close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566

  • 08 September, 2023
ขุนพล แรงงานไทย
ไต้หวันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4.05% เป็น 27,470 เหรียญ ปรับขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 มีผล 1 ม.ค. 67

1. ครึ่งแรกปี 2566 สายด่วน 1955 ให้บริการโทรศัพท์ 126,000 สาย ทวงคืนเงินสิทธิประโยชน์กว่า 60 ล้านเหรียญ แรงงานเวียดนามร้องเรียนมากสุด 39.9% แรงงานไทยใช้บริการ 4.3%

      กระทรวงแรงงานแถลงข่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 ให้บริการทางโทรศัพท์ไปแล้ว 126,009 สาย เทียบกับ 121,028 สายของช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 เพิ่มขึ้น 4,981 สาย ในจำนวนนี้ ประมาณ 90% เป็นโทรศัพท์สอบถามข้อมูลและขอคำปรึกษา ที่เหลือ 10% เป็นโทรศัพท์ร้องทุกข์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับค่าจ้าง และแรงงานเวียดนามโทรศัพท์ใช้บริการมากที่สุด

สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 นอกจากเป็นสื่อกลางช่วยแก้ปัญหากรณีพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างแล้ว ยังมีบริการแปลภาษา

      กรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานแถลงว่า หลังจากสายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 รับเรื่องร้องทุกข์แล้ว จะส่งให้กองแรงงานท้องที่ผ่านทางระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้กองแรงงานท้องที่ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาภายในเวลากำหนด นอกจากนี้ จะประสานกับหน่วยงาน NGO จัดหาบ้านพักฉุกเฉินหรือนำส่งรักษาพยาบาล สำหรับแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนหรือถูกทำร้ายร่างกาย โดยมีล่ามคอยเป็นเพื่อนช่วยแปลภาษาและแก้ไขข้อพิพาทด้วย ทั้งนี้ สายด่วนคุ้มครองแรงงาน ให้บริการทั้งแรงงานต่างชาติ แรงงานท้องถิ่น นายจ้างหรือบริษัทจัดหางาน โดยครึ่งแรกปี 2566 มีคนท้องถิ่นโทรศัพท์ใช้บริการประมาณ 30% ขณะเดียวกันเพื่อให้บริการที่หลากหลาย สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 นอกจากทางโทรศัพท์แล้ว ยังให้บริการสอบถามข้อมูล ให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องทุกข์หรือขอความช่วยเหลือผ่านข้อความของกลุ่ม Line@ 1955 แบบเรียลไทม์เป็นภาษาจีน ภาษาไทย เวียดนาม อังกฤษและอินโดนีเซียตลอด 24 ชั่วโมงด้วย ในส่วนของบริการผ่านข้อความ Line@ 1955 แต่ละเดือนมีผู้ใช้บริการประมาณ 1,570 ราย

บรรยากาศการทำงานของเจ้าหน้าที่สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955

      กรมพัฒนากำลังแรงงานเปิดเผยข้อมูลพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 ให้บริการทางโทรศัพท์ไปแล้ว 126,009 สาย ในจำนวนนี้เป็นโทรศัพท์สอบถามข้อมูลและขอรับคำปรึกษา 110,974 สายหรือประมาณ 90% ของโทรศัพท์ที่ใช้บริการของสายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 ทั้งหมด ร้องทุกข์จำนวน 14,537 สาย โทรศัพท์ขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉิน 498 สาย หลังรับเรื่องแล้ว สายด่วนคุ้มครองแรงงานส่งต่อให้กองแรงงานท้องที่ดำเนินการต่อโดยผ่านระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ ช่วยแรงงานต่างชาติโอนย้ายนายจ้างได้สำเร็จ 1,415 ราย ทวงคืนค่าจ้างค้างจ่ายและเงินสิทธิประโยชน์อื่น ๆ 2,478 คดี รวมมูลค่าเงินสิทธิประโยชน์และค่าจ้างค้างจ่ายที่ทวงคืนได้ 61,524,989 เหรียญ

เมื่อรับเรื่องร้องทุกข์แล้ว จะส่งต่อให้กองแรงงานท้องที่รับช่วงแก้ปัญหากันต่อ (ภาพจากกองแรงงานนครนิวไทเป)

      จากการวิเคราะห์ช่วงเวลาที่แรงงานต่างชาติโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาหรือร้องเรียนต่อสายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 มากที่สุด 48.8% จะโทรศัพท์ในช่วงนอกเวลาทำงาน ซึ่งรวมวันหยุดและกลางคืน สำหรับชาติที่โทรศัพท์ใช้บริการมากสุดได้แก่ เวียดนาม 39.9% ตามด้วยแรงงานอินโดนีเซีย 15.9% ฟิลิปปินส์ 8.5% ส่วนแรงงานไทยใช้บริการเพียง 4.3% นอกจากแรงงานต่างชาติแล้ว สายด่วน 1955 ยังเปิดให้แรงงานท้องถิ่นใช้บริการด้วย มีชาวไต้หวันโทรศัพท์ใช้บริการ 31.1% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายจ้างและบริษัทจัดหางาน สอบถามเกี่ยวกับกฎระเบียบ ข้อบังคับด้านการบริหารแรงงานต่างชาติและแจ้งเบาะแสแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย

กองแรงงานจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างแรงงานและนายจ้าง โดยยึดกฎหมายเป็นหลัก (ภาพจากกองแรงงานนครนิวไทเป)

      กรมพัฒนากำลังแรงงานกล่าวว่า ผู้ใช้บริการร่วม 90% โทรศัพท์สอบถามข้อมูลและขอรับคำปรึกษา ประเด็นปัญหาที่สอบถามมากที่สุดได้แก่ เงื่อนไขในสัญญาจ้าง เช่นค่าอาหาร ที่พัก การยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ค่าให้ออกจากงาน ถูกสั่งให้ไปทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต การลดขนาดกิจการของนายจ้าง ถูกบังคับส่งกลับประเทศและค่าเดินทางกลับประเทศเป็นต้น รวมทั้งสิ้น 22.3% ตามด้วยการย้ายงาน 20.4% ขอทราบและยืนยันข้อมูลข่าวสาร 14.3% ประเด็นเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ 9.6% และการบริหารแรงงานต่างชาติ 7.7% ส่วนประเด็นปัญหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุดประมาณ 20.3% ได้แก่ร้องเรียนเรื่องค่าจ้าง การบริหารงาน 17.9% ตามด้วยเอกสารสำคัญ 16.4% เงื่อนไขในสัญญาจ้าง 15.6% และร้องเรียนบริษัทจัดหางาน 13.3%

บรรยากาศการทำงานของเจ้าหน้าที่สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955

      กระทรวงแรงงานไต้หวันกล่าวว่า สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 นอกจากเป็นสื่อกลางช่วยแก้ปัญหากรณีพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างแล้ว ยังมีบริการแปลภาษาไม่ว่าจะในด้านการรักษาพยาบาล การติดต่อกับหน่วยงานราชการ ปัญหาด้านการทำงานและการใช้ชีวิตในไต้หวัน รวมทั้งเป็นล่ามเคลื่อนที่ทางโทรศัพท์ได้ด้วย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญ 5 ภาษาคอยให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เว้นวันหยุด จากเดิมที่ให้บริการเฉพาะแรงงานต่างชาติ ต่อมาเพิ่มการให้บริการนายจ้าง บริษัทจัดหางาน และแรงงานท้องถิ่นด้วย แต่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังคงเป็นแรงงานต่างชาติ

2. หึงโหด! หนุ่มเวียดนามสงสัยแฟนสาวชาติเดียวกันนอกใจ ใช้มีดแทงดับหน้าโรงแรมในเกาสง หนีไปกบดานใต้สะพาน 2 วันถูกตำรวจจับ

      นายเหงียน แรงงานเวียดนามไม่พอใจที่แฟนสาวแซ่เดียวกันมักจะออกไปเที่ยวกับเพื่อน เมื่อคืนวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา นัดแฟนสาวไปคุยกันที่ห้องพักโรงแรมแห่งหนึ่งในเขตฟ่งซาน นครเกาสง ทั้งสองมีปากเสียงถึงขั้นทะเลาะกันที่ประตูหน้าโรงแรม นายเหงียนบันดาลโทสะชักมีดจ้วงกระหน่ำแทงที่หน้าอกและใบหน้าแฟนสาว จากนั้นวิ่งหนีจากสถานที่เกิดเหตุ นางสาวเหงียนถูกแทงที่หน้าอกเป็นแผลลึก 4 แผล และยังมีบาดแผลที่ใบหน้าและหัวอาการสาหัส ถูกนำส่งรักษาได้ไม่นานเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ตำรวจตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่หน้าโรงแรมและตลอดเส้นทางการหลบหนี ออกตามล่าและสามารถรวบตัวได้ที่ใต้สะพาน นายเหงียนในสภาพอิดโรยและหิวโซ เนื่องจากไม่ได้กินอาหารเป็นเวลา 2 วันถูกตำรวจส่งดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนโดยเจตนา

ตำรวจตามจับกุมหนุ่มเวียดนามสงสัยแฟนสาวชาติเดียวกันนอกใจ ใช้มีดแทงดับหน้าโรงแรมในเกาสง หนีไปกบดานใต้สะพาน

      โฆษกสถานีตำรวจฟ่งซานแถลงว่า นายเหงียน แรงงานเวียดนาม อายุ 26 ปี และแฟนสาวแซ่เดียวกัน อายุ 22 ปี ทั้งคู่เดินทางเดินทางมาทำงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่เมืองผิงตงและเกาสงตามลำดับ ระหว่างนี้ นายเหงียนเดินทางไปหาแฟนสาวในช่วงวันหยุดเป็นประจำ แต่ระยะหลังแฟนสาวมักจะออกไปเที่ยว ทำให้นายเหงียนเกิดความไม่พอใจและสงสัยว่าแฟนสาวนอกใจตน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันหยุดงานของนายเหงียน หนุ่มเวียดนามรายนี้ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปหาแฟนสาวอีกครั้ง โดยเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่เขตฟ่งซาน นครเกาสง และนัดนางสาวเหงียนไปเจรจา ช่วงเวลา 21.00 น. เศษ ทั้งคู่ทะเลาะกันรุนแรงที่หน้าโรงแรม นายเหงียนชักมีดปอกผลไม้ที่เตรียมไปล่วงหน้าออกมาแทงไปที่ลำตัวและใบหน้าของนางสาวเหงียน ระหว่างนี้ ฝ่ายหญิงยกมือขึ้นป้อง ทำให้แขนถูกแทงหลายแผลบาดเจ็บสาหัส จากนั้นวิ่งหนีไปจากที่เกิดเหตุ ทิ้งมอเตอร์ไซค์ไว้หน้าโรงแรม ตำรวจได้รับแจ้งเหตุพร้อมรถพยาบาล ส่งนางสาวเหงียนไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่เนื่องจากถูกแทงเป็นแผลลึกที่หน้าอก 4 แผล เสียเลือดมาก แพทย์พยายามกู้ชีวิตแต่ไม่สำเร็จ นางสาวเหงียนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลใน 2 ชั่วโมงถัดมา

นายเหงียนหลังก่อเหตุวิ่งหนีไปซ่อนตัวอยู่ใต้สะพานแม่น้ำฟ่งซานและไม่กล้าออกจากที่หลบซ่อน ไม่กล้านอนหลับและอดอาหารนานถึง 2 วัน

      ตำรวจตรวจดูกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ และติดตามค้นหาที่หลบซ่อนตัวของนายเหงียน เนื่องจากไม่คุ้นสถานที่ นายเหงียนหลังก่อเหตุวิ่งหนีไปซ่อนตัวอยู่ใต้สะพานแม่น้ำฟ่งซานและไม่กล้าออกจากที่หลบซ่อน ไม่กล้านอนหลับและอดอาหารนานถึง 2 วัน ถูกตำรวจตรวจพบและนำตัวออกมาจากใต้สะพานในสภาพที่อิดโรยและหิวโหย และเนื่องจากอากาศร้อน นายเหงียนถอดเสื้อผ้าออกใส่แต่กางเกงในตัวเดียว หลังถูกจับ นายเหงียนรับสารภาพว่า กระทำลงไปเพราะความหึงหวง ทำให้ขาดสติยั้งคิด เป็นเหตุให้แฟนสาวเสียชีวิต หลังสอบปากคำตำรวจส่งดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนโดยเจตนา อัยการเห็นว่า เป็นคดีร้ายแรง จึงยื่นขอให้ศาลควบคุมตัวผู้ต้องหา ศาลอนุมัติตามคำขอของอัยการ

นายเหงียนหลังก่อเหตุวิ่งหนีไปซ่อนตัวอยู่ใต้สะพานแม่น้ำฟ่งซานและไม่กล้าออกจากที่หลบซ่อน ไม่กล้านอนหลับและอดอาหารนานถึง 2 วัน

      ตำรวจเจ้าของคดีเห็นว่า นายเหงียนพกมีดเตรียมการไว้ล่วงหน้า และจากการชันสูตรศพของอัยการพบ 2 แผลแทงทะลุปอด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานหญิงเวียดนามรายนี้เสียชีวิต แสดงว่าฆ่าคนโดยเจตนา ทั้งนี้ ตามกฎหมายของไต้หวัน ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ต้องระวางโทษสูงสุดประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก 10 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม หากเป็นการฆ่าคนโดยไม่เจตนา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แตกต่างกันมาก อยู่ที่หลักฐานและดุลพินิจของศาล

เนื่องจากอากาศร้อน นายเหงียนถอดเสื้อผ้าออกใส่แต่กางเกงในตัวเดียว

3. ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาเดิม ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแรงงานไทยฆ่าชิงทรัพย์ชายไต้หวัน อ้างถูกผู้ตายลวนลามทางเพศ เกิดความแค้นลงมือทำร้ายเป็นเหตุให้เสียชีวิตโดยไม่เจตนา

       คดีที่นายเรวัฒน์ พรมแว่น แรงงานไทยอายุ 32 ปี มาจากจังหวัดพิษณุโลก เดินทางมาทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องมือชั่งชื่อดังระดับโลกในนิคมอุตสาหกรรมหนานกัง เมืองหนานโถวตั้งแต่ 2562 ก่อคดีฆ่าชิงทรัพย์ โดยใช้ไม้เบสบอลทุบหัวนายจาง ชายชาวไต้หวันอายุ 61 จนสลบและใช้เชือกมัดมือผูกกับคอ ใช้เสื้อพันปากจมูก ทำให้หายใจลำบากจนเสียชีวิตในห้องรับแขกบ้านพักของผู้ตาย จากนั้นกวาดเอาเงินสดนับแสนและสร้อยคอ แหวนทองไป หลังฆ่าคนแล้ว ยังกลับเข้าโรงงานทำงานตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนถูกจับดำเนินคดี แม้จะรับสารภาพก่อคดี แต่อ้างว่าเป็นผู้ร่วมกระทำ ยังมีเพื่อนแรงงานไทยที่ร่วมขบวนการอยู่ระหว่างหลบหนีอีก 2 คน จากการตรวจสอบของอัยการจากหลักฐานต่าง ๆ และกล้องวงจรปิดยืนยันได้ว่า นายเรวัฒน์ก่อคดีคนเดียว ไม่มีผู้ต้องหารายอื่นใดเข้าร่วม ศาลท้องถิ่นเมืองหนานโถว ตัดสินเมื่อวันที่ 30 มี.ค. นี้ จำคุกนายเรวัฒน์ฯ ตลอดชีวิต ข้อหาฆ่าชิงทรัพย์ และเนื่องจากเป็นความผิดลหุโทษ ศาลอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำคุกตลอดชีวิต และอนุญาตให้อุทธรณ์ต่อศาลสูงได้

ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาเดิม ตัดสินจำคุกนายเรวัฒน์ พรมแว่น แรงงานไทยอายุ 32 ปี ตลอดชีวิตแรงงานไทยฆ่าชิงทรัพย์ชายไต้หวัน

4. ไต้หวันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4.05% เป็น 27,470 เหรียญ ปรับขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 ผู้ใช้แรงงานรวมแรงงานต่างชาติได้รับอานิสงส์ 1.79 ล้านคน

      เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักวิชาการ พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนจากปัจจุบัน 26,400 เหรียญไต้หวัน เพิ่มเป็น 27,470 เหรียญไต้หวัน หรือปรับเพิ่มเดือนละ 1,070 เหรียญ ปรับขึ้นในอัตราส่วน 4.05% คาดจะมีผู้ใช้แรงงาน ซึ่งรวมแรงงานต่างชาติได้รับอานิสงส์ 1,79,000 คน ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงสำหรับผู้ใช้แรงงานที่ทำงานเป็นรายชั่วโมง ปรับขึ้นจาก 176 เหรียญเป็นชั่วโมงละ 183 เหรียญ หรือปรับขึ้น 4% คาดว่าจะมีผู้ใช้แรงงานที่ได้รับอานิสงส์กว่า 500,000 คน ทั้งนี้ มติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 27,470 เหรียญของที่ประชุมคณะกรรมการฯ ดังกล่าว จะต้องรอการอนุมัติจากสภาบริหารก่อน จากนั้นกระทรวงแรงงานจะประกาศอย่างเป็นทางการและเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

ไต้หวันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4.05% เป็น 27,470 เหรียญ ปรับขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง