close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

สโมสรผู้ฟัง วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565

  • 26 March, 2022
สโมสรผู้ฟัง
ชาวไต้หวันกว่า 60% หรือประมาณ 14 ล้านคนฝากท้องไว้กับร้านอาหาร

1. แจ้งการเปลี่ยนแปลงคลื่นความถี่การออกอากาศในภาคเช้าของ Rti

          ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 มีนาคมนี้เป็นต้นไป Rti จะเปลี่ยนคลื่นความถี่การออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้นในภาคเช้าเวลา  07.00-08.00 น. (เวลาในไทย) มาเป็น SW 13735 KHz ( เดิมออกอากาศที่คลื่น 9745 KHz) ส่วนภาคค่ำยังคงออกอากาศในคลื่นความถี่เดิมตามปกติ ขอความกรุณาเพื่อนผู้ฟังที่รับฟังรายการผ่านระบบคลื่นสั้น ช่วยรายงานผลการรับฟังเข้าสู่รายการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ท่านที่รายงานผลการรับฟัง จะได้รับของที่ระลึกสวยเก๋มอบให้ทุกท่าน

เสาอากาศส่งคลื่นวิทยุของ Rti

2. รู้ไหม? นครเถาหยวน เป็นเมืองที่ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติมากที่สุดในไต้หวัน ทั้งแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่นและน้ำท่วม จะเบาบางกว่าพื้นที่อื่น

          ข่าวเด่นประเด็นร้อนในสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องของสภาพอากาศและเหตุแผ่นดินไหว ช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ สภาพอากาศในไต้หวันค่อนข้างย่ำแย่ ทั้งหนาวทั้งฝน แถมเมื่อวันพุธที่ 23 มี.ค. ยังเกิดแผ่นดินไหวอีก โดยช่วงกลางดึกเวลา 01.41 น. ผู้คนบนเกาะไต้หวันถูกปลุกให้ตื่นจากความฝันเพราะเสียงสัญญาณเตือนภัยแผ่นดินไหว จากนั้นก็เจอแรงเขย่าจากแผ่นดินไหวขนาด 6.6 ตามมาตราริกเตอร์ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลฮัวเหลียน มีความลึก 30.6 กิโลเมตร เมืองไถตงมีแรงสั่นสะเทือนสูงสุดอยู่ที่ระดับ 6 จัดเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในปีนี้ และเป็นครั้งแรกของภาคตะวันออกไต้หวันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีขนาดมากกว่า 6 ในรอบ 49 ปี เทียบเท่าขนาดความแรงของระเบิดปรมาณู 4 ลูก ทั่วไต้หวันรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และยังมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเวลา 08.00 น. โดยเฉพาะพื้นที่แถบเมืองไถตงและฮัวเหลียน ภายใน 1 วันมีอาฟเตอร์ช็อก 79 ครั้ง เป็นระดับความแรงที่รับรู้ได้ 13 ครั้ง ความแรงที่เกินระดับ 5 อีก 7 ครั้ง

สภาพความเสียหายของสะพานอวี้ซิง (玉興橋) ใกล้เมืองฮัวเหลียนที่อยู่ระหว่างขยายสะพานจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา

          หลังเกิดแผ่นดินไหวสื่อไต้หวันรายงานข่าวกันอย่างครึกโครม แม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต มีคนบาดเจ็บเล็กน้อยเพียงไม่กี่คน  และสะพานแห่งหนึ่งชื่อสะพานอวี้ซิง (玉興橋) ตำบลอวี้หลี่ เมืองฮัวเหลียนซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างขยายเส้นทางจราจร คานสะพานที่เพิ่งยกขึ้นวางเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 มี.ค. 65) เกิดแตกและหักหลายท่อน มูลค่าความเสียหายเกือบ 50 ล้านเหรียญไต้หวัน และยังมีโรงเรียนได้รับความเสียหาย 167 แห่ง มูลค่าความเสียหายกว่า 40 ล้านเหรียญไต้หวัน

แผ่นดินไหวเมื่อ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา มีโรงเรียนทั่วไต้หวันได้รับความเสียหาย 167 แห่ง มูลค่าความเสียหายกว่า 40 ล้านเหรียญไต้หวัน

          พูดถึงภัยธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือพายุไต้ฝุ่น เพื่อนผู้ฟังที่มาทำงานหรือมาตั้งรกรากอยู่ในไต้หวัน ต้องเคยเจอกันมาแล้วทุกคน อย่างแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ปีละหลายครั้ง หลายคนเริ่มชิน แต่บางคนก็ยังเข่าอ่อนทุกครั้งเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะคนที่อยู่แถวเมืองไถตงและฮัวเหลียนจะเจอบ่อย ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยิ่งเกิดบ่อยยิ่งไม่อันตราย เพราะถือว่ามีการปลดปล่อยพลังงานบ่อย ๆ ความรุนแรงจะไม่มาก ในขณะที่ทางภาคกลางของไต้หวัน อาทิ เมืองหนานโถว เจียอี้ และไถหนาน แม้จะเกิดแผ่นดินไหวไม่บ่อย แต่เวลาเกิดทีไรมักจะรุนแรงมาก อย่างเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2542 ก็เกิดขึ้นที่เมืองหนานโถว เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตถึง 2,415 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 7 คน นอกจากนี้เมืองทางภาคตะวันออกยังเจอพายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำเป็นประจำ ทั้งนี้เนื่องจากพายุไต้ฝุ่นจะก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ และมักจะพัดเข้าทางภาคตะวันออกของไต้หวัน ดังนั้นน่าจะกล่าวได้ว่า คนที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเช่น อี๋หลาน ฮัวเหลียนและไถตง ถือว่าโชคร้ายกว่าคนในเมืองอื่น

เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ100 ปี เมื่อวันที่ 21ก.ย.2542 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 2,415 คน อาคารบ้านเรือนพังทลายทั้งหลัง 51,711 หลัง

          แต่ท่านทราบไหมว่าผู้คนในเมืองไหนที่โชคดีที่สุด จากข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวันพบว่า เมืองที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยจากภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและพายุไต้ฝุ่น ก็คือ นครเถาหยวน เพราะไม่ได้อยู่ในแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก อีกทั้งเป็นที่ราบสูง แทบจะไม่มีเหตุน้ำท่วมเกิดขึ้น ใต้ดินเป็นแผ่นหินต่างจากเมืองอื่น ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงมักไม่ค่อยสั่นสะเทือนแรงเหมือนเมืองอื่น ๆ แม้ขนาดของแผ่นดินไหวจะเท่ากันแต่จะรู้สึกเบากว่า เช่นในเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2542 พื้นที่เถาหยวนไม่มีอาคารบ้านเรือนพังทลายเสียหายเลยแม้แต่หลังเดียว

เขตศิลปวัฒนธรรม (Arts and Cultural District) เป็นเขตเมืองใหม่ของนครเถาหยวนที่คนหนุ่มสาวจากไทเปย้ายเข้ามาอาศัยอยู่มากที่สุด

          ส่วนพายุไต้ฝุ่นที่พัดเข้าไต้หวันกว่าจะมาถึงนครเถาหยวน ก็มักจะอ่อนกำลังลงแล้ว อานุภาพของไต้ฝุ่นจึงไม่ค่อยรุนแรงนัก ดังนั้นหากมองจากแง่มุมนี้ ถือได้ว่าผู้คนในนครเถาหยวนโชคดีกว่าผู้คนในเมืองอื่น และนั่นคือเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ในช่วงหลายปีมานี้ คนหนุ่มสาวจากไทเปนิยมย้ายไปพำนักอาศัยในเถาหยวนมากขึ้นเป็นลำดับ

ชิงผู่ ย่านที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในเถาหยวน บริเวณที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงเถาหยวน

3. วัฒนธรรมการกินอาหารนอกบ้านของชาวไต้หวัน 60% หรือ 14 ล้านคนฝากท้องไว้กับร้านอาหาร มื้อเที่ยงมากสุด มีเพียง 6% ทำกินเองทั้ง 3 มื้อ

          อาจเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม หนุ่มสาวชาวไต้หวันส่วนใหญ่ต้องทำงาน ทำให้การกินอาหารนอกบ้านกลายเป็นสิ่งจำเป็น และนั่นเป็นเหตุให้ธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจสั่งอาหารเดลิเวอรี่ เติบโตขึ้นอย่างมาก ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แม้ผู้คนอาจลดจำนวนครั้งในการกินอาหารนอกบ้าน แต่สั่งอาหารเดลิเวอรี่มากินกันที่บ้านหรือสถานที่ทำงาน ชาวไต้หวันที่ทำอาหารกินเองทั้ง 3 มื้อลดน้อยลงมาก ผลการสำรวจล่าสุดมีเพียง 6%

ชาวไต้หวัน 60% หรือประมาณ 14 ล้านคนฝากท้องไว้กับร้านอาหาร

          ข้อมูลของสำนักสถิติ กระทรวงเศรษฐการไต้หวันพบว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในไต้หวัน มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อเนื่องทุกปี ในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 513,900 ล้านเหรียญไต้หวัน และผลการสำรวจหนุ่มสาวชาวไต้หวันในวัยทำงาน อายุระหว่าง 25-35 ปี พบว่า กินอาหารนอกบ้านสัปดาห์ละ 1-6 ครั้งมากที่สุด 35.8% ตามด้วย 7-15 ครั้งต่อสัปดาห์ มี 29.3% 16-20 ครั้งต่อสัปดาห์ มี 10.9% และมี 18% ที่กินอาหารนอกบ้านทุกมื้อ ส่วนที่ทำกินเองทั้ง 3 มื้อ มีเพียง 6%

คนไต้หวันส่วนใหญ่กินอาหารนอกบ้าน ที่ทำกินเองทั้ง 3 มื้อ มีเพียง 6%

          อาหารมื้อไหนที่คนไต้หวันนิยมกินนอกบ้านมากที่สุด คำตอบคือ มื้อเที่ยง สูงถึง 66.7% ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทำงาน กินอาหารนอกบ้านสะดวกกว่า ตามด้วยอาหารมื้อเช้า 54.1% มื้อค่ำมี 27.3%

อาหารมื้อเที่ยง เป็นมื้อที่คนไต้หวันนิยมกินนอกบ้านมากที่สุด สูงถึง 66.7% มากกว่า 14 ล้านคน

          แหล่งอาหารนอกบ้านที่สำคัญสุด ได้แก่ร้านอาหารริมทางหรือร้านสตรีทฟู้ด (Street food) 37.4% ร้านอาหาร 31.8% ร้านข้าวกล่อง 31.1% ตามด้วยฟาสต์ฟู้ด ร้านสะดวกซื้อ ฟู้ดคอร์ท และภัตตาคาร

ฟู้ดคอร์ทของห้างต่างๆ ช่วงเที่ยงและเย็นจะเต็มไปด้วยผู้คน

          ก่อนหน้านี้ รายงานการสำรวจของสำนักงานสถิติและการบัญชีของสภาบริหารเคยรายงานว่า ชาวไต้หวันอายุ 13-64 ปี กินอาหารนอกบ้านทั้ง 3 มื้อจำนวน 12 ล้านคน ยิ่งมื้อเที่ยงสูงถึง 14 ล้านคน

ร้านสะดวกซื้อทุกแห่ง จะจัดพื้นที่รับประทานอาหารให้แก่ลูกค้า

          ทำไมคนไต้หวันถึงนิยมกินอาหารนอกบ้าน ทั้งที่ราคาอาหารนอกบ้านไม่ถูก ทั้งนี้เป็นเพราะสังคมไต้หวันในปัจจุบัน เป็นสังคมอุตสาหกรรม และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก สามีภรรยาต้องทำงานทั้งคู่ ลูกไปโรงเรียน อาหารมื้อเช้าส่วนใหญ่ซื้อจากร้านปากซอยใกล้บ้าน มื้อเที่ยงซื้อกินที่ร้านใกล้ที่ทำงาน ลูกที่ไปโรงเรียนก็กินอาหารที่โรงเรียน ช่วงเย็นเหน็จเหนื่อยกันทั้งครอบครัว พ่อแม่ซื้ออาหารกลับไปกินที่บ้าน หรือพากันไปกินนอกบ้าน ไม่เหมือนสังคมสมัยก่อนที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อตาแม่ยาย หรือพ่อแม่สามี ทำอาหารเตรียมไว้รอลูกหลานเลิกงานเลิกเรียนกลับมากินกันพร้อมหน้าพร้อมตาที่บ้าน

ร้านสะดวกซื้อจะมีอาหารสำเร็จรูปวางขายมากมาย

          ด้วยเหตุนี้ ในไต้หวันร้านอาหารจึงพบเห็นได้ทุกที่ เต็มไปหมด ปัจจุบันการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ก็ได้รับความนิยม หรือร้านสะดวกซื้อทุกแห่ง จะมีโต๊ะไว้บริการลูกค้าที่ซื้ออาหารกินกันในร้าน ทำให้ธุรกิจอาหารเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางธุรกิจบริการอื่น ๆ อาทิ โรงแรม การท่องเที่ยวหดตัว เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

ในปี 2561 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในไต้หวันมีมูลค่าสูงถึง 513,900 ล้านเหรียญไต้หวัน

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง