1. เตือน! อย่าด่วนตัดสินใจย้ายงาน นายจ้างใหม่เริ่มไม่กล้ารับทำให้ย้ายยากขึ้น หรือย้ายไปแล้วอาจไม่คุ้น สุดท้ายเสียเงินแล้วก็ต้องกลับบ้าน
ปัจจุบัน กระทรวงแรงงานอนุญาตให้แรงงานต่างชาติย้ายงานได้ง่ายขึ้น ทำให้แรงงานไทยหลายคนเกิดความเข้าใจผิด เพิ่งจะเดินทางมาทำงานได้ไม่กี่วัน ไม่ถูกใจก็หยุดทำงาน ขอย้ายนายจ้าง ตามกฎระเบียบของกระทรวงแรงงาน จะอนุญาตให้ย้ายงานได้ ในกรณีทำงานครบสัญญา ไม่ประสงค์จะต่อสัญญากับนายจ้างเดิมต่อไป อยากจะไปทำงานกับนายจ้าง ลักษณะเช่นนี้ มีสิทธิ์ย้ายงานได้ แต่ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงเอาเอง คือต้องย้ายงานภายใน 2 เดือน ถ้ายังหานายจ้างใหม่ไม่ได้ ก็ต้องเดินทางกลับบ้าน ยิ่งปัจจุบัน นายจ้างที่รับโอนย้ายคนงานต่างชาติจำนวนมากบอกว่า คนงานที่ย้ายนายจ้างส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 70% มีปัญหา ทำให้นายจ้างไม่กล้ารับโอนย้ายต่อไป การนำเข้าแรงงานไม่มีอุปสรรคเหมือนช่วงสถานการณ์โควิดรุนแรง นำเข้าใหม่ปัญหาน้อยดีกว่า
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างขอย้ายไปทำงานโรงงานมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่คุ้นกับงานในโรงงานที่ต้องทำงานอย่างเร่งรีบและมีแรงกดดัน
กรณีที่เพิ่งมาถึงก็จะย้ายงาน หรือย้ายงานในระหว่างสัญญา นายจ้างมีสิทธิ์ไม่ให้ย้าย เพราะจะทำให้นายจ้างเสียโควตาแรงงานต่างชาติไป 1 คน ยกเว้นแต่นายจ้างลดขนาดกิจการ มีปัญหาด้านการเงิน ทำผิดกฎหมาย หรือนายจ้างยินยอมให้ย้ายได้ คนงานที่ย้ายงานเพราะนายจ้างมีปัญหาหรือโรงงานล้มละลาย มีโอกาสย้ายงานสูง เพราะไม่ใช่คนงานขอย้ายงานเอง ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ นายจ้างใหม่ยินดีรับเข้าทำงาน แต่หากปัญหาเกิดกับคนงานเอง แม้นายจ้างจะอนุญาตให้ย้ายได้ โอกาสที่จะหานายจ้างใหม่น้อยมาก เพราะนายจ้างใหม่ในปัจจุบัน มีการบอกกันปากต่อปากว่า คนงานที่ย้ายงานมักมีปัญหา และจะให้ล่าม บจง. ตรวจสอบสาเหตุการย้ายงานและความประพฤติของแรงงานที่ขอย้ายงาน จากนายจ้างหรือ บจง. เดิม ทำให้การย้ายงานยากขึ้น
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างที่ชานกรุงไทเป
2. ระวังโดนหลอก! โฆษณารับย้ายงานในเฟซและไลน์เกลื่อน โอนเงินค่าใช้จ่ายแล้วถูกหลอก หรือได้ย้ายแต่สู้ที่เก่าไม่ได้ กระทรวงแรงงานเตือน โปรดหางานผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย
เนื่องจากการย้ายงานง่ายขึ้น ทำให้แรงงานไทยหลายคน ทำงานกับนายจ้างเดิม ซึ่งไม่ถึงกับมีปัญหา แต่อยากเปลี่ยนงาน เผื่อมีรายรับเพิ่มมากขึ้น หรือหางานให้กับญาติ โดยผ่านเฟซบุ๊กหรือไลน์กลุ่ม โฆษณาอ้างงานเบา เงินดี โอเพียบ และขอเก็บค่าย้ายงาน 30,000-35,000 เหรียญ แต่โอนเงินไปแล้ว เงียบหายไปติดต่อไม่ได้ กลายเป็นถูกหลอก ขณะที่หลายคนโชคดีได้โอนย้ายงานตามใจหมาย แต่ไม่คุ้นกับสถานที่ทำงานแห่งใหม่ หรือสู้งานเก่าไม่ได้ ก็ต้องขอย้ายงานต่อ นายจ้างบางรายตัดความรำคาญอนุญาตให้ย้ายได้ แต่ปัจจุบันนายจ้างใหม่สืบประวัติแล้วไม่เอา สุดท้ายก็ต้องเดินทางกลับบ้าน จากเดิมที่ทำงานกับนายจ้างเก่าไม่มีปัญหา เพราะอยากเปลี่ยนแปลง สุดท้ายตกงานต้องกลับบ้าน กว่าจะเดินเรื่องมาใหม่ เสียค่าหัวคิวแพงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว ทำให้ต้องแบกหนี้และกลายเป็นความยากจนดักดานตลอดไป จึงเตือนต้องคิดให้ดี ทำงานกับนายจ้างเดิมนั้นดีอยู่แล้ว แม้จะไม่ถูกใจบ้าง ก็ยังดีกว่าเกิดปัญหาตามมาอย่างที่กล่าวไป ยิ่งปัจจุบัน มีโครงการยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ คนที่ทำงานกับนายจ้างเดิมตลอด โอกาสจะได้ยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือจะง่ายกว่าคนที่ย้ายงานบ่อย
เตือนอย่าเชื่อฟังโฆษณารับย้ายงานในเฟซและไลน์ โอนเงินค่าใช้จ่ายแล้วถูกหลอก หรือได้ย้ายงานแต่สู้ที่เก่าไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่จะยืนยันจะย้ายงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันเตือนว่า โปรดหางานผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย โดยหาดูข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการทำงานได้จากโซนเปลี่ยนนายจ้างใหม่ในเว็บไซต์ข้อมูลการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ชาวต่างชาติ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลสำคัญของการเปลี่ยนนายจ้างใหม่และการต่อสัญญากับนายจ้างเดิม เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างประเมินและติดต่อกันเองในเรื่องการย้ายงานหรือการต่อสัญญาจ้าง หรือสมัครงานผ่านศูนย์จัดหางานของรัฐ บริษัทจัดหางานที่ถูกกฎหมาย โดยปฏิบัติตามขั้นตอนและกฎระเบียบการย้ายงาน จึงจะสามารถอยู่ทำงานในไต้หวันได้อย่างถูกกฎหมาย!
ช่องทางการย้ายงานที่ถูกกฎหมาย ดูได้จากเว็บไซต์ข้อมูลการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ชาวต่างชาติของกระทรวงแรงงาน https://fw.wda.gov.tw/wda-employer/home/index?locale=th
เมื่อทำงานครบสัญญา แรงงานต่างชาติสามารถเปลี่ยนนายจ้างใหม่ได้ แต่ต้องผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย อย่าหลงเชื่อคำชักชวนของนายหน้าเถื่อนหรือบริษัทจัดหางานที่ผิดกฎหมาย ป้องกันเกิดความเสียหายต่อสิทธิประโยชน์การทำงานและอาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้าแรงงานได้
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าในไทเป