1. เตือน! ห้ามจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ส่งเสริมให้ประชาชนแจ้งเบาะแส ตั้งรางวัลนำจับ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จ่ายเงินรางวัลแล้วกว่า 36.5 ล้านเหรียญ
การจ้างแรงงานในไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างชาติในภาคการผลิตหรือผู้ใช้แรงงานในครัวเรือน ต้องได้รับอนุญาตซึ่งมีเงื่อนไขและข้อจำกัด ส่งผลให้นายจ้างจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องการใช้แรงงานอย่างเร่งด่วน มักจะว่าจ้างชาวต่างชาติเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้แรงงานต่างชาติหลบหนีมากขึ้นต่อเนื่อง เพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากเพิ่มการประสัมพันธ์แล้ว กระทรวงแรงงานยังส่งเสริมให้มีการแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสนายจ้างที่ว่าจ้างชาวต่างชาติอย่างผิดกฎหมาย นายหน้าจัดหางานเถื่อนและแรงงานต่างชาติหลบหนี รวมถึงชาวต่างชาติที่ถือฟรีวีซ่าแต่อยู่ทำงานอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการตั้งรางวัลนำจับ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นขอรับรางวัลนำจับแล้ว 3,678 คดี และจ่ายเงินรางวัลรวมกว่า 36.5 ล้านเหรียญ
ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบไซต์งานก่อสร้างแห่งหนึ่งในไถหนาน จับกุมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายได้ 26 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเวียดนาม (ภาพจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไถหนาน)
เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันรายงานการกระทำผิดกฎหมาย กรมพัฒนากำลังแรงงาน ในสังกัดของกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งสายด่วนแจ้งเบาะแสแบบโทรฟรีหมายเลข 0800-000-978 พร้อมทั้งกำหนด หลักเกณฑ์การจ่ายรางวัลสำหรับผู้รายงานการละเมิดกฎหมายด้านการจ้างงาน ผู้ใดแจ้งเบาะแสซึ่งนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้ จะมอบเงินรางวัลตามจำนวนผู้ถูกจับกุมและลักษณะของคดี
ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจู่โจมตรวจสอบโรงเชือดและชำแหละไก่ในเขตว่านหัว กลางกรุงไทเป จับ 22 แรงงานเวียดนามผิดกฎหมาย (ภาพจาก CNA)
จากข้อมูลพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคดีที่ได้รับรางวัลรวม 3,678 คดี จ่ายเงินรางวัลนำจับรวมกว่า 36.5 ล้านเหรียญ สามารถจับกุมแรงงานต่างชาติที่ทำงานผิดกฎหมายได้ 8,193 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันในฐานะนักท่องเที่ยวแต่อยู่ทำงานอย่างผิดกฎหมายจำนวน 5,574 คน ส่วนนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายและชาวต่างชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตถูกจับกุม 2,673 คน และนายหน้าจัดหางานผิดกฎหมาย 95 คน
จับนายหน้าเถือน นายจ้างและแรงงานผิดกฎหมายกลางสวนที่เมืองไถหนานจำนวน 15 คน (ภาพจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไถหนาน)
กระทรวงแรงงานระบุว่า การจัดตั้งเงินรางวัลแจ้งเบาะแส มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการจ้างงานผิดกฎหมาย ทั้งแรงงานต่างชาติที่หลบหนีนายจ้างและชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวอยู่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยรางวัลจะแบ่งตามประเภทของผู้ถูกจับกุม ได้แก่ นายจ้างผิดกฎหมาย นายหน้าหรือบริษัทจัดหางงานผิดกฎหมาย และแรงงานต่างชาติที่ทำงานผิดกฎหมาย
สำหรับการจ้างแรงงานผิดกฎหมายหรือชาวต่างชาติเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต :
- ผู้แจ้งเบาะแสและนำไปสู่การจับกุมได้ 1 คน ได้รับรางวัล 10,000 เหรียญ
- 2-4 คน ได้รับ 20,000 เหรียญ
- 5-7 คน ได้รับ 50,000 เหรียญ
- 8-10 คน ได้รับ 60,000 เหรียญ
- 11 คนขึ้นไป ได้รับ 70,000 เหรียญ
ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับแรงงานผิดกฎหมายลักลอบทำงานตามไซต์งานก่อสร้างในนครเถาหยวน (ภาพจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเถาหยวน)
ส่วนนายหน้าเถื่อนหรือบริษัทจัดหางานผิดกฎหมาย :
- จับกุมได้ 1 คน ได้รับรางวัล 20,000 เหรียญ
- 2-4 คน ได้รับ 50,000 เหรียญ
- 5 คนขึ้นไป ได้รับ 70,000 เหรียญ
ตำรวจหนานโถวจับแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายตั้งแก๊งลักลอบตัดไม้สงวน (ภาพจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหนานโถว)
สำหรับการแจ้งเบาะแสแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายหรือชาวต่างชาติที่ลักลอบทำงาน :
- จับกุมได้ 1-3 คน ได้รับ 5,000 เหรียญ
- 4-6 คน ได้รับ 10,000 เหรียญ
- 7-9 คน ได้รับ 15,000 เหรียญ
- 10 คนขึ้นไป ได้รับ 20,000 เหรียญ
ตามป่าและภูเขาทางภาคกลางมีแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายจำนวนมากลักลอบทำงานเกษตรและเก็บใบชา (ภาพจาก udn.com)
กระทรวงแรงงานเตือนให้นายจ้างต้องจ้างแรงงานต่างชาติอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากไต้หวันใช้ระบบห้ามชาวต่างชาติทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต การจ้างแรงงานต่างชาติเข้าทำงานจะต้องขออนุญาตและได้รับการอนุมัติจากกระทรวงแรงงานก่อน แนะนายจ้างที่มีความจำเป็นต้องจ้างงานด่วน ควรปฏิบัติตาม 3 ขั้นตอน คือ ตรวจสอบ ตรวจเช็กและสอบถาม
โดยก่อนจ้างงาน นายจ้างต้อง :
1. ตรวจสอบเอกสารสำคัญ เช่น ใบอนุญาตทำงานและบัตรถิ่นที่อยู่หรือ ARC
2. ตรวจเช็กว่าเอกสารตรงกับตัวบุคคลหรือไม่
3. สอบถามสถานะว่าเป็นผู้ต้องถิ่นฐานใหม่หรือชาวต่างชาติที่แต่งงานกับชาวไต้หวัน หรือเป็นผู้ติดตาม นักศึกษาต่างชาติ หรือแรงงานต่างชาติ
ส่วนนายจ้างใช้บริการบริษัทจัดหางาน ต้องตรวจสอบว่า เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตและมีการจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมายหรือไม่
กระทรวงแรงงานย้ำว่า หากนายจ้างคำนึงถึงเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงานเฉพาะหน้าและละเลยขั้นตอนข้างต้น นำไปสู่การจ้างชาวต่างชาติอย่างผิดกฎหมาย อาจต้องเสียค่าปรับสูงสุดถึง 750,000 เหรียญไต้หวัน
ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทุกท้องที่ตรวจสอบแรงงานผิดกฎหมายตามหอพัก สถานที่ทำงานและไซต์งานก่อสร้างต่าง ๆ อย่างเข้มข้น (ภาพจาก kingtop.com.tw)
2. สาวเวียดนามที่ไทจงโอนเงินผ่านช่องทางผิดกฎหมายโดนปล้น 630,000 โชคดีที่แจ้งความตำรวจจับแก๊งหลอกโอนเงินเวียดนามตามเงินคืนมาได้ใน 5 ชั่วโมง
นางสาวโด๋ อายุ 33 ปี แรงงานหญิงชาวเวียดนาม ทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งในนครไทจง ต้องการจะโอนเงินจำนวน 630,000 เหรียญที่อุตส่าห์อดออมมานานกลับบ้าน และเพื่อจะประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนและได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดี เห็นโฆษณาในโซเชียลค่าโอนถูก เรตดี ถึงบ้านไว จึงตัดสินใจใช้บริการ หลังนำเงินสดไปส่งตามนัด คนให้บริการซึ่งเป็นหนุ่มสาวชาวเวียดนามคู่หนึ่ง เมื่อรับเงินไปแล้ว อ้างโน่นอ้างนี่ไม่ยอมโอนเงินหรือเขียนหลักฐานการโอนเงินใด ๆ และยังขับรถหลบหนีไป นางโด๋รีบโทรศัพท์แจ้งความ ตำรวจแกะรอยเส้นทางหลบหนีของคนร้ายจากกล้องวงจรปิด จับกุมคนร้ายซึ่งเป็นคู่รักได้ภายใน 2 ชั่วโมง และตามเงินทั้งหมดคืนมาให้แก่ผู้เสียหายได้ภายใน 5 ชั่วโมง
ตำรวจแกะรอยเส้นทางหลบหนีของคนร้ายจากกล้องวงจรปิด จับกุมคนร้ายซึ่งเป็นคู่รักได้ภายใน 2 ชั่วโมง และตามเงินทั้งหมดคืนมาให้แก่ผู้เสียหายได้ภายใน 5 ชั่วโมง (ภาพจาก chinatimes.com)
โฆษกสถานีตำรวจไทจงแถลงว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รับแจ้งเหตุจากนางสาวโด๋ แรงงานหญิงเวียดนามที่ทำงานอยู่ในไทจงถูกคนร้ายหลอกปล้นเงินจำนวน 630,000 เหรียญ เริ่มจากนางสาวโด๋เก็บออมเงินได้ก้อนหนึ่งเตรียมส่งกลับบ้านให้ครอบครัว เนื่องจากต้องการประหยัดค่าโอนและอัตราแลกเปลี่ยนที่ดี เห็นในโซเชียลกลุ่มคนบ้านเดียวกันโฆษณาโอนถึงบ้านทันที เรตดี ค่าธรรมเนียมถูก จึงใช้บริการโดยนัดหมายส่งมอบเงินและโอนเงินในบ้านเช่าหลังหนึ่งที่เขตต้าหลี่ เมื่อไปถึงพบนายฟาน อายุ 28 ปีและนางสาวเล อายุ 21 ปี แรงงานเวียดนามเช่นเดียวกันและเป็นคู่รัก หลังส่งมอบเงินให้แล้ว นางสาวโด๋สังเห็นภายในบ้านผิดสังเกตไม่เหมือนทำธุรกิจรับโอนเงิน และชาวเวียดนามทั้งสองไม่ยอมโอนเงินเข้าบัญชีที่บ้านทันทีตามที่โฆษณา ยังหาทางบ่ายเบี่ยงและอ้างต้องไปโอนข้างนอก จากนั้นขับรถหนีไปพร้อมกับเงิน 630,000 เหรียญ นางสาวโด๋ ตกใจเมื่อตั้งสติได้ โทรศัพท์แจ้งความ ตำรวจเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุและตรวจสอบจากกล้องวงจรปิด ติดตามเส้นทางการหลบหนีของคนร้าย และวิทยุขอกำลังเสริมสกัดและจับรถคันดังกล่าวพร้อมผู้ร้ายทั้งสองได้ในบริเวณเขตต้าหลี่ภายใน 2 ชั่วโมง แต่ไม่พบเงินของผู้เสียหาย เมื่อสอบถามจึงทราบนำเงินดังกล่าวไปใช้หนี้ ตำรวจไม่ละความพยายาม จากข้อมูลของผู้ต้องหาสามารถติดตามเงิน 630,000 เหรียญกลับมาได้ภายในเวลา 5 ชั่วโมง
ตำรวจแกะรอยเส้นทางหลบหนีของคนร้ายจากกล้องวงจรปิด จับกุมคนร้ายซึ่งเป็นคู่รักได้ภายใน 2 ชั่วโมง และตามเงินทั้งหมดคืนมาให้แก่ผู้เสียหายได้ภายใน 5 ชั่วโมง (ภาพจาก chinatimes.com)
ตำรวจแถลงว่า ผู้ร้ายทั้งสองเป็นคู่รักที่มีแผนเตรียมเดินทางกลับบ้านไปแต่งงานในสัปดาห์ถัดไป แต่ต้องยกเลิกแผนวิวาห์เนื่องจากถูกจับตกเป็นผู้ต้องหา และยังอ้างว่า พวกตนเป็นเพียงคนมารับเงินตามคำสั่งของพี่ใหญ่ ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการโอนเงิน ตำรวจสันนิษฐานน่าจะมีขบวนการบงการอยู่เบื้องหลัง จึงควบคุมตัวส่งสำนักงานอัยการไทจงดำเนินคดีและขยายผลติดตามผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีต่อไป
โฆษกสถานีตำรวจไทจง เตือนแรงงานต่างชาติว่า การโอนเงินผ่านธนาคารหรือผ่านช่องทางที่ทางการอนุญาต อาจยุ่งยากและต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่มีหลักประกัน การโอนเงินผ่านช่องทางผิดกฎหมาย ไม่เพียงแต่ไร้หลักประกัน อาจสูญเงิน และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายด้วย สำหรับขบวนการที่ให้บริการโอนเงินผิดกฎหมายและแก๊งมิจฉาชีพ ตำรวจจะปฏิบัติการตรวจสอบและกวาดล้างต่อเนื่อง
ตำรวจแกะรอยเส้นทางหลบหนีของคนร้ายจากกล้องวงจรปิด จับกุมคนร้ายซึ่งเป็นคู่รักได้ภายใน 2 ชั่วโมง และตามเงินทั้งหมดคืนมาให้แก่ผู้เสียหายได้ภายใน 5 ชั่วโมง (ภาพจาก chinatimes.com)
แรงงานเวียดนามในไต้หวันมีจำนวนมากกว่า 280,000 คนเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย แต่จากข้อมูลเมื่อปี 2565 ตลอดทั้งปี ยอดจำนวนเงินที่โอนกลับประเทศผ่านช่องทางถูกกฎหมายของแรงงานทั้งสองชาติ พบว่า แรงงานเวียดนามที่มีจำนวนพอ ๆ กับแรงงานอินโดนีเซียโอนเงินกลับประเทศเพียง 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แรงงานอินโดนีเซียโอนเงินกลับประเทศสูงถึง 1,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่างกันตั้ง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน คาดว่า แรงงานเวียดนามโอนเงินกลับบ้านผ่านระบบใต้ดินสูงกว่า 500 ล้านเหรียญไต้หวันต่อปี
ด้านกระทรวงแรงงานกล่าวเตือนว่า การโอนเงินกลับบ้าน โปรดเลือกโอนผ่านช่องทางถูกกฎหมายที่มีหลักประกัน ! ได้แก่ ธนาคาร ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้ทำธุรกรรมโอนเงินแรงงานต่างชาติกลับประเทศและบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็สามารถช่วยดำเนินการโอนเงินแทนแรงงานต่างชาติได้ การโอนเงินใต้ดินฟังดูแล้วเหมือนจะสะดวก รวดเร็วและค่าธรรมเนียมถูก แต่ความจริงแล้วแฝงไว้ด้วยความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวง เช่นผู้ประกอบการผิดกฎหมายหอบเงินหนี อาจถูกชิงทรัพย์ในระหว่างที่ไปโอนเงิน หากผู้ประกอบการผิดกฎหมายถูกตรวจพบ จะถูกอายัดทรัพย์ทำให้อาจไม่ได้รับเงินคืน หรืออาจตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในคดีฟอกเงินหรือหลอกลวงต้มตุ๋นโดยไม่รู้ตัว
3. 8 ผีน้อยไทยเมาชกกันเอง รุ่งขึ้นกลายเป็นศพ อีก 7 ร่วมกับนายจ้างขนร่างฝังในป่า ศาลสั่งชดใช้ค่าเสียหายแก่ทายาทและจำคุกคนละ 10 เดือน
เหตุการณ์ที่คนไทยถือฟรีวีซ่าเดินทางเข้าไต้หวันหางานทำอย่างผิดกฎหมายหรือที่เรียกกันว่าผีน้อย เมาสุราทะเลาะวิวาทและชกต่อยกัน วันรุ่งขึ้นเสียชีวิต 1 ราย นายจ้างกลัวมีความผิดสั่งให้คนอื่น ๆ ร่วมกันขนศพไปฝังในป่าคดีนี้ เกิดขึ้นที่หมู่บ้านกวั่นตง ตำบลกงกวั่น เมืองเหมียวลี่ คนไทย 8 คนเดินทางเข้าไต้หวันโดยฟรีวีซ่า ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายกับนายเติ้ง ผู้รับเหมาย่อยไซต์งานก่อสร้างในเหมียวลี่ ลูกสาวผู้ตายได้รับแจ้งจากแฟนคุณพ่อ แต่ไม่เชื่อว่าพ่อป่วยตาย ติดต่อกับคนไทยที่รู้จักกันช่วยแจ้งความ ตำรวจตรวจพบจุดฝังศพขุดร่างออกมาตรวจสอบ จับนายจ้าง คู่กรณี คนช่วยฝังและอื่น ๆ รวม 7 คน ทั้งหมดเป็นคนไทยที่อยู่เลยกำหนดและทำงานอย่างผิดกฎหมาย 1 ในจำนวนนี้ในมือถือยังมีภาพและคลิปขณะฝังศพ หลังจากที่นายจ้างจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่ทายาทผู้ตาย 100,000 เหรียญ ผู้ต้องหาแรงงานไทยทั้งหมดรับจะจ่ายเงินชดใช้คนละ 10,000 เหรียญ เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลท้องถิ่นเหมียวลี่ ตัดสินจำคุกคนละ 10 เดือน หลังพ้นโทษแล้ว คนไทยทั้ง 7 จะถูกเนรเทศขับออกนอกประเทศ
สถานที่เกิดเหตุเป็นบ้านเช่าที่นายจ้างจัดให้ผีน้อยไทยพักอาศัย ในตำบลกงกวั่น เมืองเหมียวลี่ (ภาพจาก mirrormedia.mg)
คดีนี้ ผู้ตายคือนายสมใจ อายุ 47 ปี จากจังหวัดสกลนคร เดินทางเข้าไต้หวันในฐานะนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 แต่อยู่เลยกำหนดและผ่านนายหน้าคนไทยหางานทำในไซต์งานก่อสร้างของผู้รับเหมาย่อยที่ตำบลกงกวั่น เมืองเหมียวลี่ โดยนายจ้างเช่าบ้านให้คนไทยที่เป็นลูกจ้างเหล่านี้พักอาศัย ผู้ตายมีแฟนคนไทยเดินทางมาทำงานเป็นผีน้อยในไต้หวันเช่นกัน แต่ไม่ได้ทำงานอยู่ที่เดียวกัน นัดเจอกันเฉพาะในวันหยุดพัก
วันที่เกิดเหตุ เป็นช่วงกลางคืนวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันหยุดงาน นายสมใจ และนายวิทวัตร อายุ 31 ปีมาจากจังหวัดขอนแก่น พร้อมเพื่อนคนไทยอีก 1 คน นั่งดื่มสุราในบ้านเช่าจนมีอาการเมาและเกิดการทะเลาะวิวาทถึงขั้นชกต่อยกัน นายสมใจถูกนายวิทวัตรชกจนล้ม เช้าวันรุ่งขึ้นพบว่านายสมใจสิ้นลมหายใจแล้ว จึงรีบติดต่อนายเติ้ง ชาวไต้หวันอายุ 55 ปีผู้เป็นนายจ้าง เมื่อนายเติ้งเดินทางมาถึงตรวจดูร่างนายสมใจแน่ใจว่าเสียชีวิตแล้ว สั่งให้นายวิทวัตรและเพื่อนขนศพขึ้นรถ ขับเข้าป่าบริเวณสวนสตรอว์เบอร์รีร้างห่างจากบ้านเช่าประมาณ 5 กม. ขุดหลุมฝังศพผู้ตายอำพรางคดี จากนั้นนายวิทวัตรและเพื่อนหลบหนีไป ส่วนนายเติ้ง ได้เดินทางไปทำธุระที่จีนแผ่นดินใหญ่ตามกำหนดซึ่งวางแผนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว
ตำรวจดักจับ 2 ผู้ต้องหาคนไทยที่แอบกลับมาบ้านเช่าเพื่อเอากระเป๋าสัมภาระ (ภาพจากสถานีตำรวจเหมียวลี่)
แฟนสาวของผู้ตายได้รับแจ้งจากเพื่อนในวันที่ 16 กันยายน 2567 อ้างว่านายสมใจเสียชีวิตแล้วด้วยโรคใหลตาย จึงแจ้งข่าวให้ลูกสาวผู้ตายในไทยทราบ เมื่อลูกสาวทราบข่าวร้าย ไม่เชื่อว่าคุณพ่อจะเสียชีวิตด้วยโรค จึงติดต่อกับคุณนก หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อครูนก คนไทยที่ตั้งรากอยู่ในไต้หวัน คุณนกช่วยแจ้งความ สถานีตำรวจเหมียวลี่ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ทันทีในวันที่ 17 กันยายน ซึ่งเป็นวันหยุดเนื่องในโอกาสวันไหว้พระจันทร์ สามารถจับกุมคนไทยที่อยู่เลยวีซ่าและทำงานอย่างผิดกฎหมายได้ 5 คน คนไทยทั้ง 5 ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ 1 ในจำนวนนี้ ในมือถือยังมีภาพและคลิปขณะฝังศพ ส่วนนายวิทวัตรที่ชกต่อยกับผู้ตายและคนไทยอีกรายที่ช่วยนำศพไปฝัง ถูกตำรวจดักจับได้เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 19 กันยายน หลังจากทั้งสองหลบหนีไปและแอบย่องกลับมาที่บ้านเช่า เพื่อเอาสิ่งของสัมภาระ
ตำรวจขุดร่างของแรงงานไทยที่ชกต่อยกับเพื่อนชาติเดียวกันและเสียชีวิตในวันต่อมาออกจากหลุมฝังศพห่างจากบ้านเช่า 5 กม. (ภาพจากสถานีตำรวจเหมียวลี่)
คำพิพากษาของศาลระบุว่า หลังถูกดำเนินคดี นายเติ้งแสดงความเสียใจด้วยการจ่ายเงินชดใช้ทายาท 100,000 เหรียญ ส่วนผู้ต้องหาแรงงานไทยรายอื่น ๆ ก็รับว่าจะจ่ายค่าชดใช้คนละ 10,000 เหรียญ ประกอบกับการชันสูตรศพ พบผู้ตายมีโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ อาจนำไปสู่ภาวะช็อก และไม่มีบาดแผลหรือรอยฟกช้ำในร่างของผู้ตาย ไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุการตายโดยตรงเกิดจากการชกต่อยกัน จึงตัดสินจำคุกผู้ต้องหาคนละ 10 เดือน ข้อหาทิ้งและอำพรางศพ
ตำรวจจับ 7 ผู้ต้องหาคนไทยที่ถือฟรีวีซ่าแอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย และช่วยกันขนศพเพื่อนร่วมชาติไปฝังอำพรางคดี (ภาพจากสถานีตำรวจเหมียวลี่)