close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568

  • 10 January, 2025
ขุนพล แรงงานไทย
ก. แรงงานแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อสภาฯ ผ่านกฎหมายอนุญาตให้ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ว่าจ้างผู้อนุบาลได้โดยไม่ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์

1. สภานิติบัญญัติไต้หวันผ่านกฎหมายอนุญาตให้ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ยื่นขอว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติได้โดยไม่ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์

          สภานิติบัญญัติของไต้หวันผ่านกฎหมายอนุญาตให้ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ไม่ต้องผ่านการประเมินความจำเป็นและไม่ต้องแนบใบรับรองสุขภาพจากแพทย์อีกต่อไป สามารถยื่นขอว่าจ้างแรงงานต่างชาติได้โดยตรง ต่อปัญหานี้ กระทรวงแรงงานแสดงความเสียใจและชี้ว่า จะส่งผลกระทบครอบครัวที่มีผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางหลอดยาง ว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติได้ยากยิ่งขึ้น เพราะผู้อนุบาลจะเลือกไปทำงานสบาย ๆ กับนายจ้างที่มีสุขภาพแข็งแรงกว่า

สส. พรรคฝ่ายค้านแสดงความยินดีที่สภาฯ ผ่านกฎหมายอนุญาตให้ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ยื่นขอว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติได้โดยไม่ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ (ภาพจาก ctwant.com)

          เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติไต้หวันผ่านร่างกฎหมายการจ้างงาน ฉบับแก้ไขมาตรา 46 ยกเลิกข้อจำกัดในการว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติมาดูแลผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุ 70-79 ปีแต่ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะที่ 2 ไม่ต้องผ่านการประเมินความจำเป็นจากคณะแพทย์และไม่ต้องแนบใบรับรองเป็นผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้จากดัชนีบาร์เธลเอดีแอล ไม่ว่าผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้น สุขภาพจะยังแข็งแรงหรือไม่ สามารถยื่นขอว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติได้โดยตรง ต่อสภาฯ ผ่านกฎหมายฉบับนี้ กระทรวงแรงงานกล่าวแสดงความเสียใจ เพราะจะส่งผลกระทบ 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1. แหล่งที่มาของผู้อนุบาลต่างชาติมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ 2. ครอบครัวที่มีผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยติดเตียงและมีฐานะยากจน จะยิ่งหาผู้อนุบาลได้ยากขึ้น 3. คุณภาพในการดูแลผู้ป่วยอาการหนักของผู้อนุบาลจะลดลง เพราะส่วนใหญ่อยากทำงานสบาย ต้องการไปทำงานกับนายจ้างที่แข็งแรงกว่า

ไต้หวันเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ความต้องการผู้อนุบาลต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          นายหงเซินฮั่น รมว. กระทรวงแรงงานกล่าวว่า ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 มีผู้อนุบาลต่างชาติทำงานอยู่ในไต้หวันจำนวน 227,000 คน ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นในสัดส่วนปีละประมาณ 10,000 คน เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ สามารถว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติได้ จะทำให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งมีประมาณ 530,000 คน จากผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปในไต้หวันทั้งหมด 910,000 คน สามารถว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติได้ หากคิดคำนวณจากอัตราส่วนประมาณ 30% ของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปและมีสุขภาพแข็งแรงมีแนวโน้มยื่นขอว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติ จะทำให้ความต้องการผู้อนุบาลจากปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน พุ่งสูงเป็น 160,000 คน ทำให้แหล่งที่มาของผู้อนุบาลต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันหายากอยู่แล้ว ประกอบกับมีคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ต้องการนำเข้าจำนวนมากเช่นกัน จะยิ่งทำให้นายจ้างไต้หวันประสบกับภาวะหาแหล่งที่มาของผู้อนุบาลต่างชาติยากยิ่งขึ้น

ผู้อนุบาลต่างชาติในไต้หวัน ส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย (ภาพจาก udn.com)

          ทางด้านนายจ้างกลับมีความเห็นตรงกันข้าม จางเหิงเยี่ยน นายกสมาคมครอบครัวคนพิการและนายจ้างผู้อนุบาลนานาชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะที่ผ่านมา การจะว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติมีข้อจำกัดมากมาย เพราะมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังไม่ถึงระดับคะแนนในดัชนีบาร์เธลเอดีแอลตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ไม่สามารถจะว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติได้ ลูกหลานซึ่งต้องทำงานบางรายต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้ป่วย แต่ส่วนใหญ่ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงต้องส่งผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยไปอยู่ยังศูนย์ฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยระยะยาว เมื่ออนุญาตให้ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องแนบใบรับรองการประเมินจากแพทย์ตามข้อกำหนดเดิม ลูกหลานสามารถทำงานต่อไปได้ โดยว่าจ้างผู้อนุบาลมาดูแลแทน นายกสมาคมครอบครัวคนพิการและนายจ้างผู้อนุบาลนานาชาติกล่าวเน้นว่า การที่สภานิติบัญญัติผ่านกฎหมายการจ้างงานฉบับแก้ไขดังกล่าว เป็นเพียงยกเลิกข้อกำหนดที่เข้มงวดเกินไป เป็นทางเลือกสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวต่าง ๆ ซึ่งนายจ้างจะพิจารณาตามความจำเป็นของตนอยู่แล้ว เพราะต้องจ่ายค่าจ้าง ไม่ใช่ให้ใช้ฟรี ๆ ส่วนที่กล่าวว่า อาจทำให้ผู้อนุบาลไม่อยากจะดูแลผู้ป่วยอาการหนักอีกต่อไป เสนอว่า กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สามารถพิจารณาให้เงินสนับสนุนแก่ครอบครัวที่มีผู้ป่วยอาการหนักและมีฐานะยากจน เพื่อให้จ่ายค่าจ้างผู้อนุบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้น ดึงดูดพวกเขาให้อยู่ทำงานต่อไป

เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ กระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับผู้อนุบาลอินโดนีเซียขณะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน (ภาพจากกรมพัฒนากำลังแรงงาน)

          ไม่เพียงแต่กลุ่มนายจ้างที่เห็นด้วย วงการแพทย์ก็เห็นด้วยกับการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน นายแพทย์ซูอี้ฟง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและโรคระบบการหายใจกล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรจะผลักภาระให้แพทย์ต้องมาเป็นผู้ประเมินความจำเป็นของผู้สูงอายุในการว่าจ้างผู้อนุบาลอีกต่อไป เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ตามปกติของแพทย์ แก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างแพทย์และนายจ้างจากความต้องการให้ออกใบรับรองได้ ขณะที่ชาวเน็ตส่วนใหญ่โพสต์ข้อความสนับสนุนว่า ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้น หากมีความจำเป็นและมีเงินจ้างผู้อนุบาลต่างชาติ รัฐบาลไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือตั้งเงื่อนไขจำกัดมากมาย

2. ผู้ใช้แรงงานในไต้หวันทำงานปีละ 2,020 ชม. มากสุดอันดับ 6 ของโลก มากกว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ กลุ่มแรงงานเรียกร้องคืนวันหยุด 7 วัน จากปีละ 12 วันเป็น 19 วัน พรรคฝ่ายค้านเล็งแก้กฎหมายตามคำเรียกร้อง

          จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานในไต้หวันมียอดจำนวนชั่วในการทำงานสูงถึง 2,020 ชั่วโมง มากกว่า 15 ชั่วโมงเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มี 2,005 ชั่วโมง ถูกจัดมากเป็นอันดับ 6 ของประเทศสำคัญทั่วโลก 39 ประเทศ และเป็นอันสองของทวีปเอเชีย รองจากสิงคโปร์ โดยชั่วโมงการทำงานของแรงงานในไต้หวันมากกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อย่างมาก และมีวันหยุดนักขัตฤกษ์น้อยกว่า จึงมีเสียงเรียกร้องให้คืนวันหยุดที่ถูกตัดออกไป 7 แก่ผู้ใช้แรงงาน และให้หยุดงานทั่วประเทศพร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ

          กลุ่มเคลื่อนไหวด้านแรงงานจัดประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 เรียกร้องพรรคก๊กมินตั๋งทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อช่วงหาเสียงก่อนหน้านี้ แก้กฎหมายคืนวันหยุดนักขัตฤกษ์ 7 วันที่ถูกออกไปให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ด้านพรรคก๊กมินตั๋งรับปากว่า จะเสนอญัตติเข้าสภาพิจารณาในสมัยประชุมที่ 3 ต้นปีหน้า

แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้าง

          นายหงซิ่วหลง เลขาธิการสหภาพแรงงานบริษัทจงหัวเทเลคอมกล่าวว่า ประเด็นการเพิ่มวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้เป็น 19 วันตามเดิมนั้น คณะกรรมาธิการการปกครอง สภานิติบัญญัติเคยทำประชาพิจารณ์ตั้งแต่ 23 ตุลาคม 2567 นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานและสหภาพแรงงาน ฯลฯ ต่างแสดงความเห็นสนับสนุนให้คืนวันหยุด 7 วันที่ถูกตัดออกไป จากปัจจุบันเหลือเพียง 12 วันเพิ่มเป็น 19 วัน ด้านนายจูจื้ออวี่ เลขาธิการสหภาพแรงงานการรถไฟไต้หวัน กล่าวเรียกร้องต่อพรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนประเด็นนี้ ขอให้รีบจัดเข้าวาระการประชุมโดยเร็ว ยังขอให้ยกเลิกข้อบังคับในการทำงานชดเชยหรือสลับวันทำงาน กรณีที่มีการหยุดยาวติดต่อกัน เพื่อลดปัญหาความวุ่นวายที่เกิดกับแรงงานจากการต้องชดเชยหรือสลับวันทำงาน

แรงงานไทยในโรงงานเย็บผ้าในนครเถาหยวน

          ด้านนายหนิวซีถิง สส. พรรก๊กมินตั๋งกล่าวว่า ร่างกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้ใช้แรงงานห่วงกังวลดังกล่าว ได้จัดเข้าวาระการประชุม รอการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการปกครอง สภานิติบัญญัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากร่างกฎหมายที่รอการพิจารณาค่อนข้างมาก ประกอบกับสภานิติบัญญัติกำลังอยู่ระหว่างพิจารณางบประมาณประจำปี ส่งผลให้การพิจารณาอาจต้องเลื่อนออกไปเป็นสมัยประชุมที่ 3 ในต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านจะพยายามจัดให้เป็นญัตติเร่งด่วน และขณะที่มีการตั้งกระทู้ถามนายหงเซินฮั่น รมว. กระทรวงแรงงานก่อนหน้านี้ ก็ตอบว่าไม่ต้องการให้ชั่วโมงการทำงานของผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้นอีก สส. ก๊กมินตั๋งผู้นี้กล่าวเรียกร้องว่า อยากให้ทุกฝ่ายเปลี่ยนแนวความคิดเดิม ๆ จากที่ใช้แรงงานต้นทุนต่ำ เนื่องจากปัจจุบันภาคบริการได้กลายเป็นธุรกิจสำคัญของไต้หวันไปแล้ว หากมีวันหยุดเพิ่มมากขึ้น การบริโภคจะเพิ่มตาม ผู้ประกอบการก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย ใช่ว่าวันหยุดเยอะ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานเพียงฝ่ายเดียว

แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว เถาหยวน (ภาพจากกองบริหารรถไฟฟ้า นครเถาหยวน)

          เดิมในไต้หวันกำหนดวันหยุดนักขัตฤกษ์ 19 วัน แต่มีการตัดลดหรือยกเลิกไป 7 วันเหลือ 12 วันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 สำหรับวันหยุดนักขัตฤกษ์ถูกตัดออกไปทั้ง 7 วัน ได้แก่

1. วันถัดจากวันรำลึกการสถาปนาประเทศ (วันถัดจากวันขึ้นปีใหม่) 2 มกราคม

2. วันรำลึกวีรชนที่พลีชีพเพื่อชาติ หรือวันเยาวชน 29 มีนาคม

3. วันครู 28 กันยายน

4. วันกอบกู้ไต้หวันจากการปกครองของญี่ปุ่น 25 ตุลาคม

5. วันเกิดอดีตประธานาธิบดีเจียงไคเชก 31 ตุลาคม

6. วันเกิด ดร. ซุนยัตเซ็น บิดาประชาชาติจีน 12 พฤศจิกายน

7. วันรัฐธรรมนูญ 25 ธันวาคม

แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างสะพานตั้นเจียง (ภาพจาก Kung Sing Engineering Corporation)

3. ไต้หวันเล็งจำกัดฟรีวีซ่า สกัดหญิงไทยแห่ค้ากาม เผย 7 เดือนแรกปี 67 หญิงไทยเข้าไต้หวันกว่า 1.1 แสนคนและหญิงต่างชาติขายบริการถูกจับ 80% เป็นหญิงไทย

          สื่อไต้หวันหลายฉบับรายงานว่า นโยบายยกเว้นการตรวจลงตราให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมให้เดินทางมาท่องเที่ยวไต้หวันมากขึ้น กำลังกลายเป็นช่องโหว่ในการเดินทางมาค้ากามของหญิงต่างชาติ โดยเฉพาะหญิงไทย ตำรวจเผยหญิงต่างชาติที่ขายประเวณีและถูกจับ 80% เป็นหญิงไทย ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาใช้มาตรการสกัดด้วยการเพิ่มเงื่อนไขในการเดินทางเข้าไต้หวัน เช่นเดียวกับที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วกับหญิงเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมองว่า มาตรการดังกล่าว อาจทำให้หญิงไทยที่เดินทางเข้าไต้หวันแล้ว ไม่ยอมเดินทางกลับประเทศตามกำหนด และขบวนการค้ากามข้ามชาติอาจนำเข้าหญิงชาติอื่นมาทดแทน

ตำรวจไทเปกวาดล้างแหล่งค้ากามย่านว่านหัว จับหญิงขายประเวณี 51 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงไทย 44 ราย ในภาพเหล่าหญิงขายบริการกำลังขึ้นรถบัสตำรวจไปยังโรงพัก (ภาพจาก udn.com)

          รายงานกล่าวว่า จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา หญิงไทยอายุต่ำกว่า 40 ปี เดินทางเข้าไต้หวันโดยได้รับการยกเว้นวีซ่า มีจำนวนสูงกว่า 140,000 คน เฉพาะ 7 เดือนแรกของปี 2567 มีมากกว่า 110,000 คน และจำนวนหญิงต่างชาติที่ขายประเวณีและถูกจับ ส่วนใหญ่หรือประมาณ 80% เป็นหญิงไทยที่เดินทางเข้าไต้หวันในฐานะนักท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นวีซ่า 14 วัน สำหรับพื้นที่ขายบริการของหญิงไทย ส่วนใหญ่อยู่ที่นครเถาหยวน เพราะอยู่ติดกับท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน ลงเครื่องก็สามารถทำงานหาเงินได้เลย เนื่องจากหญิงไทยใจกล้า ให้บริการได้ในทุกกระบวนท่าตามความต้องการของลูกค้า จึงเป็นที่นิยมของตลาดค้ากามในไต้หวันและมีการส่งต่อไปขายบริการในเมืองต่าง ๆ ทั้งในภาคกลางและภาคใต้ อย่างที่เกาสงและไถหนาน กล่าวได้ว่า ปัจจุบันหญิงไทยกลายเป็นหญิงต่างชาติกลุ่มใหญ่ของตลาดค้ากามในไต้หวันไปแล้ว

ตำรวจไทเปส่งหญิงไทยกลุ่มหนึ่งไปยังสถานกักกันรอการดำเนินคดีและเนรเทศออกจากไต้หวัน (ภาพจาก ftvnews.com.tw)

          รายงานกล่าวว่า การเดินทางมาค้ากามของหญิงไทย ส่วนใหญ่มีขบวนการค้ากามข้ามชาติเป็นผู้จัดส่งและดำเนินการอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากหนุ่มไต้หวันไม่นิยมสาวประเภทสอง ดังนั้น ขั้นตอนการคัดกรองจะตรวจสอบจากข้อมูลในหนังสือเดินทาง เมื่อเดินทางมาแล้ว จะจัดหาลูกค้าโดยโฆษณาผ่านสื่อโซเชียล หญิงไทยจะได้รับส่วนแบ่งตามรูปร่างหน้าตาและลีลา 1,000-1,600 เหรียญต่อครั้ง หญิงไทยจำนวนหนึ่ง เนื่องจากเดินทางมาบ่อยครั้งจนคุ้นและรู้รูปแบบการทำมาหากิน ใช้วิธีเดินทางมาขายประเวณีเองโดยไม่ผ่านแก๊งค้ากาม ทำให้ไม่ถูกหักค่านายหน้า ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ 14 วัน สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ส่งผลให้หญิงไทยรายอื่น ๆ อยากเดินทางมาทำมาหากินในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น

หญิงไทย 9 คนถูกจับขณะขายประเวณีในโรงแรมแห่งหนึ่งในไทเป ตำรวจควบคุมตัวไปดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายรักษาความเป็นระเบียบร้อยของสังคมและรอการเนรเทศกลับประเทศไทย (ภาพจาก ftvnews.com.tw)

          รายงานกล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทบทวนนโยบายฟรีวีซ่าที่ให้แก่นักท่องเที่ยวไทย เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว โดยพิจารณาเพิ่มเงื่อนไข เช่น แสดงหลักฐานทางการเงินหรือต้องมีคนค้ำประกัน ฯลฯ เช่นเดียวกับที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วเมื่อครั้งสกัดกั้นการเดินทางมาขายประเวณีของหญิงเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามกล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ อาจทำให้หญิงไทยที่เดินทางมาแล้วไม่ยอมกลับประเทศตามกำหนด และขบวนการค้ากามข้ามชาติอาจนำเข้าหญิงชาติอื่นมาทดแทน อย่างเช่นหญิงขายบริการจากอินโดนีเซียที่ค่าตัวถูกกว่าหญิงไทย เพียงละ 600-700 เหรียญต่อครั้ง หรือจากมาเลเซียที่ได้รับฟรีวีซ่า 30 วัน นานกว่านักท่องเที่ยวไทย ฯลฯ ผู้ประกอบการเสนอว่า ไต้หวันผ่านกฎหมายอนุญาตจัดตั้งเขตการค้าบริการทางเพศไปแล้ว แต่ไม่มีพ่อเมืองไหนกล้าดำเนินการตามกฎหมาย ทำให้ปัญหานี้ไม่สามารถควบคุมได้ หากมีการจัดตั้งเขตพื้นที่ขายบริการโดยเฉพาะ รัฐบาลสามารถควบคุมและจัดเก็บภาษีได้ตามกฎหมาย น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุดและดีที่สุด

ตำรวจเถาหยวนจับ 18 หญิงไทยขายประเวณีในโรงแรมหน้าสถานีรถไฟจงลี่ (ภาพจากสถานีตำรวจเถาหยวน)

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง