:::

ไขปัญหาแรงงาน วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566

  • 17 May, 2023
ไขปัญหาแรงงาน
สถานประกอบการที่ปิดหรือลดขนาดกิจการ ต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างตามกฎหมายมาตรฐานแรงงาน

1. เตรียมรับมือผลกระทบ! เศรษฐกิจขาลง การส่งออกลดต่อเนื่อง หลายกิจการลดการผลิต ลดโอที ทำแรงงานไทยรายได้หด แนะปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ใช้เงินเป็น จะเก็บเงินได้

          ตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา ภาวะเศรษฐกิจไต้หวันอยู่ในช่วงขาลง การส่งออกลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 6 โดยเฉพาะโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ แผ่นวงจรไฟฟ้า เด่นชัดที่สุด ทำให้มีการปลดพนักงานท้องถิ่นและต่างชาติ แรงงานไทยก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย และการย้ายงานลำบากมากขึ้น ไม่เหมือนช่วง 2-3 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจดีและขาดแคลนแรงงาน มีการชักชวนให้ย้ายงานกันมาก แต่ขณะนี้ สถานการณ์แปรเปลี่ยนไป คนที่ถูกให้ออกจากงาน ต้องหางานใหม่ สำหรับคนที่โชคดี ในโรงงานยังมีงานทำปกติหรือยังมีโอที ก็ขอให้ประหยัดอดออม ตั้งใจทำงานเก็บเงิน เพราะปัจจุบัน ไม่ว่าจะที่ไต้หวัน ไทย หรือประเทศไหนก็ตาม เจอปัญหาภาวะเงินเฟ้อ รายได้เท่าเดิมหรือมากขึ้น แต่ซื้อของได้น้อยลง จึงต้องมีวิธีประหยัดและใช้เงินเป็น เพราะจะช่วยให้เก็บเงินได้

ร้านขายของสารพัดอย่างสำหรับแรงงานต่างชาติในศูนย์การค้าอาเซียนสแควร์ นครไทจง (ภาพจาก travel.taichung.gov.tw)

          อันดับแรกเลย ต้องเลิกพฤติกรรมเสี่ยงทางการเงิน ไม่ว่าจะใช้จ่ายเงินเกินตัว ฟุ่มเฟือย หาได้เท่าไหร่ เปย์หมดตัว โดยลืมวางแผนการเงิน ซึ่งหลายคนก็รู้อยู่แล้วว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร หากไม่วางแผนการเงิน เมื่อไม่รู้ว่าเราจ่ายไปกับอะไรบ้าง การจะลดรายจ่ายลงจึงไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นที่จุดไหน ดังนั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวที่ดีที่สุดก็คือ ต้องเริ่มวางแผนการเงินก่อน

การแก้ปัญหาเงินไม่พอใช้ ต้องเริ่มจากวางแผนการเงินก่อน (ภาพจาก gvm.com.tw)

          ต้องใช้เงินเป็น แล้วจะเก็บเงินได้ ด้วยการควบคุมการใช้จ่าย อะไรควรซื้อ อะไรไม่ควรซื้อ รู้จักแบ่งแยกค่าใช้จ่ายที่ “จำเป็น” กับ “ต้องการ” ออกจากกันให้ได้ ทำให้การใช้เงินเป็นเรื่องที่นำสุขมาให้ และไม่ทำให้ชีวิตของเราเดือดร้อนภายหลัง และวิธีที่เราจะควบคุมเงินของเราได้นั้น ควรที่จะรู้จักตั้งงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่นเดียวกับการตั้งงบประมาณขององค์กรต่าง ๆ เพื่อควบคุมรายจ่ายไม่ให้เกินความจำเป็น ลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสินหรืออาการช็อต ไม่มีเงินใช้

ควบคุมการใช้จ่าย รู้จักแบ่งแยกค่าใช้จ่ายที่ “จำเป็น” กับ “ต้องการ” ออกจากกันให้ได้ ทำให้การใช้เงินเป็นเรื่องที่นำสุขมาให้และไม่สร้างความเดือดร้อนภายหลัง (ภาพจาก gvm.com.tw)

          รักษาสุขภาพ ประหยัดค่ารักษาพยาบาล การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนก็ทำได้ แล้วเริ่มต้นออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพมากขึ้น เงินก้อนใหญ่สำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ไม่ใหญ่อีกต่อไป เพราะได้ออมเงินค่ารักษาพยาบาลไปกับการดูแลสุขภาพเรียบร้อยแล้ว

พยายามใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้เป็นประโยชน์แทนการนั่งรถแท็กซี่ จะช่วยประหยัดเงินได้เยอะ (ภาพจาก gvm.com.tw)

2. เมื่อนายจ้างปิดหรือลดขนาดกิจการ แรงงานต่างชาติจะได้รับเงินชดเชยให้ออกจากงานไหม? อย่างไร? เท่าไหร่?

          ไต้หวันมีกฎหมายมาตรฐานแรงงานให้การคุ้มครองแรงงานต่างชาติเช่นเดียวกับแรงงานท้องถิ่น เมื่อเศรษฐกิจขาลง นายจ้างบางรายอาจประสบปัญหาการประกอบธุรกิจ จำเป็นต้องปิดให้ลดขนาดกิจการ ปลดพนักงานออกจากงาน กรณีนี้ หากแรงงานไทย ประสงค์จะหางานทำต่อไป สามารถแจ้งความประสงค์ให้นายจ้างหรือบริษัทจัดหางาน เพื่อทำเรื่องย้ายนายจ้าง โดยต้องลงทะเบียนผ่านศูนย์จัดหางานของรัฐ และกองแรงงานท้องที่จะช่วยกำกับบริษัทจัดหางานและนายจ้างในการทำเรื่องย้ายงาน

โรงงานในเถาหยวนปิดกิจการ กองแรงงานเถาหยวนและสำนักงานแรงงานไทย จัดให้แรงงานไทยรับการสัมภาษณ์จากนายจ้างใหม่

          เมื่อนายจ้างปิดกิจการหรือลดขนาดกิจการ จำเป็นต้องให้พนักงานออกจากงาน นอกจากต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแล้ว นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายมาตรฐานแรงงาน เงินชดเชยให้ออกจากงาน คิดคำนวณตามอายุงาน เงินชดเชยให้ออกจากงานจะเท่ากับค่าจ้างโดยเฉลี่ย 1 เดือน ต่ออายุการทำงาน 1 ปี ส่วนที่ไม่ครบปีให้คิดตามสัดส่วน และต้องมีเงินทดแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินชดเชยวันหยุดพักพิเศษประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ กรณีที่นายจ้างลดขนาดกิจการจะไม่ค่อยมีปัญหา ปัญหามักจะเกิดกับนายจ้างที่ปิดกิจการหรือล้มละลาย ซึ่งอาจไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวได้ แต่แรงงานไทยที่ประสบปัญหาอย่าได้กังวล เพราะสามารถยื่นขอเงินชดเชยจากกองทุนค่าจ้างค้างจ่าย ซึ่งจะได้ในส่วนของค่าจ้างที่ค้างจ่ายไม่เกิน 6 เดือนและเงินชดเชยให้ออกจากงาน

โรงงานในเถาหยวนล้มละลาย กองแรงงานเถาหยวนและสำนักงานแรงงานไทย จัดให้แรงงานไทยรับการสัมภาษณ์จากนายจ้างใหม่

          กฎหมายมาตรฐานแรงงานไต้หวัน มาตราที่ 16 เมื่อนายจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญาจ้าง ระยะเวลาที่นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าต่อลูกจ้าง ให้เป็นไปตามเงื่อนไข  ดังต่อไปนี้  :

          1. หากลูกจ้างทำงานมาเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไปติดต่อกัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 10 วัน

          2. หากลูกจ้างทำงานมาเกินกว่า 1 ปีขึ้นไปติดต่อกัน แต่ไม่เกิน 3 ปี ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 20 วัน

          3. หากลูกจ้างทำงานมาเกิน 3  ปีขึ้นไปติดต่อกัน ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน

          เมื่อลูกจ้างได้รับแจ้งการบอกกล่าวล่วงหน้า  ตามวรรคก่อน  ลูกจ้างอาจขอลางานเพื่อไปหางานใหม่ทำก็ได้ โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 2 วันต่อสัปดาห์ หากนายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต่อลูกจ้างตามระยะเวลาที่กำหนดในวรรคก่อน ต้องจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง เท่ากับจำนวนวันที่ระบุให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ๆ

          มาตราที่ 17 กรณีนายจ้างเป็นผู้ยกเลิกสัญญาจ้างตามบทบัญญัติมาตราก่อน  นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ ดังข้างล่างนี้  :

          1. อายุการทำงานติดต่อกัน 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ออกจากงาน 1 เดือน

          2. กรณีอายุการทำงานน้อยกว่า 1 ปี  จำนวนเงินชดเชยให้คำนวณตามส่วน เศษของเดือนหรืออายุการทำงานที่ไม่ครบหนึ่งเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน

          คนที่ถูกให้ออกจากงาน ยังพอหาได้ แม้จะยากกว่าแต่ก่อน แต่สำหรับคนที่ขอย้ายงานเอง แนะนำว่าอย่าดีกว่า เพราะคนงานต่างชาติที่ขอย้ายงานเอง นายจ้างและบริษัทจัดหางานบอกว่า ส่วนใหญ่จะมีปัญหา โอกาสที่จะย้ายงานสำเร็จน้อยลงมาก สำหรับแรงงานไทยที่ในโรงงานยังมีงานทำตามปกติ หรือหลายแห่งไม่ได้รับผลกระทบ ถือว่าโชคดี ขอให้ตั้งใจทำงาน ประหยัดอดออม เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหากับตัวเมื่อไหร่

โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมในเถาหยวน ประสบปัญหาทางธุรกิจ ต้องลดขนาดกิจการ แรงงานไทยประมาณ 80 คน ถูกให้ออกจากงาน

3. สลด! 4 แรงงานฟิลิปปินส์ดับอนาถจากไฟไหม้ ร.ง. ผลิตอาหาร lianhwa ที่จางฮั่ว ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่หลบเข้าห้องแช่แข็ง

          เช้าตรู่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา เกิดเหตุไฟไหม้ที่บริษัทเหลียนหัว (lianhwa) ผู้ผลิตอาหารชื่อดัง โรงงานเมืองจางฮั่ว มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ในจำนวนนี้ มี 5 รายเป็นชาวไต้หวัน อีก 4 รายเป็นแรงงานฟิลิปปินส์ มีทั้งแรงงานเพศชายและหญิง อายุไม่ประมาณ 20-30 ปี ในจำนวนนี้มีแรงงานฟิลิปปินส์หญิงรายหนึ่งเพิ่งเดินทางมาไต้หวัน เข้าทำงานเป็นวันแรกก็ต้องดับชีวิตลงอย่างน่าอนาถ โดยเสียชีวิตลงหลังเกิดเหตุไฟไหม้ 10 วัน

เหลียนหัว โรงงานผลิตอาหารชื่อดังที่จางฮั่ว เกิดเพลิงลุกไหม้ มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ในจำนวนนี้ มี 5 รายเป็นแรงงานชาวไต้หวัน อีก 4 รายเป็นแรงงานฟิลิปปินส์

          หน่วยดับเพลิงแถลงว่า ต้นเพลิงอยู่ที่ชั้น 2 ของโรงงาน มีพนักงานทำงานกะดึกที่ชั้น 2 และ 3 รวม 22 คน ส่วนใหญ่หนีขึ้นไปหลบในห้องแช่แข็งที่ชั้น 4 โดยคิดว่าน่าจะปลอดภัยเพราะมีอุณหภูมิต่ำ แต่ห้องแช่แข็งมีเพียงผ้าม่านพลาสติกกั้นไว้เท่านั้น ไม่สามารถกันไฟและควันได้ จึงส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตหลายราย

เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยนำแรงงานที่สำลักควันส่งรักษาที่โรงพยาบาล

          โรงงานเหลียนหัว ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 มีโรงงานที่จีหลง หลินโข่ว จงลี่ จางฮั่วและเจียอี้ ส่วนใหญ่ผลิตอาหารจำพวกข้าวกล่อง ข้าวปั้น บะหมี่ ซูชิโรล แซนด์วิช ฯลฯ ป้อนให้ร้านสะดวกซื้อ โดยเฉพาะร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โรงงานเหลียนหัวมีแรงงานชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก และต่างก็ภูมิใจที่ได้ทำงานที่มั่นคงและมีสวัสดิการดี แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ขึ้น ที่ผ่านมาโรงงานนี้ ไม่เคยมีประวัติเสียด้านความปลอดภัยมาก่อน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยนำแรงงานที่สำลักควันส่งรักษาที่โรงพยาบาล

          อย่างไรก็ตาม โรงงานเหลียนหัวเปิดเผยว่า มีการตรวจสอบแผนป้องกันอัคคีภัยในโรงงานเป็นประจำ ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านอัคคีภัยกล่าวว่า โรงงานหลายแห่งมีแผนป้องกันอัคคีภัยของตัวเอง และมีการฝึกซ้อมทุก ๆ 6 เดือน แต่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้จริง คนงานมักตกใจและไม่ปฏิบัติตามแผนที่ฝึกอบรม ทำให้เกิดเหตุคาดคิดไม่ถึงขึ้น

         แพทย์เผยว่า หากอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 35% ขึ้นไปประมาณ 15-30 นาทีจะเสียชีวิต

แพทย์และพยาบาลกู้ชีวิตผู้บาดเจ็บจากไฟไหม้อย่างเต็มที่

         หลักการเอาตัวรอดจากอัคคีภัย เพลิงขนาดเล็กให้รีบหนี  ควันหนาทึบรีบปิดประตู

        1. หากไม่มีควันไฟ ให้รีบวิ่งไปที่ด้านนอกอาคารชั้น 1

        2. กรณีพบว่าทางออกมีควันไฟหนาทึบ ให้รีบกลับเข้าห้องแล้วปิดประตู เพื่อป้องกันเปลวไฟและควันไฟลุกลามเข้ามา

        3. ไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับไฟ ควัน และความร้อน ให้อยู่ในจุดที่ปลอดภัย เพื่อรอความช่วยเหลือ

        4. ไม่ควรหลบในห้องน้ำ

        5. ห้ามใช้ลิฟต์

        6. โทรสายด่วน 119 เพื่อแจ้งสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้และเปิดหน้าต่างเพื่อขอความช่วยเหลือ

สื่อประชาสัมพันธ์จากกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน ไต้หวัน

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง