close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 3 พ.ค.2565

  • 03 May, 2022
ที่นี่ไต้หวัน
นิสิตภาควิชากีฏวิทยา ผันตัวเป็นเกษตรกรเลี้ยงผึ้ง ผลิตเอง ขายเอง (ภาพ:林岳陞)

นิสิตภาควิชากีฏวิทยา ผันตัวเป็นเกษตรกรเลี้ยงผึ้ง

นายหลินเอวี่ยเซิง(林岳陞) เยาวชนเลี้ยงผึ้งที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้เกิดในครอบครัวที่เลี้ยงผึ้งมาก่อน เดิมคิดเพียงว่าอยากหารายได้พิเศษ แต่ต่อมาค่อยๆ ยึดเป็นอาชีพ และสร้างแบรนด์น้ำผึ้งของตัวเองชื่อ “ชิวซานมี่จิ้ง丘山蜜徑” การเลี้ยงผึ้งของเขาเริ่มจากศูนย์ เลี้ยงผึ้งเอง ขายผึ้งเองนาน 8 ปี แต่ไม่เคยขาดทุน ก็มีคำถามว่าเขาเริ่มเลี้ยงผึ้งตั้งแต่เมื่อไหร่? ทำไมจึงสนใจเลี้ยงผึ้ง? เขาตอบปนหัวเราะว่า ตอนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจงซิงคณะเกษตรสาขากีฏวิทยาเพราะมีความสามารถพิเศษด้านการกีฬา ใช้โควต้าพิเศษสำหรับเด็กที่เป็นนักกีฬา แต่เมื่อเข้าไปเรียนแล้วมีความกังวลว่าจะเรียนไม่ทันเพื่อน ในใจคิดว่าอย่างน้อยเมื่อเรียนจบก็ขอให้ได้ทำอาชีพที่สนใจและมีความชอบ เมื่อขึ้นปี 2 ต้องเรียนวิชาการเลี้ยงผึ้ง เขาเริ่มมีความสนใจเรื่องการเลี้ยงผึ้ง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเข้าไปเรียนในฟาร์มเลี้ยงผึ้ง ถูกผึ้งต่อย เจ็บปวดทรมาน จนไม่กล้ากลับไปฟาร์มผึ้งอีกเป็นเดือน หลังผ่านไปช่วงหนึ่ง ในใจคิดว่าเมื่อตัดสินใจที่จะเลี้ยงผึ้ง ก็ต้องกัดฟันสู้ เอาชนะอุปสรรคต่อความกลัวผึ้ง ต่อมาเขาถูกผึ้งต่อย 7-8 ครั้งอีก แต่ครั้งนี้มีเพียงเวียนศีรษะเล็กน้อย จากนั้นยังไปสอนบาสเกตบอลอีก ไม่คาดคิดเมื่อถึงช่วงกลางคืนเริ่มไข้สูงตัวร้อน หลังตื่นนอนวันรุ่งขึ้นจำไม่ได้ว่าตัวเองได้ไปสอนบาส ราวกับความจำเสื่อม แต่ความทุกข์ทรมานจากผึ้งต่อยครั้งแรกกับครั้งหลังต่างกันมาก จนสุดท้ายเขาไม่กลัวผึ้งอีก ไม่ต้องสวมชุดป้องกันและยังทำงานท่ามกลางฝูงได้

ผึ้งที่นายหลินเอวี่ยเซิงเลี้ยง สมบูรณ์ ตัวใหญ่(ภาพ:newsmarket)

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ภายใต้การช่วยเหลือจากอาจารย์ เขาได้ซื้อผึ้งมาเลี้ยง 2 ลัง เลี้ยงไว้ที่ลานสวนหลังบ้าน เริ่มเรียนรู้อาชีพการเลี้ยงผึ้ง คนในบ้านไม่คัดค้านแต่ยังสนับสนุนเต็มที่ คุณพ่อซึ่งเกษียณอายุจากราชการตำรวจก็สนใจอยากจะเลี้ยงผึ้งเช่นกัน แม้พ่อลูกจะเลี้ยงผึ้งด้วยกัน แต่วิธีการไม่เหมือนกัน หลินเอวี่ยเซิงเรียนและศึกษาความรู้การเลี้ยงผึ้งจากมหาวิทยาลัย แต่คุณพ่อเขาเรียนรู้จากผู้อาวุโสในวงการเลี้ยงผึ้ง และยังคาดหวังให้เขาลงทุนขยายกิจการเลี้ยงผึ้งอย่างจริงจัง แต่เขาต้องการใช้รายได้จากการเลี้ยงผึ้งค่อยๆ ต่อยอดและขยายธุรกิจ หลังเจรจาและพูดคุยกับคุณพ่อ มีการตกลงกันว่าจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันแต่จะไม่ก้าวก่ายกัน

กาพ่นควันผึ้งที่นายหลินเอวี่ยเซิงถือในมือ เป็นอุปกรณ์สำคัญในการเลี้ยงผึ้ง

 

ปี 2018 จำนวนกล่องเลี้ยงผึ้งที่เริ่มต้นแค่ 2 ลัง เพิ่มขึ้นเป็น 15 ลัง จึงต้องหาสถานที่เพื่อเป็นแหล่งหาอาหารของผึ้งเพิ่ม เนื่องจากผึ้งไวต่อยาฆ่าแมลงมาก ต้องหาสภาพแวดล้อมที่ไม่มีการพ่นยาฆ่าแมลง เขาได้เจอสวนผักที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนในนครไทจงแห่งหนึ่งที่ไม่มีการฉีดยาฆ่าแมลง เจ้าของสวนใจดี ยอมให้เอาลังผึ้งไปวางโดยไม่เสียค่าเช่า ต่อมากลายเป็นสถานที่หลักของการวางลังผึ้ง และเริ่มขยายการเลี้ยงผึ้งจาก 15 ลังค่อยๆ เพิ่มเป็น 100 ลัง หลายคนบอกว่าอาชีพเลี้ยงผึ้งเป็นงานยุ่ง แต่นายหลินเอวี่ยเซิงกลับมองว่าเป็นงานอิสระเหมือนผึ้งที่บินไปมาได้ ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ดอกลำไยและลิ้นจี่บาน ก็จะนำกล่องเลี้ยงผึ้งไปวางเพื่อให้ผึ้งได้หาอาหาร เมื่อถึงช่วงที่เกษตรกรต้องพ่นยาก็ต้องย้ายลังผึ้งไปที่อื่น เมื่อถึงหน้าร้อนคนเลี้ยงผึ้งจะมีเวลาหยุดพักผ่อนมากขึ้น เพียงแค่หาสถานที่หลบร้อน ไม่ให้ผึ้งตากแดดตากฝน และใช้กรดออกซาลิกกำจัดไรที่อยู่ในตัวผึ้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงจะนำลังผึ้งไปหาอาหารที่อื่นอีก งานจะไม่ยุ่งมากนัก มีคนเลี้ยงผึ้งบางรายไม่พาผึ้งไปหาอาหารในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือไม่ก็เคลื่อนย้ายลังผึ้งจากสวนผักไปยังสวนไผ่เพื่อให้ผึ้งได้หลบหนาว และให้ผึ้งหาอาหารจากบริเวณใกล้เคียง

หลินเอวี่ยเซิง ขายผลิตภัณฑ์ที่ตลาดนัดเกษตร

น้ำผึ้งถือเป็นผลิตภัณฑ์ราคาสูง ช่องทางการขายเป็นตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินต่อความอยู่รอดของการยึดอาชีพเลี้ยงผึ้ง ไต้หวันมีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงผึ้งมากมาย แต่ช่องทางการขายมีไม่มาก คนเลี้ยงผึ้งแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ต้องอาศัยการรับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง วิธีการเช่นนี้จะถูกกดราคา ยกตัวอย่าง ถังเหล็กใส่น้ำผึ้ง 1 ถัง ถ้านำไปขายด้วยตัวเองจะได้ราคา 240,000 เหรียญไต้หวัน แต่ถ้าขายให้พ่อค้าคนกลางได้รับเงินแค่ 60,000-70,000 เหรียญไต้หวัน ต่างกัน 4-5 เท่า ดังนั้น นายหลินเอวี่ยเซิงใช้วิธีผลิตเองขายเอง หากลุ่มลูกค้าประจำ ซึ่งการขายในตลาดนัดเกษตรถือเป็นช่องทางสำคัญ แต่บางครั้งขายไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 เขาใช้วิธีบริหารงานเหมือนการเปิดบริษัท จดบันทึกรายรับรายจ่าย และพบว่าไม่เคยขาดทุนตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งปัจจุบัน เขาได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ชีวิตการเลี้ยงผึ้งมีความอิสระ ไม่เพียงแต่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจ แต่ยังสร้างรายได้  ไม่ต้องถูกจำกัดเหมือนทำงานในบริษัท แม้บางครั้งรายได้ไม่สม่ำเสมอ เจออุปสรรค แต่เมื่อเห็นผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับ หรือเห็นฝูงผึ้งที่เลี้ยงมีความแข็งแรง ก็ยังคงรักงานและยืนหยัดต่อไป

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง