close
Rti Thaiดาวน์โหลด Rti App
Open
:::

สโมสรผู้ฟัง วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565

  • 05 February, 2022
สโมสรผู้ฟัง
มังกร หงส์ เต่าและกิเลน สี่สัตว์มงคลของจีนที่เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์

1. หลังตรุษจีน เตรียมเที่ยวชมเทศกาลโคมไฟ จัดงานฉลองทั่วไต้หวัน งานใหญ่อยู่ที่เกาสง

          เทศกาลตรุษจีนจะจบสิ้นสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อผ่านพ้นเทศกาลโคมไฟไปแล้ว ทุกปีหลังฉลองปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติจีนหรือที่เรียกว่าตรุษจีนผ่านไปแล้ว จะเป็นเทศกาลโคมไฟ หรือ元宵節 (อ่านว่าหยวนเซียวเจ๋) คำว่าหยวน 元 มีความหมายว่า แรก ส่วนคำว่า เซียว 宵 แปลว่า กลางคืน หยวนเซียวจึงมีความหมายว่าค่ำคืนที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกหลังจากขึ้นปีใหม่ (ตรุษจีน) หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 ตามปฏิทินจีน โดยมีการจัดงานโคมไฟมีรูปและสีสันต่างๆ ที่เปรียบเสมือนดวงไฟแห่งความรัก ทั้งความรักของหนุ่มสาวที่กำลังจะสร้างครอบครัว และความรักของคนในบ้าน ที่กำลังจะโชติช่วงขึ้นนับจากวันปีใหม่

โคมไฟหลักของเทศกาลโคมไฟไต้หวันที่นครเกาสง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอ้ายเหอหรือแม่น้ำแห่งความรัก

          ในไต้หวันมีการจัดงานเทศกาลโคมไฟเป็นประจำทุกปี โดยงานหลัก เรียกว่าเทศกาลโคมไฟไต้หวัน (台灣燈會) จัดโดยกรมส่งเสริมการท่องเที่ยว จับมือกับรัฐบาลเมืองต่างๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ปีนี้นับเป็นปีที่ 33 แล้ว นครเกาสงเป็นเจ้าภาพจัดงาน เมืองต่างๆ ก็มีการจัดงานเทศกาลโคมไฟของแต่ละพื้นที่เหมือนกัน นอกจากรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีเก่าแก่แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของท้องถิ่นอีกด้วย

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติเว่ยอู่อิ๋ง นครเกาสง สถานที่จัดงานเทศกาลโคมไฟไต้หวัน

          ปีนี้ เทศกาลโคมไฟไต้หวันที่นครเกาสง จัดขึ้นที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติเว่ยอู่อิ๋ง (衛武營 National Kaohsiung Center for the Arts) ตั้งแต่ 1-28 กุมภาพันธ์ มีการแสดงประจำทุกวัน แต่จะจุดโคมไฟหลักในเวลา 19.00 น. ในวันหยวนเซียวหรือขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 ตรงกับปฏิทินสากลวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หลังวันแห่งความรักของชาวตะวันตกหรือวันวาเลนไทน์ 1 วัน โคมไฟหลักนี้เป็นรูปหงส์บิน ที่ฐานจะมีลวดลายอักษรจีนแบบเฉ่าซู (草書) ที่เขียนด้วยพู่กันสอดคล้องกับหงส์ที่กำลังบิน ส่วนโคมไฟเล็กที่แจกในงานเป็นโคมไฟรูปเสือ ซึ่งเป็นปีนักขษัตรของปีนี้ ใครที่อยู่ภาคใต้ไปชมการแสดงที่ยิ่งใหญ่อลังการของเทศกาลโคมไฟไต้หวันได้

โคมไฟหลักเป็นรูปหงส์บิน ที่ฐานจะมีลวดลายอักษรจีนแบบเฉ่าซู (草書) ที่เขียนด้วยพู่กันสอดคล้องกับหงส์ที่กำลังบิน

          ส่วนใครที่อยู่ภาคเหนือ ไปเที่ยวไปชมงานเทศกาลโคมไฟได้ตามเมืองต่างๆ อย่างที่นครเถาหยวน จัดขึ้น 3 เขต คือสวนสาธารณะกวงหมิงในเขตจงลี่ สองฝั่งแม่น้ำเหล่าเจซีในจงลี่ และสวนสาธารณะซินซื่อในเขตผิงเจิ้น ส่วนที่กรุงไทเป จัดขึ้น 3 จุด ได้แก่ เจี้ยนถาน ซื่อหลิน และจือซาน นครนิวไทเปจัดขึ้นวันที่ 4-28 กุมภาพันธ์ ณ สวนสาธารณะนครนิวไทเป (新北大都會公園 New Taipei Metropolitan Park) ตั้งอยู่ที่เขตซันฉง นั่งรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลงสถานีซันฉง ออกประตูหมายเลข 1

เทศกาลโคมไฟที่นครนิวไทเป จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-28 กุมภาพันธ์ ณ สวนสาธารณะนครนิวไทเป ที่เขตซันฉง

2. พาไปรู้จัก สี่สัตว์มงคลของจีนที่เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่กิเลน หงส์ เต่าและมังกร

          ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ผู้คนจะพูดถึงแต่เรื่องที่เป็นสิริมงคล ในสัปดาห์นี้จึงขอนำเสนอเกี่ยวกับสัตว์มงคลของจีนซึ่งประกอบด้วย กิเลน หงส์ เต่าและมังกร ( 麟 、鳳 、龜、 龍) เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่า สัตว์สี่ชนิดนี้เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์และมีวิญญาณรับรู้เรื่องราวในโลกมนุษย์ จึงเรียกสัตว์มงคลสี่ชนิดนี้ว่า 四靈  คำว่า 四แปลว่า สี่ 靈แปลว่า วิญญาณ หรือความศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงความเป็นสิริมงคลด้วย  四靈จึงหมายถึง สี่สัตว์มงคล โดยสัตว์ทั้งสี่ชนิดนี้มีเพียงเต่าเท่านั้นที่มีอยู่จริง ส่วนมังกร หงส์และกิเลน เป็นสัตว์ในเทพนิยายและลักษณะรูปทรงเกิดจากจินตนาการของมนุษย์ทั้งสิ้น

มังกร หงส์ เต่าและกิเลน สี่สัตว์มงคลของจีนที่เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์

          คัมภีร์หลี่จี้ (禮記) บันทึกไว้ว่า “麟、 鳳、 龜、 龍, 謂之四靈,麟為百獸之長,鳳為百禽之長,龜為百介之長,龍為百鱗之長” หมายความว่า กิเลน หงส์ เต่าและมังกร ได้รับสมญานามว่า สี่มงคล โดยกิเลนคือเจ้าแห่งสัตว์สี่เท้า หงส์คือเจ้าแห่งปักษา เต่าคือเจ้าแห่งสัตว์ที่มีกระดองหุ้มตัว มังกรคือเจ้าแห่งมัจฉา ต่อไปเรามาทำความรู้จักกับสัตว์มงคลแต่ละชนิดกัน

ตามหลังคาของวัดวาอารามในไต้หวัน สามารถพบเห็นรูปปั้นสัตว์มงคลได้ทั่วไป ที่เห็นบ่อยคือมังกร

สัตว์มงคลชนิดแรก คือ มังกร

                มังกรคือสัตว์ที่ชาวจีนถือว่าเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นสิริมงคลที่สุด หลายคนคงคุ้นเคยกับรูปร่างของมังกรเป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เคยมีใครพบเห็นมังกรมาก่อน ทั้งนี้เนื่องจากมังกรเป็นสัตว์ที่มนุษย์สร้างขึ้นจากจินตนาการ หรือเป็นสัตว์ในเทพนิยายเท่านั้น ตามตำนานระบุว่า มังกรมีหัวเหมือนวัว มีเขาเหมือนกวาง มีดวงตาเหมือนกุ้ง กรงเล็บเหมือนนกอินทรี ลำตัวเหมือนงู หางเหมือนสิงโต และลำตัวเต็มไปด้วยเกล็ด จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะรวมของสัตว์หลากหลายชนิด ตามความเชื่อของชาวจีน มังกรเดินบนดินได้ ว่ายอยู่ในน้ำได้ และเหาะเหินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ มีอิทธิฤทธิ์ราวกับเทพเจ้า จักรพรรดิจีนใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ และผู้คนทั่วไปมีความเชื่อว่ามังกรเป็นสัตว์มงคลที่มีคุณธรรม ความดีและพลังอำนาจ ในประเทศจีน ในไต้หวัน หรือชุมชนชาวจีนในประเทศต่างๆ เราสามารถพบเห็นรูปมังกรได้โดยทั่วไป เช่น พระราชวัง วัดวาอาราม และศาลเจ้าต่างๆ  ในการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ ชาวจีนมักจะติดรูปมังกร โคมไฟมังกร แข่งเรือมังกร หรือในการตั้งชื่อของเด็กผู้ชายก็มักจะมีคำว่า "มังกร" รวมอยู่ด้วย  มังกรได้ชื่อว่าเป็นสัตว์มงคลที่สำคัญที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสี่สัตว์มงคลมังกร อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของคนจีน ดังนั้นคนเชื้อสายจีนทั่วโลกถือกันว่าตนเองคือลูกหลานของมังกร

มังกรคือสัตว์ที่ชาวจีนถือว่าเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นสิริมงคลที่สุด

สัตว์มงคลชนิดที่ 2 คือ เต่า

          เต่าเป็นสัตว์มงคลเพียงชนิดเดียวที่มีอยู่จริงและเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนที่สุด ชาวจีนเชื่อว่าเต่าคือเจ้าแห่งสัตว์ที่มีกระดองหุ้มตัว ผู้คนไม่เพียงแต่ใช้เต่าเป็นสัญลักษณ์ของความมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและอายุยืนยาวเท่านั้น แต่ยังเชื่อกันอีกว่าเต่าเป็นผู้ที่หยั่งรู้ฟ้าดิน  ในอดีตกาล ก่อนที่จะมีการจัดพิธีกรรมบวงสรวงเซ่นไหว้ใดๆ ผู้ประกอบพิธีกรรมจะนำกระดองเต่ามาเผาไฟ จากนั้นจะดูรอยแตกบนกระดองเต่า และนำมาใช้อ้างอิงในการทำนายดวงชะตาของบ้านเมือง ผู้คนจึงขนานนามเต่าว่าเทพเจ้าเต่า หรือ神龜  เต่าเป็นสัญลักษณ์ของความยืนยาวและมั่นคง หรือความยั่งยืน ดังนั้นในสมัยโบราณพระราชวังหรือสถานที่ประทับของจักรพรรดิจีนจะต้องมีเต่าหินสลัก หรือเต่าทองแดงตั้งอยู่เสมอ

เต่าเทพแห่งโชคลาภที่ศาลเจ้าฝูเต๋อฉือ ตำบลโถวเฉิง ในเมืองอี๋หลาน

สัตว์มงคลชนิดที่ 3 คือ หงส์

          หงส์เป็นสัตว์ในเทพนิยายหรือเกิดจากจินตนาการไม่มีอยู่จริง ตามตำนานระบุว่าหงส์มีขนและหงอนที่สวยงาม ตามลำตัวของหงส์มีขนห้าสี ชาวจีนเชื่อว่าหงส์คือเจ้าแห่งปักษา  นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลความสงบสุข ในอดีตจักรพรรดิจีนจะจะใช้เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและเกียรติยศเช่นเดียวกับมังกร อาทิ มงกุฎหงส์ และรถหงส์ โดยสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับหงส์จะใช้ได้เฉพาะเชื้อพระวงศ์และเหล่าทวยเทพ แต่ต่อมาหงส์ได้กลายเป็นสัตว์มงคลสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย โดยเฉพาะประเพณีการแต่งงาน จะมีการใช้ลวดลายของหงส์บนชุดแต่งงานและเครื่องประดับบนศีรษะของเจ้าสาว เป็นสัญลักษณ์ของสิริมงคลและความสุข ลวดลายของหงส์ยังมักปรากฏอยู่ร่วมกับลวดลายของสัตว์สิริมงคลอื่น เช่น หงส์คู่กับมังกร หรือคู่กับกิเลน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสุขสมหวัง

หงส์เป็นสัตว์ในเทพนิยายหรือเกิดจากจินตนาการไม่มีอยู่จริง ชาวจีนเชื่อว่าหงส์คือเจ้าแห่งปักษา เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลและความสงบสุข

สัตว์มงคลชนิดที่ 4 คือ กิเลน

          กิเลนคือเจ้าแห่งสัตว์สี่เท้า กิเลนก็เป็นสัตว์ในเทพนิยายหรือเกิดจากจินตนาการไม่มีอยู่จริง ตามตำนานระบุว่ากิเลนมีรูปร่างเหมือนกวาง ลำตัวมีเกล็ด มีเขาเดียวอยู่บนหัว ที่เขามีก้อนเนื้อกลมๆ มีเท้าเหมือนกีบม้า มีหางเหมือนหางวัว ชาวจีนเชื่อว่ากิเลนเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมและความเมตตากรุณา จักรพรรดิจีนจะใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ในพระราชวังโบราณ (故宮) และพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน (頤和園) ที่ปักกิ่ง จะได้เห็นตัวกิเลนที่หล่อจากทองแดงและหินสลัก ในหมู่ประชาชนทั่วไป กิเลนก็ได้รับความสำคัญเช่นกัน โดยมีตำนานเกี่ยวกับกิเลนที่ชื่อว่า麒麟送子 หรือกิเลนให้ลูกชาย ผู้คนทั่วไปจึงเชื่อว่ากิเลนเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการมีลูกหรือหลานชาย รวมถึงการขอพรให้ได้ลูกชาย และให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรืองด้วย

กิเลนก็เป็นสัตว์ในเทพนิยาย เป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

          อย่างไรก็ดี นอกจากสี่สัตว์มงคลแล้ว ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่เชื่อว่านำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล อาทิ สิงโต ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็น ราชาแห่งสรรพสัตว์ (百獸之王) เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ความกล้าหาญและอำนาจ เราจึงมักเห็นหน้าประตูพระราชวัง คฤหาสน์ รวมทั้งสุสาน นิยมวางสิงโตหินแกะสลักไว้ที่หน้าประตูทางเข้าเนื่องจากเชื่อว่าสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งอัปมงคล และต้องเป็นสิงโตคู่ โดยด้านซ้ายจะเป็นสิงโตตัวผู้ สังเกตได้จากขาขวาจะเหยียบลูกแก้ว แสดงถึงพลังอำนาจ ด้านขวาจะเป็นสิงโตตัวเมียและมักจะมีลูกอยู่ในอ้อมอก เป็นสัญลักษณ์ของการนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของลูกหลาน

สิงโต ชาวจีนเชื่อว่าเป็น ราชาแห่งสรรพสัตว์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ความกล้าหาญและอำนาจ

ผู้จัดรายการ

ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง