย้ายงานหรือแม้กระทั่งค่ายกระดับแรงงานกึ่งฝีมือ ดังนั้น แทนที่จะถูกขูดรีดจากบริษัทจัดหางาน นำเงินไปซื้อกระดาษเงินกระดาษทองเผาทำบุญเซ่นไหว้ฮ่าวซงตี้ ซึ่งเป็นคำที่เรียกผีไร้ญาติหรือสัมภเวสียังจะดีกว่า กระทรวงแรงงานตอบว่า ส่งเสริมให้นายจ้างใช้บริการจ้างตรงของกระทรวงแรงงานโดยไม่ผ่านบริษัทจัดหางาน ช่วยลดภาระของนายจ้างและแรงงานต่างชาติลงได้ และหากมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมหรือเกินกว่ามาตรฐานกำหนด วอนแรงงานต่างชาติหรือนายจ้างร้องเรียนได้ จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด นอกจากปรับหนักแล้ว ยังจะพักใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหางานเป็นเวลานานสุด 1 ปี
แนวร่วมกลุ่ม NGO ชุมนุมหน้าที่ทำการกระทรวงแรงงาน ประท้วงบริษัทจัดหางานกดขี่แรงงานต่างชาติ (ภาพจาก coolloud.org.tw)
เครือข่ายสนับสนุนและเสริมพลังแรงงานย้ายถิ่นในไต้หวัน (MENT) ซึ่งเป็นแนวร่วมกลุ่ม NGO ในไต้หวันหลายองค์กร เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ไปชุมนุมที่หน้าที่ทำการกระทรวงแรงงาน ประท้วงกระทรวงแรงงานปล่อยปละละเลยให้บริษัทจัดหางานขูดรีดแรงงานต่างชาติ เรียกร้องซ้ำให้ยกเลิกระบบการนำเข้าแรงงานต่างชาติผ่านบริษัทจัดหางาน เปลี่ยนมาใช้ระบบการนำเข้าโดยรัฐต่อรัฐอย่างประเทศอื่น พวกเขากล่าวว่า แรงงานต่างชาติแต่ละคน ก่อนเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันต้องจ่ายค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิวให้แก่บริษัทจัดหางานในประเทศเป็นเงินก้อนใหญ่ ตั้งแต่ 80,000-200,000 เหรียญไต้หวัน เงินก้อนนี้มีส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าของบริษัทจัดหางานไต้หวัน และระหว่างนี้ ยังต้องจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนตามกฎหมายแก่บริษัทจัดหางานไต้หวัน ในอัตราเดือนละ 1,800, 1,700 และ1,500 เหรียญในปีที่ 1, 2 และ3 ตามลำดับ รวมตลอดสัญญา 3 ปี ต้องจ่ายค่าบริการรวม 60,000 เหรียญ แต่ใช่ว่าจะได้รับการบริการเมื่อมีความจำเป็น และหลังจากบริษัทจัดหางานไม่สามารถทำตัวเป็นเสือนอนกินอีกต่อไป เมื่อกระทรวงแรงงานยกเลิกข้อบังคับให้แรงงานต่างชาติต้องเดินทางกลับประเทศอย่างน้อย 1 วัน หลังทำงานครบสัญญา 3 ปี ในปี 2559 สามารถต่อสัญญาใหม่ที่ไต้หวันได้เลย ทำให้บริษัทจัดหางานไม่สามารถเรียกเก็บค่าหัวคิวใหม่ทุก 3 ปีได้อีกต่อไป จึงหันมาเรียกเก็บค่าย้ายงานหรือค่าซื้อตำแหน่งงาน ตั้งแต่ 20,000-90,000 เหรียญ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิดบรรเทาลง มีการยกเลิกมาตรการควบคุมพรมแดน สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติใหม่ได้อีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา มีการเก็บค่าใช้จ่ายอย่างพร่ำเพรื่อ เช่นค่าย้ายงาน ค่าทำเอกสาร ค่าสัมภาษณ์ เป็นต้น แรงงานต่างชาติมีสิทธิ์ไม่จ่ายเงิน แต่สิ่งที่ตามคือหางานไม่ได้ สุดท้ายต้องจำใจหลบหนีหรือเดินทางกลับประเทศ แนวร่วมกลุ่ม NGO วิจารณ์กระทรวงแรงงานว่า ปล่อยปละละเลยให้บริษัทจัดหางานผูกขาดตลาดแรงงานมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ไม่ว่าแรงงานหรือนายจ้างต้องพึ่งพาบริษัทจัดหางาน มิเช่นนั้น ทำอะไรไม่ได้ จึงเรียกร้องให้ยกเลิกระบบการจัดส่งผ่านบริษัทจัดหางาน หันไปใช้ระบบนำเข้าโดยรัฐต่อรัฐ
แนวร่วมกลุ่ม NGO ชุมนุมหน้าที่ทำการกระทรวงแรงงาน เรียกร้องยกเลิกระบบบริษัทจัดหางาน หันมาใช้วิธีนำเข้าแรงงานต่างชาติแบบรัฐต่อรัฐ (ภาพจาก coolloud.org.tw)
ด้านกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ตามกฎหมายการจ้างงานและมาตรฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายของบริษัทจัดหางาน บริษัทจัดหางานจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างชาติได้ เฉพาะค่าบริการดูแลรายเดือนเดือนละ 1,800 เหรียญในปีแรก ปีที่สองเดือนละ 1,700 เหรียญและปีที่ 3 ขึ้นไปเดือนละ 1,500 เหรียญเท่านั้น ซึ่งต้องมีการลงนามสัญญากับแรงงานต่างชาติ มีการให้บริการจริงและห้ามเก็บล่วงหน้า หากมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษปรับ 10-20 เท่าของมูลค่าที่เรียกเก็บ นอกจากปรับหนักแล้ว ยังจะพักใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหางานเป็นเวลานานสุด 1 ปี แรงงานต่างชาติรายใดถูกเรียกเก็บเงินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานผลักดันและส่งเสริมให้นายจ้างใช้บริการจ้างตรงของกระทรวงแรงงานโดยไม่ผ่านบริษัทจัดหางาน ช่วยลดภาระของนายจ้างและแรงงานต่างชาติได้
แนวร่วมกลุ่ม NGO ประชดว่า แทนที่จะถูกขูดรีดจากบริษัทจัดหางาน นำเงินไปซื้อกระดาษเงินกระดาษทองเผาทำบุญเซ่นไหว้ฮ่าวซงตี้ ซึ่งเป็นคำที่เรียกผีไร้ญาติหรือสัมภเวสียังจะดีกว่า (ภาพจาก coolloud.org.tw)
2. ชมรมมวยสีลัตของแรงงานอินโดนีเซียจัดมวยหมู่และแทงกันหน้าสถานีรถไฟจางฮั่ว ตาย 1 บาดเจ็บ 1 ตำรวจรวบตัวผู้ก่อเหตุ 29 รายภายในเวลา 16 ชั่วโมง
เมื่อกลางดึกวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา เกิดเหตุแรงงานต่างชาติกลุ่มใหญ่มือถือมีดและกระบองเกือบทุกคน ตะลุมบอนกันที่ลานหน้าสถานีรถไฟจางฮั่ว ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วรุดไปที่เกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุหนีกระเจิง พบแต่แรงงานอินโดนีเซีย 2 คน ถูกแทงบาดเจ็บสาหัส 1 ในจำนวนนี้เสียชีวิตระหว่างทางนำส่งโรงพยาบาล ตำรวจตามจับผู้ก่อเหตุได้ 29 คน ภายในเวลาไม่ถึง 16 ชั่วโมง
ชมรมมวยสีลัตของแรงงานอินโดนีเซีย 2 ชมรม เกิดการทะเลาะวิวาทขณะฝึกฝนศิลปะการป้องกันตัว เกิดการตะลุมบอนกันขึ้นที่ลานหน้าสถานีรถไฟจางฮั่ว ไล่ฟันไล่แทงกันข้ามถนนหลายสาย
โฆษกสถานีตำรวจจางฮั่วแถลงว่า แรงงานต่างชาติที่ก่อเหตุมีจำนวน 30 คน เป็นแรงงานอินโดนีเซียทั้งหมด แบ่งเป็นสมาชิกชมรมปันจักสีลัต ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของอินโดนีเซีย 2 ชมรม เกิดการทะเลาะวิวาทขณะฝึกฝนศิลปะการป้องกันตัว จึงนัดกันไปพูดคุยปรับความเข้าใจกันที่ลานหน้าสถานีรถไฟจางฮั่ว เมื่อกลางดึกวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา แต่เจรจาไม่สำเร็จเกิดการตะลุมบอนกันขึ้น ทั้งสองฝ่าย แต่ละคนมีอาวุธติดตัวทั้งนั้น อาทิ มีดแรมโบ้ มีดพับ มีดเคียว กระบองสองท่อนและสนับมือเป็นต้น ไล่ฟันไล่แทงและตีกันชุลมุน ยังมีการไล่ตีกันข้ามถนนหลายสาย โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ชาวบ้านที่พบเห็นเหตุการณ์รีบโทรศัพท์แจ้งความ ตำรวจส่งชุดเคลื่อนที่เร็วไปยังที่เกิดเหตุ แรงงานอินโดนีเซียที่ก่อเหตุหนีกันกระเจิง ตำรวจนำ 2 แรงงานอินโดนีเซียที่บาดเจ็บล้มกลางถนนเข้ารับการรักษาพยาบาล 1 ในจำนวนนี้เป็นแรงงานอายุ 32 ปี ถูกฟันและแทงหลายแผลเสียเลือดมาก เสียชีวิตระหว่างทางนำส่งโรงพยาบาล อีกรายอายุ 29 ปี อาการเบากว่า ตำรวจตรวจสอบกล้องวงจรปิด ติดตามทิศทางหลบหนีของแรงงานอินโดนีเซียเหล่านี้ตลอดทั้งคืน จับกุมผู้ต้องหาได้ 29 คน หลังตรวจสอบและเทียบใบหน้ากับในภาพบันทึกในกล้องวงจรปิด ยืนยันได้ว่า 15 คนมีส่วนพัวพันกับมวยหมู่ครั้งนี้ จากการสอบปากคำ สามารถตามไปจับกุมหัวโจกที่ก่อให้เกิดตะลุมบอนครั้งนี้ เป็นแรงงานอินโดนีเซียอายุ 24 ปีหนีไปกบดานอยู่ที่นครไทจง มาดำเนินคดีพร้อมผู้ต้องหาอีก 15 ราย ในข้อหาฆ่าคน ทำร้ายร่างกายและเข้าร่วมการชุลมุนต่อสู้ในที่สาธารณะ
ชมรมมวยสีลัตของแรงงานอินโดนีเซียจัดมวยหมู่และแทงกันหน้าสถานีรถไฟจางฮั่ว ตาย 1 บาดเจ็บ 1 ตำรวจรวบตัวผู้ก่อเหตุ 29 รายภายในเวลา 16 ชั่วโมง
ตำรวจกล่าวว่า แรงงานอินโดนีเซียในไต้หวันมีกว่า 260,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายประมาณ 90,000 คน ส่วนผู้อนุบาล 170,000 คน มีการจัดตั้งชมรมปันจักสีลัต เพื่อฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ มากมายนับเป็นหลายสิบชมรม นอกจากเป็นโอกาสได้สังสรรค์กันระหว่างแรงงานชาติเดียวกันแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกาย คลายเครียดจากการทำงานและสืบสานศิลปะการต่อสู้ของชาติได้อีกด้วย และเคยจัดการแข่งขันกันเองอยู่บ่อย ๆ แต่ที่ผ่านมา ไม่ค่อยเกิดการชกต่อย จึงไม่เป็นที่สนใจของผู้คน ซึ่งตำรวจจะตรวจสอบต่อไปว่า มีการรวมกลุ่มกันตั้งแก๊งมาเฟียหรือไม่
ชมรมมวยสีลัตของแรงงานอินโดนีเซียจัดมวยหมู่และแทงกันหน้าสถานีรถไฟจางฮั่ว ตาย 1 บาดเจ็บ 1 ตำรวจรวบตัวผู้ก่อเหตุ 29 รายภายในเวลา 16 ชั่วโมง
สถานีตำรวจจางฮั่วกล่าวเตือนว่า จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อพฤติกรรมใด ๆ ก็ตามที่ท้าทายกฎหมาย การชกต่อยกันในที่สาธารณะตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มีความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ในที่สาธารณะตามกฎหมายอาญามาตรา 150 ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงมือชกต่อยหรือคอยเชียร์อยู่ข้าง ๆ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับเงิน 100,000 เหรียญไต้หวัน และหากว่ามีการใช้อาวุธต่อสู้หรือเป็นอันตรายต่อการสัญจรไปมาของยานพาหนะ เพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง และเนื่องจากคดีนี้ ใช้มีดไล่ฟันและแทงกัน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดนข้อหาฆ่าคน ทำร้ายร่างกายด้วย และเมื่อรับโทษตามกฎหมายแล้ว ยังจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานถูกส่งกลับประเทศ
อาวุธที่ตำรวจยึดได้ อาทิ มีดแรมโบ้ มีดพับ มีดเคียว กระบองสองท่อนและสนับมือเป็นต้น
ต่อปัญหากลุ่มแรงงานอินโดนีเซียยกพวกตีกัน สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของส่วนรวม ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอินโดนีเซียประจำไต้หวันออกแถลงการณ์ ประกาศห้ามชมรมชาวอินโดนีเซียที่ก่อเรื่องจัดหรือร่วมกิจกรรมใด ๆ เป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ ภายในเวลา 3 เดือนข้างหน้าหรือก่อน 12 ธันวาคม 2566 ยังสั่งห้ามชมรมหรือกลุ่มแรงงานอินโดนีเซียจัดกิจกรรมใด ๆ ที่มิใช่พิธีการทางศาสนา
ในไต้หวัน มีแรงงานอินโดนีเซียในไต้หวันกว่า 260,000 คน มีการจัดตั้งชมรมปันจักสีลัต เพื่อฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ มากมายนับเป็นหลายสิบชมรม
3. แรงงานไทยกว่า 4,000 คน ม่วนซื่นโฮแซวกับงานแข่งขันเซปักตะกร้อและประเพณีลอยกระทงที่นครนิวไทเป
หลังจากว่างเว้นไปเป็นเวลา 4 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด สำนักงานแรงงานไทย ไทเปและกองแรงงานนครนิวไทเป ร่วมกันจัดงานแข่งขันเซปักตะกร้อและงานประเพณีลอยกระทง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ลานหน้าที่ทำการนครนิวไทเป ตรงข้ามสถานีรถไฟปั่นเฉียว มีแรงงานไทยและพี่น้องชาวไทย ชาวไต้หวันไปชุมนุมร่วมงานแข่งขันเซปักตะกร้อและงานประเพณีลอยกระทงอย่างสนุกสนานประมาณ 4,000 คน นอกจากเจ้าภาพจัดงานแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งของไทยและไต้หวันให้ความร่วมมือในการจัดงานมากมาย อย่างเช่น สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย สมาคมคนไทยในไต้หวัน สมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ สมาคมการจัดหางานไทเป ไทจง ตลอดจนบริษัทนายจ้างและบริษัทจัดหางานทั้งไทยและไต้หวัน ฯลฯ
พิธีลอยกระทงโดยนายเฉินรุ่ยเจีย (คนที่ 1 จากขวา) ผู้อำนวยการกองแรงงาน นครนิวไทเป นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (คนกลาง) และนายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ (คนที่ 3 จากขวา) ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
เริ่มจากช่วงเช้า 09.00 น. ทีมนักกีฬาตะกร้อแรงงานไทยจากโรงงานต่าง ๆ ทั่วไต้หวันจำนวน 29 ทีม และนักกีฬาตะกร้อทีมชาติไต้หวันและทีมสำรองรวม 3 ทีม ได้เริ่มการแข่งขันเซปักตะกร้อตั้งแต่ 09.00 น. ไม่เพียงแต่ดึงดูดสายตาเพื่อนพี่น้องชาวไทยเท่านั้น ชาวไต้หวันจำนวนมากก็ตะลึงไปกับลีลาการหวดลูกพลาสติกที่เสมือนเป็นนักตะกร้ออาชีพเลยทีเดียว ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมมิตรภาพคว้าแชมป์ไปครอง รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีมนอนน้อย อันดับ 2 ได้แก่ทีมเจ๊น้ำค้าง และรองชนะเลิศอันดับ 3 คือทีมร่มไทร FC
พิธีมอบถ้วยและเงินรางวัลแด่ทีมตะกร้อที่ชนะการแข่งขัน
ในงานมีการประกวดนางนพมาศและลอยกระทง แจกฟรีคูปองแลกพิซซ่าฮัท และไก่ทอด KFC จำนวน 4,000 ใบ นอกจากนี้ กงสุลไทยยังได้จัดกงสุลสัญจร บริการพี่น้องชาวไทยทำหนังสือเดินทาง และยังมีบริการฟรีหลายอย่างเช่น นวดสุขภาพ ตัดผม ดูดวง มีพี่น้องแรงงานไทยไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ค่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวันทั้ง 4 ค่าย และแอปโอนเงินอย่างถูกกฎหมาย 2 ราย ก็ไปให้บริการฟรีในงานด้วย
แรงงานไทยเข้าแถวรอรับคูปอง
พิธีเปิดอย่างเป็นทางการอยู่ช่วง 14.40 น. โดยมีนายเฉินรุ่ยเจีย ผู้อำนวยการกองแรงงาน นครนิวไทเป นายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยและนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
ในวันงาน แดดร้อนเป็นพิเศษ พี่น้องแรงงานไทยต่างหลบไปอยู่ในที่ร่มชมการแสดงของไมค์ ภิรมย์พร
ด้านความบันเทิงบนเวที นอกจากมีการแสดงของแรงงานไทยและลูกหลานชาวไทยในไต้หวันแล้ว ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การแสดงของ ไมค์ ภิรมย์พร นักร้องขวัญใจพี่น้องชาวแรงงาน ที่นอกจากนำเสียงเพลงมาปลอบขวัญขุนพลแรงงานไทยในไต้หวันแล้ว ยังได้เตือนสติและให้กำลังใจแก่พี่น้องแรงงานไทยด้วย แรงงานไทยมีความสุขร้องคลอไปกับเสียงเพลงเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง สื่อสิ่งพิมพ์และทีวีของไต้หวันต่างรายงานการจัดงานครั้งนี้ในลักษณะชื่นชมและเชิงบวก งานแข่งตะกร้อและประเพณีลอยกระทงครั้งนี้ แม้จะมีพี่น้องแรงงานไทยไปร่วมงานน้อยกว่าการจัดงานเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ที่น่าชื่นชมมากคือ ไม่มีการดื่มสุราจนเมาหรือเกิดเรื่องทะเลาะวิวาท รวมทั้งยังช่วยกันเก็บขยะอย่างสะอาดหมดจดเมื่อจบงาน
พี่น้องแรงงานไทยชมการแสดงของไมค์ ภิรมย์พรอย่างมีความสุข