close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ขุนพล แรงงานไทย - 2022-10-07

  • 07 October, 2022
ขุนพล แรงงานไทย
แรงงานไทยผิดกฎหมาย ผูกคอตายในเพิงพักกลางภูเขาในเมืองหนานโถว สำนักงานแรงงานไทย ไทเป ขอความช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านพื้นที่เกิดเหตุช่วยเหลือทายาทฌาปนกิจศพ

1. ไต้หวันเปิดประเทศ! 13 ต.ค. เป็นต้นไป งดกักตัว ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วันในหอพักหรือห้องพักโรงแรม นายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสถานที่สังเกตอาการ รัฐจ่ายเงินอุดหนุนค่าห้องพักผู้อนุบาล 50%

      ตามที่ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคหรือ CECC มีกำหนดจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดน เปิดให้ชาวต่างชาติทั่วไปเดินทางเข้าไต้หวันได้ โดยไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป แต่ให้สังเกตอาการ 7 วัน ตั้งแต่ 13 ต.ค. เป็นต้นไปนั้น กระทรวงแรงงานประกาศในวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า สำหรับแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่ นายจ้างต้องจัดห้องพักโรงแรมทั่วไป หอพักแรงงานต่างชาติหรือบ้านพักนายจ้างที่มีห้องพัก 1 คนต่อ 1 ห้องและมีห้องน้ำในตัวหรือห้องน้ำที่ไม่ได้ใช้ร่วมกับผู้อื่น ในระหว่างสังเกตอาการ 7 วัน แรงงานต่างชาติในภาคการผลิตและผู้อนุบาลที่ไม่ได้ดูแลกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยอาการหนัก หากผลตรวจ ATK เป็นไปตามที่กำหนด สามารถไปทำงานตามที่ได้รับอนุญาตได้ กระทรวงแรงงานสรุปมาตรการ 0+7 สำหรับแรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันดังนี้ :

นายไช่ม่งเหลียง อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน ประกาศมาตรการ 0+7 สำหรับแรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวัน

       ก่อนการเดินทาง

ยังคงมาตรการป้องกันโรคในประเทศต้นทางที่ปฏิบัติในปัจจุบันต่อไป โดยนายจ้างหรือ บจง. ต้องลงทะเบียนก่อนการเดินทางของแรงงานต่างชาติ 7 วัน ที่เว็บไซต์ศูนย์บริการแรงงานต่างชาติประจำท่าอากาศยาน https://fwas.wda.gov.tw/ ห้องพักที่จัดเตรียมสำหรับสังเกตอาการตนเอง 7 วัน อาจเป็นห้องพักโรงแรมทั่วไป หอพักแรงงานต่างชาติหรือบ้านพักนายจ้างที่มีห้องพัก 1 คนต่อ 1 ห้องและมีห้องน้ำในตัวหรือห้องน้ำที่ไม่ได้ใช้ร่วมกับผู้อื่น แต่ในกรณีที่สถานที่สังเกตอาการเป็นหอพักป้องกันโรคที่ผ่านการรับรองของกองแรงงานท้องที่ หรือห้องพักโรงแรมกักโรค ให้ลงทะเบียนก่อนการเดินทาง 3 วัน

แรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวัน ต้องสังเกตอาการตนเอง 7 วัน ในห้องพักที่พัก 1 คนต่อ 1 ห้องและมีห้องน้ำในตัวหรือมีห้องน้ำที่ไม่ได้ใช้ร่วมกับคนอื่น

      ข้อควรปฏิบัติหลังการเดินทางเข้าไต้หวัน

      1. แรงงานต่างชาติต้องตรวจด้วยชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วนหรือ ATK ในวันที่เดินทางเข้าไต้หวันหรือวันถัดไป จากนั้นต้องตรวจในทุก 2 วัน ได้แก่วันที่ 3, 5 และวันที่ 7 ของการเดินทาง รวม 4 ครั้ง และตรวจเมื่อมีอาการ โดยใช้ชุดตรวจ ATK จำนวน 4 เทสต์ ที่ได้รับแจกฟรีขณะเดินทางเข้าไต้หวัน นายจ้างและ บจง. ต้องให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างชาติถ่ายภาพผลตรวจ ATK อัปโหลดไปยังเว็บไซต์ศูนย์บริการแรงงานต่างชาติประจำท่าอากาศยาน

ภาพบรรยากาศที่สนามบินนานาชาติเถาหยวน

      2. นายจ้างหรือ บจง. สามารถจัดรถไปรับส่งแรงงานต่างชาติด้วยตนเอง หรือเช่ารถบัสรับส่งแรงงานต่างชาติไปยังสถานที่สังเกตอาการตนเองตามที่ลงทะเบียนไว้

      3. ในช่วงระหว่างสังเกตอาการ 7 วัน แรงงานต่างชาติในภาคการผลิต อาทิ แรงงานต่างชาติที่ทำงานในโรงงาน ไซต์งานก่อสร้าง ภาคเกษตรและการประมง หากผลตรวจ ATK เป็นลบภายใน 2 วัน และได้อัปโหลดไปยังเว็บไซต์ศูนย์บริการแรงงานต่างชาติประจำท่าอากาศยานแล้ว สามารถไปทำงานตามที่ได้รับอนุญาตได้ แต่ผู้อนุบาลที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยอาการหนัก เช่นผู้ถูกดูแลที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ และ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องสังเกตอาการตนเอง 7 วันในห้องพักโรงแรมหรือหอพักแรงงานต่างชาติ หากผลตรวจ ATK เป็นลบภายใน 2 วัน สามารถออกนอกห้องพักได้ แต่ยังทำงานไม่ได้ ยกเว้นผู้อนุบาลที่ดูแลผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยอาการหนัก ได้แก่ผู้มีอายุ 6 ปีขึ้นไปไม่เกิน 65 ปี

      4. นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายห้องพักสถานที่สังเกตอาการ 7 วัน สำหรับนายจ้างที่ว่าจ้างผู้อนุบาล หากจัดสถานที่สังเกตอาการตนเองเป็นห้องพักโรงแรม รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนตามที่จ่ายจริง 50% ต่อคนต่อวัน แต่ไม่เกิน 1,250 เหรียญต่อวัน

2. สยอง! คนงานไทยก้มหน้าทำงานและหันหลังให้ คนขับมองไม่เห็นถอยรถบรรทุกทับร่างขาด ไส้ทะลักเสียชีวิตคาที่

      เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานอีกแล้ว คราวนี้เกิดขึ้นในไซต์งานขูดผิวถนนเพื่อลาดยางมะตอยที่นครไทจง คนขับถอยรถบรรทุก มองไม่เห็นคนงานไทยที่กำลังก้มหน้าทำงานตรวจจับฝาครอบเหล็กท่อระบายน้ำในลักษณะหันหลังให้ ถูกรถบรรทุกทับ มีคนเห็นและร้องเสียงดัง คนขับจึงหยุดรถลงมาตรวจดู คนงานไทยถูกทับร่างขาด ไส้ทะลักเสียชีวิตคาที่

เกิดอุบัติเหตุในไซต์งานขูดผิวถนนเพื่อลาดยางมะตอยในซอยหุ้ยหยางเจ เขตอู้ฟง นครไทจง

      อุบัติเหตุสยองขวัญคดีนี้ เกิดขึ้นในซอยหุ้ยหยางเจ เขตอู้ฟง นครไทจง เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา เวลา 11.00 เศษ ขณะที่ผู้รับเหมาทำการขูดไสผิวถนนเพื่อลาดยางใหม่ แรงงานไทยรายหนึ่งกำลังก้มหน้าทำงาน โดยใช้เครื่องตรวจจับวัตถุโลหะเพื่อหาฝาครอบเหล็กของท่อระบายน้ำที่ฝั่งอยู่ใต้ผิวถนน จากนั้นใช้สีสเปรย์พ่นทำเครื่องหมาย เพื่อให้รถกัดหรือรถขูดไสผิวถนนเว้นที่ไว้ จะได้ไม่ทำให้ท่อระบายน้ำแตก จากนั้นถึงจะลาดยางแอสฟัลต์หรือยางมะตอยใหม่ แต่เนื่องจากก้มหน้าทำงานในลักษณะหันหลัง ไม่เห็นรถบรรทุกยางแอสฟัลต์เก่าที่ถอยหลัง และคนขับที่ถอยรถบรรทุกก็มองไม่เห็นคนงานไทย ทำให้ล้อหลังรถบรรทุกทับร่างขาดเป็น 2 ท่อน จนไส้ทะลักเลือดไหลเต็มพื้น ขณะนั้นมีคนงานผู้โชคร้ายรายนี้ทำงานอยู่ในที่เกิดเหตุคนเดียว ชาวบ้านสองข้างทางบางคนที่เห็นเหตุการณ์รีบร้องเสียงดังให้หยุดรถ นายหวง อายุ 65 ปี ชายชาวไต้หวันที่เป็นคนขับจอดรถลงมาตรวจดู เห็นสภาพการณ์ของแรงงานไทยดังกล่าวแทบเป็นลม รีบร้องว่าไม่ได้ตั้งใจ มองไม่เห็นจริง ๆ แต่ก็สายไปเสียแล้ว

เกิดอุบัติเหตุในไซต์งานขูดผิวถนนเพื่อลาดยางมะตอยที่ซอยหุ้ยหยางเจ เขตอู้ฟง นครไทจง

      หลังเกิดเหตุฝ่ายตรวจสอบความปลอดภัยในการทำงานและตำรวจ พนักงานอัยการรุดไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ เบื้องต้นยืนยันว่าเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน สั่งการให้หยุดงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบความรับผิดชอบ หากนายจ้างมีความผิดเรื่องฝ่าฝืนกฎระเบียบในการทำงาน จะถูกลงโทษปรับเงินสูงสุด 300,000 เหรียญ และอาจมีโทษอาญาด้วย ส่วนนายหวง คนขับที่ก่อเหตุ ถูกนำตัวไปสอบปากคำ ถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนโดยประมาท

คนขับรถบรรทุกถอยรถมองไม่เห็นทับร่างแรงงานไทยเสียชีวิต

      สำหรับแรงงานไทยผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ อายุ 54 ปี มาจากอำเภอเมืองพล จังหวัดขอนแก่น เดินทางมาทำงานกับนายจ้างเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว หลังเกิดเหตุสำนักงานแรงงานไทย ไทเป ได้ประสานและให้ความช่วยเหลือทายาทในการจัดทำหนังสือมอบอำนาจเพื่อดำเนินการเรื่องฌาปนกิจศพ ยื่นขอเงินสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมาย และช่วยเจรจากับนายจ้าง เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยความเสียหายแก่ทายาทในวงเงินที่เหมาะสมต่อไป

คนขับรถบรรทุกถอยรถมองไม่เห็นทับร่างแรงงานไทยเสียชีวิต

      ด้านกองทุนประกันภัยแรงงานไต้หวันกล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 เป็นต้นมา ผู้ใช้แรงงานในไต้หวันทุกคน รวมทั้งผู้อนุบาลในครัวเรือน หากประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนถึงขั้นเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินทดแทนจากกองทุนประกันภัยแรงงานเป็นรายเดือนมากขึ้นกว่าเดิมที่ได้รับเพียง 3,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน แต่กฎหมายใหม่จ่ายเพิ่มเป็น 50% ของวงเงินที่เอาประกัน ซึ่งวงเอาประกันต่ำสุดเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างกรณีของแรงงานไทยที่โชคร้ายรายนี้ ทายาทซึ่งเป็นภรรยาจะได้รับเงินทดแทนต่ำสุด 12,625 เหรียญไต้หวัน คิดเป็นเงินไทยตกประมาณเดือนละ 15,000 บาท และทายาทสามารถรับเงินทดแทนดังกล่าวไปจนถึงสูญสิ้นคุณสมบัติ ซึ่งได้แก่เสียชีวิตหรือไปแต่งงานใหม่ หากมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพิ่มเงินทดแทนได้อีกคนละ 10% สูงสุดเพิ่มได้ 2 คน และบุตรมีสิทธิ์รับเงินทดแทนดังกล่าวจนถึงอายุ 25 ปีบริบูรณ์

คนขับรถบรรทุกถอยรถมองไม่เห็นทับร่างแรงงานไทยเสียชีวิต

3. ที่สุดแห่งการให้! แรงงานไทยในโรงชุบที่ไถหนาน ถูกเครื่องจักรหล่นทับเสียชีวิตหลังส่งรักษา 5 วัน ทายาทบริจาคอวัยวะให้แก่เพื่อนมนุษย์

     อุบัติเหตุเกิดขึ้นถี่มาก! ล่าสุด เกิดขึ้นที่โรงงานชุบโลหะแห่งหนึ่งในเขตอันหนาน นครไถหนาน คนงานไทยรายหนึ่งขณะทำงาน ถูกเครื่องจักรหล่นทับหลังอาการสาหัส ต้องส่งรักษาที่ห้องไอซียูในโรงพยาบาล ยังไม่พ้นขีดอันตราย

     เมื่อวันที่ 29 กันยายน เวลา 10.00 น. เศษ ที่โรงงานชุบโลหะอะไหล่รถจักรยานยนต์แห่งหนึ่งในเขตอันหนาน นครไถหนาน เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง แรงงานไทยอายุ 49 ปี จากจังหวัดศรีสะเกษ ขณะทำงานเดินไปหยิบของที่บ่อชุบ ไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น เครื่องจักรควบคุมระบบไฟบนบ่อชุบร่วงลงมาทับหลังอย่างแรง ทำให้แรงงานไทยรายนี้ตกลงไปติดอยู่ในช่องระหว่างท่อ ทางโรงงานรีบปิดเครื่องและโทรศัพท์แจ้งความ หน่วยกู้ภัยนำร่างของแรงงานไทยขึ้นมา ช่วงแรกยังมีสติตอบสนอง แต่ไม่นานลมหายใจแผ่วเบาลงและไม่มีสัญญาณชีพ เจ้าหน้าที่กู้ภัยรีบปั๊มหัวใจก่อนส่งไปรักษาฉุกเฉินกู้ชีพที่โรงพยาบาลฉีเหม่ย แพทย์พยายามกู้ชีวิต แต่เนื่องจากอาการสาหัส แรงงานไทยรายนี้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา 

แรงงานไทยในโรงงานชุบโลหะที่ไถหนาน ถูกเครื่องจักรหล่นทับอาการโคม่า

     ด้านสำนักงานแรงงานไทย เกาสง นอกจากช่วยทายาทประสานงานให้ บจง. ช่วยยื่นขอเงินสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมายและเจรจาค่าชดเชยจากนายจ้างแล้ว ยังช่วยประสานงานระหว่างทายาทและโรงพยาบาล เรื่องการบริจาคอัวยวะบางส่วนให้แก่เพื่อนมนุษย์ตามความประสงค์ของทายาท ซึ่งถือเป็นที่สุดแห่งการให้

     เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยด้านแรงงาน และกองแรงงานไถหนาน สั่งให้โรงงานดังกล่าวปิดชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและความรับผิดชอบของนายจ้างต่อไป

     ช่วงนี้เกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ สภาการตรวจสอบของไต้หวันรายงานว่า แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในไต้หวัน ส่วนใหญ่ทำงานในกิจการประเภท 3K ได้แก่งานหนัก สกปรกและอันตราย ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานกว่า 300 คน สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากการทำงานของแรงงานท้องถิ่น 1.2 เท่า

      นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มการตรวจสอบความปลอดภัยในสถานประกอบการอย่างเข้มงวดมากขึ้นแล้ว ตัวแรงงานไทยเองก็ขอให้ระมัดระวังในขณะทำงาน อย่างน้อยสุดก็จะลดอุบัติเหตุลงได้ในระดับหนึ่ง...

4. แรงงานไทยหลบหนีรายได้ไม่มั่นคงเครียดจัด ผูกคอตายในเพิงพักกลางภูเขาในเมืองหนานโถว

      แรงงานไทยมีแนวโน้มหลบหนีเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่กลายเป็นคนงานผิดกฎหมายแล้วถึงรู้ว่า ทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง รายได้ไม่มั่นคง แถมยังต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่กล้าไปรับการรักษาพยาบาล ทำให้เครียดจัดจนบางคนมีอาการเป็นโรคซึมเศร้าจบชีวิตตนเองด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม อย่างกรณีล่าสุด แรงงานไทยผิดกฎหมายรายหนึ่งผูกคอตายอยู่ในเพิงพักกลางป่าในตำบลซิ่นอี้ เมืองหนานโถว

แรงงานไทยผิดกฎหมาย ผูกคอตายในเพิงพักกลางภูเขาในเมืองหนานโถว สำนักงานแรงงานไทย ไทเป ขอความช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านพื้นที่เกิดเหตุช่วยเหลือทายาทฌาปนกิจศพ

      เมื่อเช้าวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมานี้ ตำรวจเมืองหนานโถวได้รับแจ้งว่า แรงงานต่างชาติผูกคอตายในเพิงพักกลางป่าตำบลซิ่นอี้ เมืองหนานโถว จากการตรวจสอบพบเป็นแรงงานไทย อายุ 49 ปี มาจากอำเภอพิบูลย์รักษ์ อุดรธานี เคยเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันหลายรอบแล้ว ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม เดินทางมาทำงานในโรงงานหล่อทรายผลิตเหล็กหล่อที่เขตหลงจิ่ง นครไทจง แต่ทำงานได้เพียง 2 เดือนเศษก็หลบหนีไปหางานทำอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากรายได้ไม่มั่นคงและกลัวถูกจับ ต้องหนีไปรับจ้างทำสวนทำไร่กลางป่าเขาในตำบลซิ่นอี้ เมืองหนานโถว และจบชีวิตด้วยการผูกคอฆ่าตัวตายในเพิงพักที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เบื้องต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากความกดดันและความเครียดในการดำรงชีพ ด้านอัยการจะทำการตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป ด้านสำนักงานแรงงานไทย ไทเป ได้ช่วยประสานทายาททำหนังสือมอบอำนาจจัดการศพ หลังฝ่ายตำรวจแจ้งข่าวให้ทราบและขอความช่วยเหลือ นอกจากติดต่อประสานทายาทแล้ว ที่สำคัญจะต้องประสานหน่วยงานหรือมูลนิธิการกุศล เพื่อช่วยเหลือฌาปนกิจศพต่อไป

มีเพื่อนแรงงานไทยในโรงงานเดียวกันหลายคนเดินทางไปร่วมงานศพ

      ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย หากเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต จะไม่มีหลักประกันใด ๆ ทั้งสิ้น และเกือบทั้งหมดไม่ทราบชื่อสถานประกอบการหรือนายจ้างใหม่ที่ว่าจ้างทำงานอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เอาผิดกับนายจ้างใหม่ไม่ได้ ส่วนนายจ้างและ บจง. รายเดิม ตามกฎหมายไม่มีหน้าที่รับผิดชอบแล้ว เนื่องจากมีการแจ้งความเพิกถอนใบอนุญาตทำงานหลังหลบหนีและติดต่อไม่ได้เป็นเวลา 3 วัน ส่วนสำนักงานแรงงานไทยก็ไม่มีงบประมาณสำหรับแรงงานผิดกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย สำหรับแรงงานไทยรายนี้ ทางสำนักงานแรงงานไทย ไทเป ได้ประสานขอความช่วยเหลือจากตำรวจท้องที่และนายเซี่ยไจ้คุน (謝在坤) ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านถงฟู่ชุน ตำบลซิ่นอี้ ที่แรงงานไทยรายนี้ไปพักอาศัยก่อนฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้ใหญ่บ้านมีใจกุศล ช่วยรวบรวมค่าใช้จ่ายจัดการฌาปนกิจศพตามความประสงค์ของทายาทไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเพื่อนแรงงานไทยในโรงงานที่ผู้ตายเคยทำงานก่อนการหลบหนีเดินทางไปร่วมงานหลายคน

ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เกิดเหตุใจบุญ ช่วยจัดการฌาปนกิจศพตามความประสงค์ของทายาท

      ขณะที่ยังมีแรงงานไทยหลายรายหลบหนีนายจ้างแล้วเจ็บป่วย เข้ารับรักษาโดยไม่มีค่ารักษาพยาบาล ซึ่งสถานพยาบาลในไต้หวัน จะรับผู้ป่วยทำการรักษาพยาบาลก่อน โดยไม่ถามหาค่าใช้จ่ายเป็นอันดับแรก แต่หลังรักษาอาการดีขึ้นถึงระดับหนึ่งหรือหายแล้ว คนงานไทยไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล  สุดท้ายถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองส่งกลับประเทศ โดยที่โรงพยาบาลไม่สามารถปิดบัญชีได้ มีการร้องเรียนผ่าน สส. และกระทรวงแรงงานเพื่อทวงหนี้หลายครั้ง ทำให้ภาพลักษณ์แรงงานไทยโดยรวมได้รับความเสียหายและเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ทั้งสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยและสำนักงานแรงงานไทยเป็นอย่างมาก

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง