เชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ! กรอกแบบสอบถามได้ที่ :https://2023appsurvey.rti.org.tw/th
1. สารพัดปัญหาภาษีของแรงงานไทยในไต้หวัน ยื่นแล้วไม่ได้คืน นายจ้างไม่ช่วยยื่น ล่ามไม่โอนเงินภาษีให้ ฯลฯ ทำอย่างไร
แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในไต้หวัน ส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะได้รับการยกเว้นปีละ 423,000 เหรียญ แต่ในทางปฏิบัติ นายจ้างต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายล่วงหน้าก่อน จากนั้นสามารถขอรับคืนได้จากสรรพากร หลังจากยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในปีถัดไปแล้วประมาณ 3-4 เดือน และนี่ก็เป็นที่มาของปัญหาภาษีที่แรงงานต่างชาติต้องประสบพบเจอ อย่างเช่น ยื่นพร้อมกัน คนอื่นได้รับคืนแล้ว ทำไมตนยังไม่ได้รับ นายจ้างไม่ช่วยยื่นหรือสรรพากรคืนเงินภาษีแล้ว แต่ล่ามหรือ บจง. ไม่โอนให้ ฯลฯ และภาษี ก็เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของแรงงานต่างชาติเลยทีเดียว
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว นครเถาหยวน (ภาพจากสำนักงานบริหารรถไฟฟ้าเถาหยวน)
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจระเบียบการเสียภาษีในไต้หวันกันก่อน เช่น ต้องเสียภาษีไหม? จะได้คืนเงินภาษีเท่าไหร่? อย่างไร? ตามประมวลรัษฎากรหรือกฎหมายเกี่ยวกับการเสียภาษีของไต้หวัน ในหมวดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ที่เดินทางมาทำงานหรือพำนักอาศัยในไต้หวันเกิน 90 วันและมีรายได้ จะต้องเสียภาษีทุกคน โดยแบ่งเป็นคนที่อยู่ครบ 183 วันใน 1 ปีภาษี (1 ม.ค.-31 ธ.ค.) จะได้รับการยกเว้นภาษีเหมือนกับชาวไต้หวัน และตามมาตรฐานของปี 2565 ซึ่งยื่นแบบแสดงรายการภาษีในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับการยกเว้น 423,000 เหรียญไต้หวันต่อคน หรือผู้มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 35,250/เดือน ไม่ต้องเสียภาษี (ยังไม่รวมรายได้จากโอทีปลอดภาษีเดือนละ 46 ชั่วโมง) ส่วนที่เกินจากนี้ เรียกว่าเงินได้สุทธิ หากไม่ถึง 560,000 เหรียญ จะเสียภาษีร้อยละ 5 เพราะฉะนั้นแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่จึงไม่ต้องเสียภาษี และที่นายจ้างหักจากเงินเดือนไปล่วงหน้าจะได้รับคืนทั้งหมด หลังจากยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไปแล้วประมาณ 3-4 เดือน
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว นครเถาหยวน (ภาพจากสำนักงานบริหารรถไฟฟ้าเถาหยวน)
ส่วนผู้ที่เพิ่งเดินทางมาทำงานโดยเข้าไต้หวันหลังวันที่ 2 กรกฎาคมของปี หรือเดินทางกลับประเทศก่อนวันที่ 2 กรกฎาคมของปี ในปีนั้นจะอยู่ไม่ครบ 183 วัน จะไม่ได้รับการยกเว้น และวิธีคิดภาษีเฉพาะในปีนั้น จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 1.5 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ (26,400 x 1.5) หรือ 39,600 เหรียญ เสียภาษี 6% รายได้เกิน 39,600/เดือน เสียภาษีโดยไม่ได้รับคืน 18% ดังนั้นการเดินทางมาทำงานหรือกลับบ้านไปเลยก็ต้องดูช่วงเวลาด้วย จะช่วยประหยัดค่าภาษีได้เยอะเลยทีเดียว บางทีมากกว่าค่าตั๋วเครื่องบินเสียด้วยซ้ำ หากว่าในแต่ละเดือนรายได้เกิน 39,600 เหรียญ โดนหักภาษีรายเดือนโดยไม่รับคืน 18%
แรงงานไทยในโรงงานหินอ่อนที่ฮัวเหลียน
เมื่อเข้าใจกฎระเบียบในการยกเว้นและเสียภาษีแล้ว มาดูวิธีปฏิบัติ สรรพากรมีตารางแสดงเกณฑ์การหักภาษี ณ ที่จ่ายของลูกจ้าง หากเป็นไปตามในตาราง แรงงานต่างชาติแทบทุกคนไม่ต้องหักภาษีล่วงหน้าเลย แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนในการทำงาน บางคนอาจยกเลิกสัญญากลางคันขอเดินทางกลับประเทศ ทำให้สรรพากรตามทวงภาษีไม่ได้ จึงแนะนำให้นายจ้างหักล่วงหน้านำส่งสรรพากรทุกเดือน อาจจะ 6-10% ของรายได้ จนกว่าในปีนั้นอยู่ครบ 183 วันแล้วจึงจะเลิกหัก แต่ก็มีนายจ้างบางรายมั่นใจแรงงานต่างชาติของตนทำงานครบสัญญาไม่มีการหักภาษีล่วงหน้าก็มี และช่วงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป เป็นช่วงเวลาของการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ผู้รายได้ตลอดทั้งปี ไม่ถึง 423,000 เหรียญไต้หวัน หรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 35,250/เดือน นี่ยังไม่รวมเงินค่าโอทีปลอดภาษีเดือนละ 46 ชั่วโมง หากรวมแล้ว ผู้มีรายได้ไม่เกิน 40,000 เหรียญต่อเดือน ไม่ต้องเสียภาษี ที่โดนหักไปล่วงหน้าจะได้รับคืนทั้งหมด
แบบแสดงรายการภาษีสำหรับชาวต่างชาติ (ภาพจากกรมสรรพากร)
นายจ้างส่วนใหญ่ จะมอบหมายให้บริษัทจัดหางานเป็นผู้ช่วยแรงงานต่างชาติยื่นแบบเสียภาษี โดยทั่วไปจะกรอกเลขบัญชีเงินฝากในธนาคารไต้หวัน เพื่อให้สรรพากรโอนเงินคืนภาษีเข้าบัญชีของแรงงานต่างชาติโดยตรง สำหรับแรงงานต่างชาติที่ทำงานในไต้หวันต่อเนื่องส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาในเรื่องเงินคืนภาษี แต่มีแรงงานที่เดินทางกลับประเทศ อาจครบสัญญาจ้าง ไม่ต่อสัญญาหรือบางคนยกเลิกสัญญากลับบ้าน ก่อนเดินทางกลับบ้าน 1 สัปดาห์ บริษัทจัดหางานจะช่วยแรงงานต่างชาติแจ้งแบบแสดงรายการเสียภาษี โดยแรงงานต่างชาติต้องลงนามในหนังสือมอบอำนาจให้ล่ามหรือบริษัทจัดหางานเป็นผู้ช่วยดำเนินการและช่วยรับเช็คเงินคืนภาษี สรรพากรไต้หวันจะไม่โอนเงินคืนภาษีเข้าบัญชีธนาคารในต่างประเทศ เมื่อเช็คลงมาแล้ว ล่ามหรือบริษัทจัดหางานจะต้องนำเช็คไปขึ้นเงิน จากนั้นค่อยโอนกลับไปให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับบ้านไปแล้ว
แรงงานไทยในไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้าถาน เขตกวนอิน นครเถาหยวน
ขั้นตอนตามที่กล่าวมาส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหา แต่จะมีแรงงานไทยบางคน กลับไทยแล้วเดินทางไปทำงานที่อื่น บางคนกลับเข้ามาทำงานที่ไต้หวันติดต่อไปรับเงินจากล่ามหรือที่สำนักงานแรงงานไทย ขณะที่บางคนให้หมายเลขบัญชีธนาคารไทยคลาดเคลื่อนหรือปิดบัญชีแล้ว บริษัทจัดหางานไม่สามารถโอนให้ได้ บางรายก็จะนำเช็คไปให้สำนักงานแรงงานไทยช่วยซื้อตั๋วแลกเงินจากธนาคารกรุงเทพส่งต่อไปให้แรงงานไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นและสร้างความปวดหัวให้แก่สำนักงานแรงงานไทยก็คือ บางคนติดต่อไม่ได้เลย ตั๋วแลกเงินถูกส่งไปส่งมาจนหมดอายุ และธนาคารกำลังพิจารณาจะยกเลิกขายตั๋วแลกเงิน เพราะเป็นระบบเก่ามาก ยุคนี้ ส่วนใหญ่จัดการบัญชีหรือโอนเงินทางออนไลน์แล้ว
สรรพากรไต้หวันเข้ม หลังเกิดเหตุการณ์ที่ล่ามอมเงินคืนภาษีของแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศแล้ว
ปัจจุบัน เนื่องจากมีกลุ่มมิจฉาชีพเพิ่มขึ้น ประกอบกับธนาคารปฏิบัติตามกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินอย่างเข้มงวด แรงงานต่างชาติบางคนที่ยังทำงานอยู่ในไต้หวัน แต่มีการย้ายงาน โดยเฉพาะช่วงปลายหรือต้นปี ทั้งนายจ้างเก่าและนายจ้างใหม่ไม่ได้ช่วยยื่นแบบแสดงรายการภาษี เพราะนายจ้างเก่าเห็นว่าเปลี่ยนนายจ้างแล้ว เป็นหน้าที่ของนายจ้างใหม่ ส่วนนายจ้างใหม่ก็คิดว่า เป็นเงินภาษีของปีก่อนหน้านี้ ตนไม่ใช่เป็นผู้หักภาษีล่วงหน้า นายจ้างเก่าเป็นผู้มีหน้าที่จัดการในเรื่องนี้ ก็ทำให้แรงงานไทยหลายคนที่ย้ายงาน ไม่ได้ยื่นเสียภาษี เงินคืนภาษีที่ถูกหักไปแล้วล่วงหน้าก็ไม่ได้รับคืน ในเรื่องนี้ สำนักงานสรรพากรท้องที่แนะนำว่า หากเลยกำหนดการยื่นภาษี แรงงานต่างชาตินำบัตร ARC ไปยื่นเองได้ในท้องที่ที่ทำงานหรืออยู่อาศัย ไม่จำเป็นต้องนำหลักฐานการเสียภาษีไปแสดง ทุกอย่างจะอยู่ในระบบฐานข้อมูล แต่ต้องให้เจ้าตัวไปเอง มอบอำนาจไม่ได้ ป้องกันล่ามเซ็นชื่อยื่นเองเอาเงินเข้ากระเป๋า ซึ่งเคยเกิดปัญหามาแล้ว หากให้คนอื่นไปทำให้ ต้องไปทำหนังสือมอบอำนาจ ผ่านการแปลและรับรองจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันในประเทศไทย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไปทำเองดีกว่า หากไปไม่รู้ที่ก็ขอให้ล่ามนายจ้างใหม่พาไปก็ได้
หากไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี จะไม่ได้คืนเงินภาษีที่ถูกหักไปล่วงหน้า วิธีแก้ปัญหาคือ สามารถไปยื่นแบบย้อนหลังได้ด้วยตนเองที่สรรพากรท้องที่ โดยพกบัตร ARC ติดตัวไปด้วย
2. กฎหมายต่อต้านการฟอกเงินคุมการโอนเงินอย่างเข้มงวด แรงงานไทยบางคนใช้วิธีขายขาดเงินคืนภาษีให้แก่ล่าม
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ปัจจุบัน มีการคุมเข้มการโอนเงินตามกฎหมายต่อต้านการฟอกเงิน มาตรการเหล่านี้ ทำให้บริษัทจัดหางานและล่ามที่ช่วยแรงงานต่างชาติโอนเงินคืนภาษีเข้าบัญชีธนาคารของแรงงานต่างชาติในต่างประเทศทำได้ยากขึ้น จะต้องใช้เอกสารและหลักฐานต่าง ๆ มากมาย จึงจะอนุญาตให้โอนได้ ธนาคารหลายแห่ง ไม่อนุญาตให้โอนเงินหากผู้โอนไม่ใช่เป็นลูกค้าที่เปิดบัญชีกับธนาคารของตน
เป็นเหตุทำให้บริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าบริการโอนเงินคืนภาษีจากแรงงานต่างชาติครั้งละ 500-1,000 เหรียญ บางรายไม่ยอมทำ แจ้งให้แรงงานต่างชาติกลับมาที่ไต้หวันเพื่อรับเงินภาษีด้วยตนเอง ขณะที่มีล่ามจำนวนหนึ่ง คุยกับแรงงานไทยที่จะกลับบ้านและต้องการใช้เงิน ใช้วิธีซื้อขาดเงินคืนภาษีจากแรงงานไทย เช่น แรงงานไทยที่จะเดินทางกลับประเทศ จากการคำนวณเบื้องต้น จะได้รับคืนเงินภาษีสมมุติว่า 20,000 เหรียญ ล่ามจะให้แรงงานไทยที่ตกลงจะใช้วิธีขายขาดเงินคืนภาษีลงนามหนังสือมอบอำนาจ โดยจะจ่ายเงินสดให้แก่แรงงานไทยประมาณครึ่งหนึ่งของเงินคืนภาษีที่คาดว่าจะได้รับ หรือประมาณ 10,000-15,000 เหรียญไต้หวันก่อนที่แรงงานไทยจะเดินทางกลับประเทศ เมื่อสรรพากรคืนเงินภาษีลงมา ล่ามก็จะรับและเก็บเงินเข้ากระเป๋าตนเอง
ตัวอย่างเช็คคืนเงินภาษีของแรงงานไทยจากสรรพากร
วิธีการรับเงินคืนภาษีในลักษณะนี้ ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นวิธีที่ถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคนงานไทยว่า ต้องการจะรับเงินก่อนเพื่อความมั่นใจหรือไม่? แต่ควรดูว่าเสียเปรียบไหม? จำนวนเงินที่ล่ามจ่ายกับจำนวนเงินที่จะได้รับคืนจากสรรพากรต่างกันมากน้อยเพียงใด?
3. แรงงานเวียดนามใช้หนี้เก่ายังไม่หมด หลบหนีถูกจับส่งกลับประเทศ กู้หนี้ 300 ล้านดองลักลอบเข้าไต้หวันใหม่ ถูกจับติดคุก 2 เดือน
การหลบหนีไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เป็นความคิดที่ผิด และเมื่อผิดแต่ก้าวแรกแล้ว ก็มักจะผิดซ้ำซาก ความโชคร้ายจะตามมาอย่างต่อเนื่อง มีเรื่องราวของแรงงานเวียดนามรายหนึ่งนำมาเล่าให้ฟัง นายฝั่มเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันเมื่อปี 2558 แต่ทำงานได้ไม่นานก็เชื่อฟังคำชักชวนหลบหนีจากนายจ้างเดิมออกไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย งานมีทำบ้างไม่มีบ้าง พอหาเลี้ยงปากท้องไปเป็นวัน ๆ จนกระทั่งปี 2564 ถูกตรวจพบและถูกส่งกลับประเทศ หนี้ที่กู้มาจ่ายเป็นค่าหัวคิวยังชำระไม่หมด และไม่สามารถเดินทางเข้าไต้หวันได้อีก แม้จะไม่ราบรื่น แต่นายฝั่มคิดว่า ยังไรเสียก็ยังดีกว่าอยู่เวียดนาม จึงไปกู้เงิน 300 ล้านดอง หรือคิดเป็นเงินไทยตกประมาณ 430,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเดินทางให้กับเจ้าของเรือสินค้า เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ได้เดินทางจากท่าเรือในเวียดนามโดยเรือบรรทุกสินค้าลักลอบขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเกาสง จากนั้นหนีขึ้นมาทางภาคเหนือทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่ที่เมืองซินจู๋
ที่ทำการสำนักงานอัยการซินจู๋
นายฝั่มหมกมุ่นกับการทำงาน มีโอทีทำหมดเพื่อหาเงินใช้หนี้ แต่โชคร้ายเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะออกไปหาซื้อข้าวของนอกโรงงาน เห็นตำรวจเกิดอาการตื่นเต้นผวากลัวถูกจับ ตำรวจเห็นมีอาการพิรุธเรียกตรวจบัตร ARC นายฝั่มไม่มีและสารภาพว่าลักลอบเข้าเมือง ตำรวจจึงถูกควบคุมตัวไปยังโรงพัก ส่งดำเนินคดีข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ศาลสั่งจำคุก 2 เดือน และอนุญาตให้ชำระค่าปรับแทนการจำคุกได้ในอัตรา 1,000 เหรียญต่อ 1 วัน 2 เดือนต้องจ่าย 61,000 เหรียญ หลังจากนั้น ให้ซื้อตั๋วเครื่องบินเองส่งกลับประเทศ หนี้ที่กู้มาเป็นค่าเดินทาง ชำระคืนไปแล้วเพียงแค่ดอกเบี้ย กลับประเทศต้องไปเผชิญและแบกรับหนี้ก้อนโต เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่คิดจะหลบหนี ต้องคิดให้ดี อย่าสร้างปัญหาและดับอนาคตของตน
ที่ทำการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
เชิญร่วมตอบแบบสำรวจความคิดเห็นจากการรับฟัง Rti Podcast ลุ้นรับของรางวัลพิเศษ! กรอกแบบสอบถามได้ที่ :https://2023appsurvey.rti.org.tw/th