close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566

  • 17 November, 2023
ขุนพล แรงงานไทย
กลุ่ม NGO และแรงงานต่างชาติประท้วง บจง. เก็บค่าหัวแพง เรียกร้องยกเลิกระบบการจัดส่งโดยบริษัทจัดหางาน หันมาใช้การจัดส่งโดยรัฐต่อรัฐ

เชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ! กรอกแบบสอบถามได้ที่ :https://2023appsurvey.rti.org.tw/th

1. เล็งลงดาบ! บจง. เก็บค่าหัวคิวเกินกำหนดปรับสูงสุด 1.5 ล้านเหรียญต่อคน และจะให้ออกค่าใช้จ่ายที่พักและค่าเดินทางส่งกลับประเทศของแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ตนจัดส่ง

      ปัญหาการหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายของแรงงานต่างชาติรุนแรงขึ้นต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงได้ จนถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายและยังไม่ถูกตรวจพบพุ่งสูงเกิน 85,000 คน เพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหารือมาตรการต่าง ๆ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างชาติหลบหนีก็คือ ค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิวที่แพงลิบลิ่ว ล่าสุดกระทรวงแรงงานเตรียมแก้กฎหมายเพิ่มโทษปรับบริษัทจัดหางานที่เก็บค่าบริการจัดหางานเกินกำหนด และให้ร่วมรับผิดชอบต่อการหลบหนีของแรงงานที่ตนจัดส่งเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่จะพักใบอนุญาตจัดหางานเท่านั้น ยังจะให้รับผิดชอบค่าที่พักระหว่างรอการส่งกลับและค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศด้วย

ภาพแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายถูกจับก่อนไปทำงานในไซต์งานก่อสร้างที่ไถหนาน

      โหลเหม่ยหลิง สมาชิกสภานิติบัญญัติสังกัดพรรครัฐบาลกล่าวว่า ปัญหาการหลบหนีของแรงงานต่างชาติ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ มิเช่นนั้น เพิ่มกำลังตำรวจเท่าไหร่ก็ไม่มีวันตรวจจับได้หมด ปัญหาต้นเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือ ค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิวที่บริษัทจัดหางานเรียกเก็บจากแรงงานต่างชาติสูงเกินไป ทำให้แรงงานต่างชาติต้องแบกรับภาระหนี้สินที่หนักอึ้ง ในจำนวนนี้ แรงงานเวียดนามต้องจ่ายค่าหัวคิวแพงที่สุด ตั้งแต่ 5,000-8,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,000-250,000 เหรียญไต้หวัน เงินจำนวนนี้ ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยแพง เมื่อเดินทางมาทำงาน หากไม่มีโอทีหรือรายได้ไม่พอจ่ายเงินกู้ แรงงานต่างชาติจะแก้ปัญหาด้วยการหลบหนี

ภาพกลุ่ม NGO และแรงงานต่างชาติเรียกร้องกระทรวงแรงงานควบคุมและตรวจสอบบริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าหัวคิวแพงเกินอัตรากำหนด

      อู่ลี่หัว ส.ส. อีกรายกล่าวว่า สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างชาติหลบหนีกัน นั่นคือมีที่ไป เพราะนายจ้างมีความต้องการ นายจ้างจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีคุณสมบัติยื่นขอนำเข้าแรงงานต่างชาติ หรือเกี่ยงว่า ขั้นตอนการยื่นขอค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน วิธีง่ายสุดคือ ว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย กระทรวงแรงงานควรทบทวนและลดขั้นตอน อำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง และการว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ผู้ที่เป็นคนกลางก็คือนายหน้าและบริษัทจัดหางาน ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์สูงสุด

กลุ่ม NGO ชุมนุมประท้วงด้วยการแสดงละครที่หน้าอาคารที่ทำการของกระทรวงแรงงานในกรุงไทเป เรียกร้องให้จัดการกับบริษัทจัดหางานที่ยังคงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างชาติเกินกำหนดอย่างจริงจังเสียที

      นายไช่ม่งเหลียง อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานตอบว่า กระทรวงแรงงานนอกจากผ่อนปรนมาตรการการยื่นขอแรงงานต่างชาติของนายจ้างแล้ว และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้แก้ระเบียบการอนุญาตและบริหารจัดการบริษัทจัดหางานฉบับใหม่ เพิ่มค่าปรับ 3 เท่า หากบริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าหัวคิวเกินกำหนด สูงสุดปรับ 1.5 ล้านเหรียญต่อแรงงานต่างชาติ 1 คน และได้เพิ่มการตรวจสอบแรงงานต่างชาติที่บริษัทจัดหางานต่างประเทศเป็นผู้จัดส่งในทุก 3 เดือน หากพบมีอัตราส่วนหรือจำนวนคนหลบหนีเกินกว่ามาตรฐานในครั้งแรก จะถูกลงโทษห้ามจัดส่งแรงงานต่างชาติชั่วคราวด้วยการระงับบริษัทจัดหางานต่างประเทศนั้น ๆ ยื่นขอวีซ่าให้แก่แรงงานที่ตนจัดส่งเป็นเวลา 7 วัน หากตรวจพบครั้งที่ 2 เป็นต้นไป เพิ่มขึ้นอีกครั้งละ 7 วัน นานสุดไม่เกิน 28 วัน โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่ปีใหม่ 2567 เป็นต้นไป ส่วนการตรวจสอบเดิมทุก 2 ปีก่อนต่ออายุการลงทะเบียนอนุญาตให้จัดส่งแรงงานต่างชาติมายังไต้หวันได้นั้น ยังคงปฏิบัติตามเดิมต่อไป

      อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานผู้นี้กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาแก้กฎระเบียบการอนุญาตและบริหารจัดการบริษัทจัดหางานใหม่ เพิ่มความรับผิดชอบของบริษัทจัดหางานมากขึ้น กรณีแรงงานต่างชาติที่ตนจัดส่งและหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เมื่อถูกตรวจพบ จะต้องรับผิดชอบค่าอาหาร ที่พักระหว่างรอการส่งกลับ รวมถึงค่าเดินทางด้วย

      อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2565 มีแรงงานต่างชาติหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น 41,203 คน อัตราการหลบหนี 5.96% และ 8 เดือนแรกของปี 2566 หลบหนีเพิ่มขึ้น 22,243 คน อัตราส่วนการหลบหนี 3% ลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

กลุ่ม NGO และแรงงานต่างชาติประท้วง บจง. เก็บค่าหัวแพง เรียกร้องยกเลิกระบบการจัดส่งโดยบริษัทจัดหางาน หันมาใช้การจัดส่งโดยรัฐต่อรัฐ

      จากสถิติของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ทั่วไต้หวันมีแรงงานต่างชาติหลบหนีนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและยังไม่ถูกจับกุม จำนวน 85,201 คน ในจำนวนนี้ แรงงานในภาคการผลิตหลบหนีมากที่สุด 48,281 คน ตามด้วยผู้อนุบาลในครัวเรือน 29,687 คน อันดับ 3 ได้แก่ลูกเรือประมง 2,827 ไซต์งานก่อสร้าง 2,371 คน หากจำแนกตามสัญชาติ แรงงานเวียดนามหลบหนีมากที่สุด 53,970 คน ครองสัดส่วน 63.34% ตามด้วยแรงงานอินโดนีเซีย 26,884 คน หรือ 31.55% อันดับ 3 ได้แก่แรงงานฟิลิปปินส์ 2,551 คน ส่วนแรงงานไทยอยู่อันดับ 4 จำนวนหลบหนีและยังไม่ถูกตรวจพบ 1,795 เป็นแรงงานไทยเพศชาย 1,548 คน หญิง 247 คน และแรงงานไทยที่ทำงานในโรงงานหลบหนีมากที่สุด 1,369 คน ตามด้วยไซต์งานก่อสร้าง 287 คน

2. น่ากังวล! สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีกำลังตำรวจเพียง 500 นาย หนักใจต้องตรวจจับแรงงานผิดกฎหมาย 85,000 คน และมีแนวโน้มตั้งแก๊งร่วมงานกับมาเฟียท้องถิ่น

      สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจจับแรงงานผิดกฎหมายโดยตรง แต่ที่ผ่านมา ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ถูกตรวจพบและจับกุม มีเพียง 60% ที่เป็นผลงานของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อีก 40% มาจากการตรวจจับของหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ ตำรวจจากสำนักงานตำรวจ เป็นต้น ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองขณะไปตรวจจับแรงงานผิดกฎหมายในโรงงานรีไซเคิล ยังเคยเกิดเหตุการณ์ทุลักทุเลที่ถูกนายจ้างขับรถแบกโฮทุบรถตำรวจจนเละเป็นเศษเหล็ก กำลังตำรวจที่ไม่เพียงพอ บวกกับปริมาณงานตรวจแรงงานผิดกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจคนเข้าเมืองขาดประสิทธิภาพ เรื่องนี้สร้างความหนักใจให้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแทบทุกคน

สภาพรถ  SUV ของตำรวจ ตม. ถูกเจ้าของโรงงานรีไซเคิลขับรถแบคโฮทุบเป็นเศษเหล็ก (ภาพจาก chinatimes)

      รัฐบาลไต้หวันเริ่มปฏิบัติการเสริมสร้างความสงบสุขให้กับสังคมตั้งแต่ปี 2555 โดยสภาความมั่นคงสนธิกำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันตรวจจับชาวต่างชาติและแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจ สำนักงานสืบสวนสอบสวน กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น แต่ที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติที่ตรวจจับได้ เป็นผลงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพียง 60% สำนักงานตำรวจตรวจจับได้ร่วม 40% หน่วยงานอื่น ๆ ตรวจจับได้ไม่ถึง 10%

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีกำลังไม่เพียงพอ แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ในการตรวจจับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายตามสถานที่ทำงานต่าง ๆ ในภาพเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายถูกจับในไซต์งานที่นครนิวไทเป

      ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามกล่าวว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก่อตั้งเมืองปี 2550 ในขณะนั้นยอดจำนวนแรงงานต่างชาติหลบหนีและกลายเป็นผิดกฎหมายมีประมาณ 20,000 คน 16 ปีที่ผ่านมา ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายและยังไม่ถูกจับกุมพุ่งขึ้น 4 เท่า มากกว่า 85,000 คน และปัจจุบันสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 2,000 คนเศษ แต่ที่เป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีเพียง 500 นาย กำลังตำรวจน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณงาน อย่างเช่น นครนิวไทเป นครเถาหยวนและนครไทจง แต่ละเมืองมีกำลังตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประมาณ 50 นาย ยังสู้กำลังตำรวจของโรงพักขนาดใหญ่แห่งเดียวไม่ได้ ขณะที่ต้องเผชิญกับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายนับหมื่นคน และเนื่องจากปริมาณงานที่หนักอึ้ง ทำให้ต้องทำงานเป็นกะหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาหยุดพักผ่อน ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจำนวนมากจึงขอย้ายงานไปยังหน่วยงานอื่น ๆ กว่า 50 นาย ขณะที่ไม่มีคนใหม่มาทดแทน

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายกลางกรุงไทเป

      นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่ากังวลคือ แม้ว่าอัตราส่วนการก่ออาชญากรรมของแรงงานต่างชาติจะน้อยกว่าคนท้องถิ่น แต่มีแนวโน้มที่มีแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายจำนวนหนึ่ง รวมกลุ่มตั้งเป็นแก๊งค้ายาเสพติด ตั้งบ่อนการพนัน รับจ้างทวงหนี้กับคนชาติเดียวกัน และเข้าร่วมกับขบวนการนอกกฎหมายหรือมาเฟียท้องถิ่น จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางสกัดและป้องกัน

3. จับแรงงานไทยร่วมงานกฐินวัดไทยไถหนาน ขับรถตู้มือเดียวฝ่ากฎจราจร อีกมือถือกระป๋องเบียร์ขับไปดื่มไป ในรถยังพบผู้โดยสารเป็นคนไทยหนีวีซ่าอีก 3

      นายพูนศักดิ์ (นามสมมุติ) อายุ 33 ปี แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในเมืองเจียอี้ ขับรถตู้พาเพื่อนชาวไทยไปร่วมงานบุญกฐินสามัคคี เศรษฐีเงินล้าน ประจำปี 2566 ที่วัดพุทธบารมี  หย่งคัง ไถหนาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ขากลับขับรถตู้มือเดียวคร่อมเส้นทึบสีเหลืองฝ่าฝืนกฎจราจร ถูกตำรวจที่ขับรถมอเตอร์ไซค์ตรวจการณ์ กำลังปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าวัดขี่ผ่านไปเห็นเข้าเรียกให้จอดเพื่อเขียนใบสั่ง พบแรงงานไทยรายนี้ไม่เพียงแต่ฝ่าฝืนกฎจราจร ยังใช้มือเดียวจับพวงมาลัย มืออีกข้างถือกระป๋องเบียร์ขับไปจิบไป เมื่อตำรวจเรียกให้จอด นายพูนศักดิ์รีบวางกระป๋องเบียร์จอดรถลงมาให้ตำรวจเป่าลมโดยดี พบระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกินมาตรฐานมาก นอกจากนี้ยังพบมีผู้โดยสารเพศชายนั่งอยู่เบาะหลัง 3 คน จากการตรวจสอบเป็นชาวไทยที่ถือฟรีวีซ่าท่องเที่ยวเข้าเมืองและอยู่เลยกำหนดไปนานแล้ว ตำรวจพาคนไทยทั้ง 4 กลับไปยังโรงพัก ปรับคนขับฝ่าฝืนกฎจราจรและเมาแล้วขับ ผู้โดยสารทั้ง 3 นอกจากถูกปรับตามระเบียบว่าด้วยการควบคุมจราจรและบทลงโทษ ผู้โดยสารที่นั่งในรถคันเดียวกันกับคนเมาแล้วขับ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 6,000-15,000 เหรียญไต้หวันแล้ว ยังถูกควบคุมตัวไปยังสถานกักกันเพื่อรอการส่งกลับประเทศด้วย

ตำรวจขี่รถมอเตอร์ไซค์ตรวจการณ์ปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าวัดไทยที่ไถหนาน พบรถตู้ฝ่าฝืนกฎจราจร

      โฆษกสถานีตำรวจหย่งคัง ไถหนานแถลงว่า นายพูนศักดิ์ แรงงานไทยอายุ 33 ปี ถูกจับขณะกลับจากงานบุญกฐินที่วัดไทยในเขตหย่งคัง นครไถหนาน เมื่อเวลา 15.00 น. เศษ วันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมาเนื่องจากขับรถตู้ฝ่าฝืนกฎจราจรถูกเรียกให้จอดเพื่อรับการตรวจ พบขับรถมือเดียว มืออีกข้างถือกระป๋องเบียร์ขับไปจิบไป และจากการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ พบสูงเกินมาตรฐาน แรงงานไทยรายนี้ให้การสารภาพว่า ขณะอยู่ที่วัดก่อนขับรถกลับโรงงานที่เจียอี้ ดื่มไปแล้ว 2 กระป๋อง แต่ยังอยากดื่มต่อจึงขับไปด้วยจิบเบียร์ไปด้วย ไม่นึกว่าจะโชคร้ายถูกตำรวจจับ พลอยทำให้เพื่อนคนไทยที่โดยสารรถคันเดียวกันถูกปรับคนละ 6,000 เหรียญและเผชิญหน้ากับการถูกส่งกลับประเทศด้วย

ตำรวจเรียกให้จอด พบเป็นแรงงานไทยขับรถมือเดียว มืออีกข้างถือกระป๋องเบียร์ขับไปจิบไป สั่งให้จอดรับการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ ผลการตรวจสูงเกินมาตรฐานถูกจับ

      โฆษกสถานีตำรวจหย่งคังกล่าวเรียกร้องว่า ดื่มแล้วขับ เป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ของอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่เพียงแต่ผู้ขับขี่เท่านั้น ยังจะสร้างความเสียหายและเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ตำรวจจะปฏิบัติการตรวจเข้มอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน

      ด้านกระทรวงแรงงานเตือนว่า ผู้ที่ดื่มสุราแล้วขับขี่รถมอเตอร์ไซค์หรือรถจักรยานไฟฟ้า แม้จะไม่เกิดอุบัติเหตุหรือไปชนคนอื่น เมื่อถูกตรวจพบเป่าลมมีระดับแอลกอฮอล์เกิน 0.15 มิลลิกรัมต่อลิตร มีโทษปรับตั้งแต่ 15,000- 90,000 เหรียญไต้หวัน กรณีที่ขับรถยนต์ ต้องระวางโทษปรับ 30,000-120,000 เหรียญ ถูกยึดใบขับขี่ แต่หากเกิน 0.25 มิลลิกรัมต่อลิตร มีโทษอาญาข้อหาก่ออันตรายต่อสาธารณะ ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์หรือรถจักรยานไฟฟ้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับเงินไม่เกิน 200,000 เหรียญไต้หวัน กรณีที่ขับรถยนต์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 เหรียญ จำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่หากชนคนเสียชีวิตมีโทษจำคุก 3-10 ปี ชนคนอื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส มีโทษจำคุก 1-7 ปี  นอกจากเสียค่าปรับในอัตราสูงและมีโทษจำคุกแล้ว แรงงานต่างชาติยังจะถูกส่งกลับประเทศด้วย เพราะเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงานมาตราที่ 73 วรรค 3 ที่ระบุว่า ชาวต่างชาติหากฝ่าฝืนกฎหมายของไต้หวันในลักษณะรุนแรง จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน และห้ามเดินทางเข้าไต้หวันทำงานอีกตลอดไป ส่วนผู้โดยสารที่นั่งในรถคันเดียวกัน แม้จะไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีโทษปรับตั้งแต่ 6,000-15,000 เหรียญไต้หวัน ฐานไม่เตือนหรือห้ามปรามพฤติกรรมเมาแล้วขับ

4. รวบแรงงานไทยเสพและเป็นเอเยนต์ค้ายาไอซ์ ที่บ้านเช่ายังตรวจพบแฟนสาวชาวอินโดฯ แรงงานไทย 11 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

      ตำรวจเมืองเจียอี้ตรวจพบแรงงานไทยเสพและมีกัญชา ยาไอซ์ในครอบครองเมื่อปลายปี 2565 จากการขยายผลติดตามที่มาของยาเสพติด จับเอเยนต์ที่อยู่เบื้องหลังขายยาเสพติดเป็นแรงงานไทย 3 ราย แต่ทั้ง 3 เป็นเพียงเอเยนต์รายย่อย ผู้ป้อนยาเสพติดให้พวกเขาเป็นแรงงานไทยเช่นกัน จากการตรวจสอบเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ในที่สุดจึงตรวจพบแรงงานไทยผู้เป็นเอเยนต์ค้ายาขนาดกลางรายนี้ เช่าบ้านอยู่กินกับแฟนสาวชาวอินโดนีเซียซึ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมายเช่นกันที่เมืองหยุนหลิน ในบ้านเช่ายังตรวจพบแรงงานไทยหลบหนีนายจ้างอีก 11 คน ตำรวจควบคุมตัวส่งดำเนินคดีทั้งหมด

จับแรงงานไทยเสพและเป็นเอเยนต์ค้ายาไอซ์ ที่บ้านเช่ายังตรวจพบแฟนสาวชาวอินโดฯ แรงงานไทย 11 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

      สถานีตำรวจเมืองเจียอี้แถลงว่า นายวสันต์ อายุ 38 ปี แรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานในไต้หวัน แต่หลบหนีนายจ้างนานหลายปีแล้ว มีแฟนสาวเป็นชาวอินโดนีเซีย เนื่องจากตัวเองติดยาไอซ์ ประกอบกับมีเพื่อนแรงงานไทยที่หลบหนีนายจ้างเช่นกันหลายคน ต้องทำงานกะดึก จึงแนะนำเพื่อนร่วมชาติเสพยาไอซ์ จะได้ไม่ง่วงและสามารถทำงานได้ทั้งคืน อาจเป็นเพราะรู้ตัวว่าค้ายาเสพติดเสี่ยงถูกจับ จึงมีการเปลี่ยนบ้านเช่าเป็นประจำ หลบเลี่ยงการจับกุมของตำรวจ แต่ตำรวจไม่ลดละความพยายาม มีการตรวจสอบและติดตามอย่างต่อเนื่อง จนรู้แหล่งที่กบดาน และไปดักรอบริเวณแถวบ้านเช่า พบแฟนสาวชาวอินโดนีเซียขี่รถจักรยานไฟฟ้าออกนอกบ้าน ถูกตำรวจสกัดจับและเค้นสอบสถานที่พัก นำไปสู่การจับกุมนายวสันต์และ 11 แรงงานไทยผิดกฎหมายที่พักรวมกันในบ้านหลังเดียวกัน

จับแรงงานไทยเสพและเป็นเอเยนต์ค้ายาไอซ์ ที่บ้านเช่ายังตรวจพบแฟนสาวชาวอินโดฯ แรงงานไทย 11 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

      หลังถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ นายวสันต์ให้การสารภาพว่า ตนเสพและค้ายาไอซ์มานานหลายปีแล้ว ทราบดีว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะถูกจับ จึงมีการย้ายบ้านเช่าตลอดเวลา แต่ก็หนีไม่พ้นถูกจับจนได้ ระหว่างบันทึกปากคำที่สถานีตำรวจ นายวสันต์และแฟนสาวชาวอินโดนีเซียมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมาก และเป็นห่วงแฟนสาวจะตกเป็นผู้ต้องหาเช่นกัน ช่วยแก้ต่างตลอดเวลาว่า แฟนสาวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ และรู้ตัวว่าการถูกจับในครั้งนี้ จะทำให้พลัดพรากจากแฟนสาวอย่างแน่นอน แสดงความอาลัยอาวรณ์ แฟนสาวชาวอินโดนีเซียต่างหากที่เป็นผู้ปลอบใจแรงงานไทยว่า ไม่เป็นไร ทำผิดแล้วก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำลงไป ถูกส่งกลับก็ไม่เป็นไร

นายวสันต์ แรงงานไทยอายุ 38 ปี เดินทางมาทำงานในไต้หวัน แต่หลบหนีนายจ้างนานหลายปีแล้ว ถูกจับและให้การสารภาพว่า ตนเสพและขายยาไอซ์ให้แรงงานไทยมานานหลายปีแล้ว

      สำหรับแฟนสาวชาวอินโดนีเซียและแรงงานไทยผิดกฎหมายอีก 11 คน เนื่องจากไม่พบหลักฐานในการเสพหรือค้ายาเสพติด ถูกส่งไปยังสถานกักกันเพื่อรอการส่งกลับประเทศความผิดฐานเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ส่วนนายวสันต์ ถูกดำเนินคดีข้อหาค้ายาเสพติดให้โทษประเภทสอง ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 10 ปีขึ้นไป และปรับไม่เกิน 15 ล้านเหรียญไต้หวัน

      โฆษกสถานีตำรวจเจียอี้กล่าวเตือนว่า ยาเสพติดไม่เพียงแต่เป็นพิษภัยและคุกคามสุขภาพของผู้เสพ ยังเป็นต้นเหตุการก่อเกิดอาชญากรรม เมื่อเสพยาเสพติด จะติดง่ายเลิกยาก ทำให้ตกเป็นทาสยาเสพติดไปตลอดชีวิต และผู้เสพจะเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน อนาคตมืดมน จึงเตือนแรงงานต่างชาติอย่าริลองและอย่าท้าทายกฎหมาย ตำรวจนอกจากตรวจเข้มอย่างต่อเนื่องและกวาดล้างอย่างเด็ดขาดแล้ว ยังจะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและการจัดกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด และขอความร่วมมือจากทุกคน ร่วมด้วยช่วยกันสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้ลามไปสู่ชุมชนและกลุ่มแรงงานต่างชาติ

เชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ! กรอกแบบสอบถามได้ที่ :https://2023appsurvey.rti.org.tw/th

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง