close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ฮอตฮิตติดดาว ประจำวันอาทิตย์ที่ 31 ต.ค. 2564

  • 31 October, 2021
ฮอตฮิตติดดาว
ฮอตฮิตติดดาว ประจำวันอาทิตย์ที่ 31 ต.ค. 2564

   พาคุณไปติดดาวซีรีส์เจาะลึกไต้หวันในแง่มุมต่างๆ สัปดาห์นี้เป็นเรื่องราวการต่างประเทศของไต้หวัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาติต่างๆ

     สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นรัฐอธิปไตยและเป็นเอกราช มีกองกำลังทหารแห่งชาติเป็นของตนเอง และดำเนินกิจการด้านการต่างประเทศด้วยตนเอง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป้าหมายของประเทศคือ “การสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีกับประเทศอื่นๆ และปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ เสริมสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ ปกป้องความยุติธรรมระหว่างประเทศ และรักษาสันติภาพของโลก” ส่วนเป้าหมายสูงสุดของนโยบายการต่างประเทศของไต้หวัน คือ การสร้างหลักประกันด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศชาติและการพัฒนาในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายทางการทูตที่เป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับประชาคมโลก

     โดยนโยบายดังกล่าวได้มีการระบุวัตถุประสงค์และแนวทางไว้อย่างชัดเจนว่า ไต้หวันต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศอื่นๆที่มีค่านิยมร่วมกันในด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย ภายใต้แนวทางนี้ การดำเนินภารกิจทางการทูตของประเทศจึงเปลี่ยนจากการให้ความช่วยเหลือด้านการต่างประเทศในทิศทางเดียว เป็นการเจรจาซึ่งกันและกันในรูปแบบ 2 ทิศทาง และประสานความร่วมมือแบบทวิภาคี โดยคำนึงถึงการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและการตลาดระหว่าง 2 ฝ่ายภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีไช่อิงเหวินไต้หวันได้เสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า การบ่มเพาะบุคลากร การแบ่งปันทรัพยากร และส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคกับ 10 ประเทศอาเซียน 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการสร้างความร่วมมือในรูปแบบใหม่ ภายใต้พื้นฐานของการเอื้อประโยชน์ซึ่ง
กันและกัน

     สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับ 15 ประเทศทั่วโลก และเสริมสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมกับประเทศอื่นๆมากมาย อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน ปี 2018 ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรเอสวาตีนี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรของไต้หวัน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการประกาศเอกราชของเอสวาตีนี และยังเป็นวันฉลองพระชนมายุครบ 50 พรรษาของสมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งเอสวาตีนี อีกทั้งยังประจวบกับเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไต้หวัน – เอสวาตีนีอีกด้วย และในระหว่างวันที่ 12 – 20 สิงหาคม ในปีเดียวกันนั้น ปธน.ไช่ฯ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐปารากวัยและเบลิซ ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลางตามลำดับ ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ ปธน.ไช่ฯ ได้เข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของMr. Mario Abdo Benitez แห่งสาธารณรัฐปารากวัย ตลอดจนร่วมเจรจาหารือกับผู้นำของทั้ง 2 ประเทศข้างต้นอีกด้วย

     ระหว่างวันที่ 21 – 28 มีนาคม ปี 2019 ปธน.ไช่ฯ ได้เดินทางไปเยือนประเทศพันธมิตรอย่างสาธารณรัฐปาเลา สาธารณรัฐนาอูรู และสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ตามแผนการเดินทางล่องทะเลแห่งประชาธิปไตย ต่อเนื่องจากการเดินทางไปเยือนประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกครั้งแรกของปธน.ไช่ฯ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 ซึ่งปธน.ไช่ฯ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม ปธน.ไช่ฯ ยังได้เดินทางไปเยือนประเทศพันธมิตรที่ตั้งอยู่ในแถบทะเลแคริบเบียนอย่างสาธารณรัฐเฮติ เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ และเซนต์ลูเซีย ตามแผนการเดินทางแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยอันยั่งยืน ปี 2019 โดยการเดินทางในครั้งนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้แวะเยือนนครนิวยอร์กและเมืองเดนเวอร์ (Denver) ของสหรัฐฯ อีกด้วย

การมีส่วนร่วมในระดับนานาชาติ

     ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างรัฐบาลและองค์การย่อยต่างๆ รวม 38 องค์การ ประกอบด้วย องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก (APEC) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารเพื่อการพัฒนาทวีปอเมริกากลาง (CABEI) นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์และได้รับเชิญให้เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศและองค์การย่อยต่างๆ กว่า 20 องค์การ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งทวีปอเมริกา (IDB) ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนายุโรป (EBRD) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ทั้งนี้ ไต้หวันให้คำมั่นอย่างหนักแน่นว่า จะธำรงรักษาอำนาจอธิปไตยและเกียรติยศของประเทศชาติ พร้อมทั้งยกระดับสวัสดิการให้กับประชาชนในประเทศ พร้อมทั้งเข้ามีส่วนร่วมในประชาคมโลกอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างเป็นมืออาชีพ เพื่อร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกต่อไป นอกจากนี้ ไต้หวันยังจะแสวงหาโอกาสในการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างรัฐบาลต่างๆต่อไป อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และต้องการเข้าร่วมเป็นภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประชุมสมัชชาองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) เพื่อคุ้มครองสวัสดิการของประชาชน เสริมสร้างความก้าวหน้าให้กับมนุษยชาติ ซึ่งความพยายามเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน

     ณ วันที่ 22 เมษายน ปี 2020 มี 170 ประเทศและเขตพื้นที่ทั่วโลกมอบสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา วีซ่าหน้าด่าน และวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ทำข้อตกลงโครงการตรวจลงตราทำงานและท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการกับ 17 ประเทศ

ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง

     ความสัมพันธ์ไต้หวันกับสหรัฐอเมริกา

     ในบรรดา 38 ประเทศที่สามารถเดินทางเข้าสู่เขตอาณาสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ไต้หวันเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีชื่ออยู่ในโปรแกรมยกเว้นการขอวีซ่าของสหรัฐอเมริกา โดยที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันระหว่างสองประเทศ กฏหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (TRA) ที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ในปี 1979 ยังคงเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ภายใต้บริบทที่ไม่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกัน โดยสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงคำมั่นที่ให้ไว้กับไต้หวันอยู่เสมอๆ ภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันและหลักประกัน 6 ประการ (Six Assurances) ในปี 2018 กฎหมายการเดินทางไต้หวันได้ผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากรัฐสภาสหรัฐฯ โดยมีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เป็นผู้ลงนามบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว พร้อมกันนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังได้กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกระดับชั้นของไต้หวันและสหรัฐฯ เดินทางเยือนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังสนับสนุนอันแข็งแกร่งที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีต่อไต้หวัน ในปี 2020
     กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อพันธมิตรไต้หวันปี 2019 ได้ผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากรัฐสภาสหรัฐฯ โดยมีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เป็นผู้ลงนามบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญที่ระบุถึง การสนับสนุนประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกที่ต้องการสานสัมพันธ์อันดีกับไต้หวัน และสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ในขณะที่ไต้หวัน - สหรัฐฯ ขยายความร่วมมือกันในเชิงกว้าง รูปแบบหุ้นส่วนทวิภาคีและความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ยกระดับขึ้นเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก 

     ความสัมพันธ์ไต้หวันกับนครรัฐวาติกัน

     สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนครรัฐวาติกันได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยทั้งสองประเทศต่างยึดมั่นในคุณค่าของเสรีภาพทางศาสนาและการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม อีกทั้งยังยึดมั่นในค่านิยมอันเป็นสากลในด้านสันติภาพ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยไต้หวันจะมุ่งมั่นในการเป็นหุ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ของนครรัฐวาติกันและประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลก เพื่อร่วมสร้างคุณประโยชน์ในการเป็นพลังแห่งความดี และสร้างสันติภาพให้แก่โลกต่อไป

     ความสัมพันธ์ไต้หวันกับสหภาพยุโรป

     ในทำนองเดียวกัน ไต้หวันและสหภาพยุโรป (EU) และประเทศสมาชิกของ EU ที่ยึดมั่นในค่านิยมสากลร่วมกันในด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม ได้พัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างใกล้ชิดในด้านต่างๆ อาทิ ไต้หวัน – EU ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันอย่างแนบแน่น อีกทั้ง EU ยังเป็นหุ้นส่วนการค้าที่สำคัญเป็นอันดับที่ 5 ของไต้หวัน และเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เร่งเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทั่วโลกให้ความสนใจในปัจจุบัน อาทิ พลังงานสีเขียว เทคโนโลยีทันสมัย และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล รวมถึงจะขยายความร่วมมือระหว่างกันในด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านการจัดการประชุมหารือว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประจำปี โดยทั้งสองฝ่ายจะมุ่งมั่นในการพัฒนาภารกิจที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญร่วมกัน อาทิ ความเสมอภาคทางเพศ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคล LGBTI และสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติ

     ความสัมพันธ์ไต้หวันกับญี่ปุ่น

     เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปี 2013 ไต้หวันและญี่ปุ่นได้ร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยการประมงระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น หลังจากที่ได้ผ่านการเจรจาหารือระหว่างกันแล้วกว่า 17 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1996 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายพื้นที่ทำการประมงของเรือประมงไต้หวัน ในน่านน้ำรอบหมู่เกาะเซ็งกากุฝั่งทะเลจีนตะวันออก ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น ยังถูกเน้นย้ำด้วยการเปลี่ยนชื่อสำนักงานผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นประจำไต้หวันจากสมาคมแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่น (Interchange Association, Japan) มาเป็นสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น - ไต้หวัน (JapanTaiwan Exchange Association) ในเดือนมกราคมปี 2017 เช่น เดียวกับการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมความสัมพันธ์เอเชียตะวันออก (Association of East Asian Relation) มาเป็นสมาคมความสัมพันธ์ไต้หวัน - ญี่ปุ่น (Taiwan-Japan Relations Association)

     เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2017 ไต้หวันและญี่ปุ่นร่วมจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านกิจการทางทะเลระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นประจำปี ครั้งที่ 4 ขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปี 2019 ณ กรุงไทเป ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ที่ได้จัดตั้งกลไกการประชุมดังกล่าวในปี 2016 เป็นต้นมา โดยในการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแสวงหาโอกาสความร่วมมือในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านการประมงและการวิจัย

 

     ที่มาข้อมูล: 2020-2021 คู่มือไต้หวันในหนึ่งนาที จัดพิมพ์โดย กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง